โลกทั้งใบของผู้ไร้เสียง ถ่ายทอดเพื่อเรียนรู้ สู่ถนนการแข่งขัน ‘ธนชาต ริเริ่ม…เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย’

“การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ เป็นการใช้อวัยวะทั้ง 5 คือ หน้าผาก มือและข้อศอกทั้งสอง เข่าทั้งสอง สัมผัสกับพื้น โดยการกราบมี 3 จังหวะ คือ อัญชลี วันทนาหรือวันทา และอภิวาท”

เสียงและภาพประกอบที่ได้ฟัง ได้เห็น ทำให้คิดว่ากำลังนั่งเรียนอยู่ในคาบพระพุทธศาสนาเป็นแน่

แต่แท้จริงแล้ว นั่นคือวีดิทัศน์สาธิตการแนะนำมารยาทไทยในโอกาสต่างๆ ที่มีทั้งภาพ เสียง และภาษามือ ที่คุณครูของ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดอุดรธานี เปิดให้รับชม

“การประกวดเป็นการแสดงบทบาทสมมุติ แต่กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์เป็นท่าบังคับ จากนั้นมีเนื้อเรื่องให้แสดงบทบาทสมมุติ เช่น เนื้อเรื่องเป็นการทำบุญใส่บาตร

Advertisement

“ต้องมีตัวละครสมมุติซึ่งมีทั้งพระ พ่อ แม่ นักเรียน โดยในทีมจะมีนักเรียน 1 คน เป็นตัวละครเด่น เป็นคนกราบพระในท่าบังคับ ส่วนคนอื่นๆ เป็นตัวประกอบในการแสดง โดยแต่ละปีบทบาทสมมุติจะต่ากันไป”

เหล่านั้นคือคำบอกเล่าจาก ครูปุ๊ก-ราตรี ศรีวรกุล ครูโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดอุดรธานี กำลังพูดถึงโครงการ ธนชาต ริเริ่ม…เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย ประจำปี 2560 ที่ปีนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 46

โดยต่อยอดแนวคิด เท่…อย่างไทย ใครๆ ก็ทำได้

Advertisement

เป็นโครงการที่จัดให้มีการแข่งขันอ่านฟังเสียง ประกวดมารยาทไทย และประกวดมารยาทไทยของเยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยิน ชิงรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษา

โดยโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดอุดรธานีได้ส่งนักเรียนร่วมประกวดมารยาทไทยของเยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยิน ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อปี พ.ศ.2559 ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศจากนักเรียนระดับประถมศึกษา

ปีนี้ เหล่าครูผู้ฝึกสอนและเด็กๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขันต่างฟิตซ้อมเพื่อเตรียมคว้าถ้วยพระราชทานกลับมาให้โรงเรียนอีกครั้ง

ทำความเข้าใจ เพื่อเข้าใจ

โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดอุดรธานี เป็น 1 ใน 46 โรงเรียนเฉพาะความพิการ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ก่อตั้งมาแล้วกว่า 22 ปี เปิดทำการสอนแก่เยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยินตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีเขตพื้นที่บริการ 6 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู สกลนคร และเลย

เป็นโอกาสดีที่ได้พูดคุยกับ ครูกัลยาณี ธนาสุวรรณ รองผู้อำนวยการโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดอุดรธานี โดยว่า จุดเน้นของการบริหารงานการศึกษาพิเศษคือการให้เด็กพิการและด้อยโอกาสมีค่านิยมหลักของไทย 12 ประการ

ซึ่งครูกัลยาณียังกล่าวถึงโครงการเอกลักษณ์ไทยด้วยว่า เด็กๆ สนใจกิจกรรมนี้มาก เพราะเขาเรียนรู้ด้วยสายตาและการเป็นแบบอย่างที่ดีของรุ่นพี่ อีกทั้งต้นแบบที่ได้รับรางวัลมา ถือเป็นสิ่งที่สามารถถ่ายทอดให้กับน้องๆ ได้

“เพราะพี่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับน้อง เราเกิดการปฏิบัติจริงคือกิจกรรมหน้าเสาธงตอนเช้า หรือกิจกรรมก่อนเข้าห้องเรียน เด็กๆ จะไหว้สวยงาม มีกิริยามารยาทที่งดงาม เป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไปและผู้ที่มาเยี่ยมชมโรงเรียน”

