บรรยากาศวันแรก!!! เปิดรับซองประมูลเน็ตชายขอบคึกคัก “ฐากร”ลั่นเดินตามแผน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันที่ 17 กรกฎาคม 2560 ซึ่งเป็นวันแรกของการยื่นซองประกวดราคาโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในสัญญาที่ 1 กลุ่มหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด จำนวน 1,013 หมู่บ้าน มีผู้มายื่น 3 ราย สัญญาที่ 2 กลุ่มหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด จำนวน 1,014 หมู่บ้าน มีผู้มายื่น 2 ราย สัญญาที่ 3 กลุ่มหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด จำนวน 1,085 หมู่บ้าน มีผู้มายื่น 3 ราย สัญญาที่ 4 และ สัญญาที่ 5 กลุ่มหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบภาคกลางและภาคใต้ 24 จังหวัด จำนวน 752 หมู่บ้าน และกลุ่มหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อ.จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) จำนวน 56 หมู่บ้าน มีผู้มายื่น 3 ราย

สำหรับสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ สัญญาที่ 1 มีผู้มายื่น 3 ราย สัญญาที่ 2 มีผู้มายื่น 4 ราย สัญญาที่ 3 มีผู้มายื่น 3 ราย สัญญาที่ 4 และ 5 มีผู้มายื่น 4 ราย ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปจะตรวจสอบรายชื่อและคุณสมบัติ ก่อนประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมเคาะราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ และลงนามในสัญญาได้ในเดือนสิงหาคม เริ่มเปิดให้บริการได้ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้ไม่น้อยกว่า 15% ของหมู่บ้านเป้าหมาย และจะให้บริการครบทั้ง 3,920 หมู่บ้านภายในเดือนกรกฎาคม 2561

โครงการฯ ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชายขอบจะได้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจะติดตั้งจุดกระจายสัญญาณรวม4,916 จุด รวมถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีความเร็วไม่น้อยกว่า 30 เมกะบิต โดยการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จะมีการเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไปยังหมู่บ้านเป้าหมายระยะทาง 8,500 กิโลเมตร รวมถึงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะUSO Free WiFi ประชารัฐ ให้บริการฟรี ในทุกหมู่บ้านเป้าหมาย 5,229 จุด และมีการสร้างศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (USO Net) พร้อมผู้ดูแลศูนย์แห่งละ 1 คน เปิดให้บริการฟรี 763 แห่ง โดยแต่ละศูนย์สามารถรองรับการเข้าถึงและการใช้งานของประชาชนจาก 2-4 หมู่บ้าน รวมถึงเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยังหน่วยงานของรัฐ 1,317 แห่ง ได้แก่โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ให้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตใช้ฟรีตลอด 5 ปี โดยสำนักงาน กสทช.จะสนับสนุนงบประมาณให้บริการและบำรุงรักษาต่อเนื่อง 5 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงาน ผู้มายื่นซองประกวดราคาในโครงการติดตั้งอินเทอร์เน็ตชายขอบ ส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ อาทิ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) บริษัท ทรู คอเปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image