สำรวจสถานที่ก่อสร้างทางขึ้นลง “สะพานคนเดินท่าพระจันทร์-วังหลัง” ท่ามกลางมรสุมวิพากษ์

สืบเนื่องจากการเปิดเผยรูปแบบล่าสุดของสะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าพระจันทร์-ศิริราช เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ในงานประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 ณ ห้องประชุมนันทอุทยาน กองทัพเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โดยมีลักษณะเป็นสะพาน 2 ชั้น ความสูงระหว่างระหว่างชั้น 4 เมตร ตัวสะพานกว้าง 9 เมตรทอดยาวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมฝั่งพระนครและธนบุรี บริเวณท่าพระจันทร์ และรพ.ศิริราช หรือวังหลัง ชั้นบนมีพื้นที่โล่ง ชั้นล่างมีทั้งส่วนที่มีหลังคาและส่วนพื้นที่กลางแจ้ง สามารถเดินชมวิว เปิดมุมมองถ่ายภาพ เป็นแหล่งพักผ่อน และท่องเที่ยว ลายประดับเป็นรูปหยดน้ำ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาลวดลายให้มีคุณค่ามากขึ้น
สะพานดังกล่าว จะมีลิฟต์ บันไดเลื่อน และรถกอล์ฟให้บริการผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางเข้าสู่ รพ.ศิริราช  ออกแบบโดย นายตรีนิติ บุญกิจการ ใช้งบประมาณเฉพาะค่าก่อสร้าง 1,710 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อรูปแบบสะพานเปิดเผยออกมา ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ทั้งในงานสถานที่ตั้ง รูปแบบสะพาน รวมถึงความคุ้มค่าและผลกระทบในด้านต่างๆ

“มติชนออนไลน์” ได้ลงพื้นที่สำรวจสถานที่ซึ่งคาดว่าจะเป็นบริเวณก่อสร้างสะพานทั้ง 2 ฝั่ง โดยอ้างอิงตามแบบที่ปรากฏใน”เอกสารประกอบการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 (ทบทวนรูปแบบโครงการ)” ซึ่งจัดทำโดยบริษัทเอกชน 4 แห่ง รวมถึงข้อมูลจากการนำเสนอภายห้องประชุมโดยสถาปนิกผู้ออกแบบ

สำหรับทางขึ้น-ลงฝั่งท่าพระจันทร์ คือ ฝั่งพระนคร อยู่บริเวณข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ “ลานคนเมืองท่าพระจันทร์” ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จัดสร้างเมื่อวันที่  5 เมษายน พ.ศ.2542 มีลักษณะเป็นลานโล่ง ขนาบด้วยอาคารพาณิชย์ ธนาคาร และตึกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือข้ามฟากท่าพระจันทร์ และถนนพระจันทร์ ซึ่งเป็นถนน 2 ช่องจราจรที่มุ่งสู่ถนนหน้าพระธาตุ ติดกับท้องสนามหลวง

ทั้งนี้ จะมีการสร้างตอม่อห่างจากริมฝั่งท่าพระจันทร์ 75 เมตร ซึ่งนายอิสรพน เปรมกมล ผู้จัดการสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ แสดงความเห็นในที่ประชุมว่า แม้ตนจะเห็นด้วยกับการสร้างสะพาน แต่กังวลอย่างยิ่งในเรื่องอุบัติเหตุ เนื่องจากที่ผ่านมาเวลากระแสน้ำแรงๆ เคยมีเหตุฟาดตอม่อสะพานพระปิ่นเกล้าหลายครั้ง รวมถึงบริเวณท่าน้ำศิริราช ในเมื่อจะมีการสร้างสะพานใกล้กัน จึงห่วงว่าอาจมีอุบัติเหตุที่กลายเป็นโศกนาฏกรรม เพราะการบังคับเรือเข้าโค้งเป็นเรื่องยาก ถ้าเป็นไปได้อยากให้สร้างสะพานที่ไม่ต้องมีตอม่อ
นอกจากนี้ รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ระบุว่า เมื่อพิจารณาจากแบบ พบว่าลานคนเมืองท่าพระจันทร์จะหายไป ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะบริเวณดังกล่าวถือเป็น ‘โอเพ่นสเปซ’ ของเมือง เป็นลานที่สามารถใช้ทำกิจกรรมต่างๆของคนในเมือง

Advertisement

ส่วนทางขึ้น-ลงฝั่งโรงพยาบาลศิริราช หรือวังหลัง คือฝั่งธนบุรีนั้น จากข้อมูลที่นำเสนอในการประชุม มีจุดเชื่อมสะพานอยู่ระหว่างโรงพยาบาลศิริราช และอาคารด้านข้างท่าเรือข้ามฟากวังหลัง หากมองจากฝั่งพระนครจะอยู่กึ่งกลางระหว่างอาคารคณะพยาบาลศาสตร์ และอาคารฝั่งซ้ายมือซึ่งปัจจุบันเป็นร้านจำหน่ายอาหาร

สำหรับเสียงของชาวฝั่งธนฯ นายบัญชา เทียนศิริ ประธานชุมชนวังหลัง เขตบางกอกน้อย บอกว่า เห็นด้วย พร้อมยืนยันว่าชาวบ้าน 38 ชุมชนสนับสนุนเต็มที่ เพราะโครงการนี้ถือเป็นการทำประชาพิจารณ์สำเร็จเป็นครั้งแรกของกทม. เนื่องจากชาวบ้านได้มีส่วนร่วม โดยเคยออกโรงคัดค้านรูปแบบสะพานเดิมที่มีชั้นเดียว เพราะห่วงเรื่องความร้อนและพายุฝน เมื่อมีการปรับแบบจนถูกใจ ก็รอวันที่จะได้เห็นสะพานดังกล่าวเมื่อเสร็จสมบูรณ์

ทั้งนี้ บรรยากาศของพื้นที่ทั้ง 2 จุดในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากสัญจรข้ามฝั่งระหว่างธนบุรีและพระนครโดยเรือข้ามฟากเป็นประจำทุกวัน ประกอบด้วยร้านขายสินค้าและร้านอาหาร โดยเฉพาะฝั่งวังหลัง ซึ่งมีตลาดที่คึกคักอย่างยิ่ง โดยในการประชุมครั้งล่าสุด นางสาว นวรัตน์ เกี้ยวมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม มีความเห็นว่า ต้องมีการเยียวยาร้านค้าที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างสะพาน

Advertisement

อนึ่ง มีการยืนยันว่า แม้จะมีการสร้างสะพาน แต่ท่าเรือจะยังคงมีอยู่ และยังอยู่ในตำแหน่งเดิมเมื่อสะพานแล้วเสร็จสมบูรณ์

สำหรับความเหมาะสมในด้านสถานที่ตั้งนั้น นายอัชชพล ดุสิตนานนนท์ ประธานสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยส่งจดหมายถึงผอ.สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปลายปี 2559 ขอให้ทบทวน โดยขอให้ศึกษาความเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งสาธารณะ

ต่อไปนี้คือภาพในปัจจุบันของบริเวณที่คาดว่าจะมีการก่อสร้างทางขึ้นลงสะพานในฝั่งท่าพระจันทร์ และฝั่งโรงพยาบาลศิริราช หรือวังหลัง ซึ่งทั้ง 2 ฝั่ง ไม่ต้องเวนคืน เนื่องจากเป็นพื้นที่ของส่วนราชการ

ฝั่งท่าพระจันทร์

ฝั่งวังหลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image