ประกอบกับอัตลักษณ์ของโรงเรียนคือ รักษ์สิ่งแวดล้อม เพียบพร้อมมารยาทงาม ครูกัลยาณีจึงเห็นว่าการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนมีคุณลักษณะตามอัตลักษณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ

“สิ่งที่เขาจะได้กลับไปนั่นก็คือ เขาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นผู้พิการที่ไม่ด้อยค่า รู้รักษ์เอกลักษณ์ของความเป็นไทย”

และก่อนจะว่ากันเรื่องโครงการประกวดมารยาทไทยนั้น ยังมีเรื่องราวที่เชื่อได้ว่าน่าจะมีหลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคุณครูในโรงเรียนโสตศึกษา

เพราะปกติแล้วที่โรงเรียนมีทั้งครูปกติ (ครูหูดี) และครูหนูหนวก ทำการเรียนการสอนควบคู่กัน

เรื่องนี้ ครูอ๋อย-กรรณิการ์ บุญประเสริฐ ที่เป็นคุณครูหูดี ช่วยไขความกระจ่างให้ว่า สำหรับนักเรียนผู้บกพร่องทางการได้ยินนั้น ภาษาแรกที่เขาได้คือภาษามือ ส่วนภาษาที่ 2 คือภาษาไทย ดังนั้น ในห้องเรียนจึงมีทั้งครูหูหนวกกับครูหูดีสอนอยู่ทั้งคู่

ครูหูหนวกทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ เป็นภาษามือ ส่วนครูหูดีรับผิดชอบเรื่องการอ่าน การเขียน เพราะไวยากรณ์ภาษามือกับภาษาไทยไม่เหมือนกัน

“ไวยากรณ์ของภาษามือจะเหมือนภาษาอังกฤษ เวลาเด็กเขียนจะเขียนตามภาษามือ เขาจะเขียนกลับหน้าหลัง เขียนตามสไตล์มือที่เขาพูด”

เช่น ฉันกินข้าว เป็น ฉัน-ข้าว-กิน หรือ ฉันไปโรงเรียน เป็น โรงเรียน-ฉัน-ไป

ครูอ๋อยยังบอกด้วยว่า แม้จะเป็นภาษามือ แต่ภาษามือเองก็มีระดับภาษาเหมือนกัน เช่นว่า ถ้าอยู่ที่บ้าน เด็กๆ จะใช้ภาษามือธรรมชาติ ไม่มีแบบแผนเหมือนอยู่โรงเรียน เขาแบ่งระดับเหมือนภาษาพูดของคนปกติ ทั้งยังมีศัพท์สแลงเหมือนกันด้วย

และยังมีเรื่องประหลาดใจที่ครูอ๋อยเล่าพร้อมรอยยิ้มว่า เคยมีคนหูหนวกที่เป็นคนต่างชาติมาคุยกับครูหูหนวกที่โรงเรียน โดยที่ภาษามือพวกเขาแตกต่างกัน เหมือนภาษามือเขาเป็นแบบอเมริกัน เพราะสัญลักษณ์ต่างไปจากเรา

“แปลกใจที่เขาคุยกันรู้เรื่อง (หัวเราะ) ด้วยวัฒนธรรมคนหูหนวกที่อยู่กลุ่มเดียวกัน เราเลยคิดว่าภาษามือน่าจะมีความคล้ายคลึงกัน”

เตรียมพร้อม ฟอร์มทีม

กลับมาที่ครูปุ๊กที่กำลังรอคอยให้ถามถึงตัวโครงการประกวดมารยาทไทย

“ครั้งแรกไม่แน่ใจว่ามีหนังสือส่งมาหรือเปล่า เราไปโดยไม่รู้รายละเอียดมากนัก พาเด็กไปแข่งโดยไม่รู้ว่าการแข่งขันและกติกาเป็นอย่างไร”

ครูปุ๊กเล่าว่า ไปมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 3 ทางธนชาตเข้ามาคุยด้วย เพราะเห็นเราเป็นโรงเรียนคนหูหนวกโรงเรียนเดียวที่มาตลอด เป็นจุดเด่นของงาน เขาถามว่ามีโรงเรียนอื่นที่เป็นแบบนี้อีกไหม อยากจัดการแข่งขันแยกออกเฉพาะของกลุ่มหู

“ธนชาตรู้ว่าถ้าเราแข่งกับโรงเรียนปกติ เรามีจุดด้อยตรงเด็กอ่านหนังสือไม่ได้ เพราะเวลาแข่งขันต้องแยกเด็กกับครูออกจากกัน ให้เด็กอ่านและทำความเข้าใจเนื้อเรื่องที่จะแสดงบทบาทสมมุติเอง”

ถ้าให้ครูเป็นล่ามก็เสมือนเราบอกทุกอย่างกับเด็กตรงๆ ทางทีมงานจึงขอรายละเอียดและเข้าไปคุยกับโรงเรียนเฉพาะความพิการ เพื่อเตรียมจัดการแข่งขันและทูลขอถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ

ภายหลังจึงเกิด “การประกวดมารยาทไทยของเยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยิน” ขึ้น

ด้วยความที่ไม่เคยรู้กติกาล่วงหน้า วิธีการแก้ปัญหาของครูปุ๊กคือการฝึกท่าพื้นฐานให้เด็กทั้งหมด ตั้งแต่การไหว้พระ กราบพระ ไหว้ผู้ใหญ่ การเดิน นั่ง กระทั่งการรับของ

“พอถึงเวลาแข่งจริงๆ จะเห็นเลยว่าบางท่าทางเราไม่เคยฝึกให้เด็กเลย ตอนไปครั้งแรกเลยจำมาว่าจะได้โจทย์แนวนี้ เป็นการแสดงบทบาทสมมุติแบบนี้ เราเลยกลับมาจำลองสถานการณ์ให้เด็ก โดยเด็กๆ จะคิดวิธีการแสดงเองทั้งหมดเลย”

สำหรับการคัดเลือกเด็กเพื่อไปแข่งขันนั้น ครูปุ๊กบอกว่าสิ่งแรกเลยคือต้องดูจากภายนอก ดูว่าเด็กคนไหนมีแววและน่าจะสอนง่าย รวมทั้งต้องดูที่ความสนใจของตัวเด็กด้วย ซึ่งเด็กบางคนเสนอตัวมาเองก็มี ในส่วนนี้เองที่ครูอ๋อยได้ช่วยเสริมว่า การฝึกมารยาท เด็กต้องมีความอดทน เพราะไม่เหมือนการซ้อมกีฬาที่สนุกสนาน งานนี้มีความละเอียด เราต้องเลือกเด็กที่มีทั้งแววและไหวพริบดี

“ถ้าเด็กฉลาดหน่อย เขาเห็นสถานการณ์แล้วสามารถพลิกแพลงได้เลย ไม่ใช่ว่าจะเหมือนโจทย์ที่เราซ้อมให้ ตอนแข่งจริงๆ โจทย์ต้องเปลี่ยน เขาต้องมีไหวพริบตรงนี้ด้วย”

ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อผู้อื่น

ใน 1 ทีมแข่งขันประกอบด้วยเด็กนักเรียน 4 คน จะเป็นชายหรือหญิงอย่างละกี่คนก็ได้

ครูปุ๊กบอกว่า ช่วงแรกที่เด็กๆ รู้ข่าว ต่างพากันมาคัดตัว แต่ฝึกๆ ไปบางคนล้มเลิกกลางคัน ครูปุ๊กบอกว่าไม่เป็นไร เพราะมีตัวเลือกทั้ง 4 คนอยู่ในใจเรียบร้อยแล้ว

“เราฝึกซ้อมหลังเลิกเรียนทุกวัน ถ้าวันเสาร์-อาทิตย์ไม่ติดอะไรก็นัดมาซ้อม เด็กมาครบบ้างไม่ครบบ้างก็ไม่เป็นไร เราซ้อมไปเรื่อยๆ เพราะอยากปลูกฝังเขาในเรื่องนี้ อยากให้เด็กทำได้ แต่เขาอาจทำไม่ถูก เราต้องสอนให้เขาทำจนถูกให้ได้”

ถามว่าคุณครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้เด็กๆ แล้วใครกันที่ถ่ายทอดความรู้ให้คุณครู?

เรื่องนี้ครูปุ๊กเฉลยว่า ทางธนชาตจัดหาวีดิทัศน์การแนะนำมารยาทไทยในโอกาสต่างๆ ให้ครูได้ศึกษาก่อน อีกทั้งตัววีดิทัศน์เองยังมีภาษามือประกอบด้วย ทำให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้เอง ส่วนตอนประกวดแข่งขันนั้น หากเด็กๆ ผิดพลาดในขั้นตอนไหน ทางกรรมการจะคอมเมนต์ติชม บอกจุดเด่นและจุดด้อยของเด็ก พร้อมให้คำแนะนำสำหรับการปรับปรุงในครั้งต่อไป

ในวันเดียวกัน ยังมีโอกาสได้พบปะกับ นันทศร ชาวดร หรือ กระรอก อายุ 18 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผู้บกพร่องทางการได้ยิน ควบตำแหน่งประธานนักเรียนและเป็นสมาชิกในทีมประกวดมารยาทไทยของเยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยินที่คว้ารางวัลชนะเลิศเมื่อปี พ.ศ.2558

ซึ่งการสื่อสารครั้งนี้มี ครูหมี-รัศศิญา เหล็กกล้า เป็นล่ามภาษามือให้ความช่วยเหลือ

กระรอกเล่าถึงความสนใจเข้าร่วมโครงการว่า มีความสนใจด้วยตัวเอง เพราะฝึกมารยาทมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ในห้องเรียน แต่ไม่ได้เข้มข้นมาก จนเมื่อปี พ.ศ.2558 ที่มีโครงการธนชาต ริเริ่ม…เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย คุณครูมาถามว่าสนใจไหม เลยตอบตกลงเข้าร่วม

ได้ถามผ่านครูหมีว่า กระรอกใช้เวลาในการฝึกซ้อมก่อนเข้าแข่งขันอยู่นานเท่าใด ทั้งครูและเด็กต่างส่งภาษามือให้กัน พร้อมกับคำตอบของกระรอกคือใช้เวลาฝึกซ้อมไม่นานมากนัก เพราะครูใส่พื้นฐานไว้ตั้งแต่เด็กแล้ว ตอนฝึกเพื่อเข้าแข่งขันเพียงแค่เพิ่มทักษะและกระบวนการที่ถูกต้องเข้าไปเท่านั้น

อีกทั้งปีนี้กระรอกผันตัวมาเป็นพี่เลี้ยง ช่วยเหล่าคุณครูถ่ายทอดความรู้แก่น้องๆ ที่เข้าร่วมแข่งขัน

“ตอนไปแข่งเอง ตั้งใจฝึกอย่างเดียวให้ชำนาญ ถูกต้อง ตอนนี้ที่มาฝึกให้น้องๆ ไม่ใช่เพื่อฝึกให้ตัวเองเก่ง แต่จะทำยังไงก็ได้ ทำให้น้องจำได้ มันให้ความรู้สึกต่างกัน

“มีความยากมากกว่าการฝึกเอง เพราะต้องให้น้องๆ จำได้ ตอนที่ฝึกเองคือจำเอง แต่ตอนนี้ให้คนอื่นจำ เป็นความยากยิ่งกว่า”

ปลูกความรัก ฝังความห่วงใย ลง ‘ใจ’ พี่น้อง

ครูหมีเล่าผ่านภาษามือว่า กระรอกเองเริ่มแข่งประกวดมารยาทไทยกับธนชาตตอนอยู่ ม.4 แถมยังได้รางวัลชนะเลิศกลับมาในครั้งนั้นเลย พร้อมให้กระรอกเล่าถึงความภูมิใจ

“ภาคภูมิใจมากที่ได้รับรางวัล อยากถ่ายทอดสิ่งนี้ไปสู่น้องๆ เหมือนที่ตัวเองได้ปฏิบัติมา โครงการนี้มีประโยชน์มาก ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วัฒนธรรม สิ่งที่ถูกต้องดีงาม เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

“คุณพ่อที่เป็นคนหูหนวก กับคุณแม่ที่ปกติ พอรู้ว่าลูกได้รางวัลก็ดีใจ และยังปลาบปลื้มใจไปพร้อมๆ กันที่ตัวเองได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อรับพระราชทานถ้วยชิงชนะเลิศ”

เช่นเดียวกับครูปุ๊กที่อยากบอกเล่าความประทับใจที่ได้จากโครงการประกวดมารยาทครั้งนี้

“เราสอนเด็กเรื่องมารยาท แต่บางทีเราไม่รู้ความถูกต้อง ความเป็นครูทำให้เราต้องรู้ก่อนเด็ก เหมือนเป็นการฝึกไปในตัว

“เด็กหูหนวกจะดูแบบอย่างจากครู ใช้สายตาในการมอง เราต้องเป็นแบบในทุกเรื่องทุกอย่าง ปลูกฝังให้เขาว่าเขาเป็นตัวแทนโรงเรียนนะ ส่วนจะได้หรือไม่ได้รางวัลไม่เป็นไร ทำให้เต็มที่ นำสิ่งที่ได้รับมาปลูกฝังให้รุ่นน้องต่อ”

เราสอนให้เด็กรักกัน ให้พี่รักน้อง ให้น้องรักพี่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image