นิด้าโพลเผยคนไทย68% อายุ25ปีมีหนี้เพื่อกินเพื่อใช้แยะกว่าลงทุน

ที่โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยท์ สุขุมวิท เทอมินอล 21 นางณัฐฐา วินิจนัยภาค ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจนิด้าโพลร่วมกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ที่สำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของประชาชนครึ่งแรกปี2560 จากประชาชน 2,000 คนทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนมีรายได้เฉลี่ย 26,469 บาทต่อเดือน ส่วนรายจ่ายเฉลี่ย 21,606 บาทต่อเดือน โดยส่วนใหญ่ 45.15% มีรายได้พอกับรายจ่าย อีก21.85% มีรายได้มากกว่ารายจ่าย และกว่า 31.50% มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ส่วนประชาชน 51.65% ระบุมีเงินออม และเก็บออมเพื่อใช้กรณีฉุกเฉิน 48.79% เช่น รักษาพยาบาล เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ส่วน 38.33% ออมเงินสำรองไว้ในอนาคต ออมสำหรับเป็นทุนการศึกษาบุตรหลาน 12.58% ขณะที่ออมใช้ในช่วงหลังเกษียณอยู่ในระดับต่ำเพียง12.58%

ด้านหนี้สิน พบว่า ทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษาและทุกอาชีพ ระบุ มีหนี้สิน โดยอายุ 25 ปีขึ้นไป กลุ่มนี้ระบุมีหนี้ 68.10% โดยรวมเฉลี่ย 565,302 บาทและ สัดส่วน 59.47% เกิดจากการซื้อ/ผ่อน/ชำระสินค้า การบริการและสินค้าอุปโภคบริโภค รองลงมา 35.46%ลงทุนในการประกอบอาชีพธุรกิจ เกษตรและค้าขาย ส่วนหนี้สินจากการเลี้ยงดูบุตรหลานและครอบครัว สัดส่วนรวม 18.06% และ 6.17% เพื่อสร้างและปรับปรุงที่อยู่อาศัย ด้านการบริหารจัดการหนี้สิน 61.01% ระบุจะชำระยอดค้างให้ตรงเวลา อีก 19.46% ไม่สร้างหนี้เพิ่มเติม ส่วน 14.17% ลดค่าใช้จ่าย สัดส่วน 13.29% ต้องหารายได้เพิ่ม จากอาชีพเสริม หารายได้พิเศษ และทำงานล่วงเวลา เลือกแบ่งจ่ายน้อยแต่จำนวนครั้งมาก โดยคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการชำระหนี้อยู่ที่ 7.72 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ถือว่าอยู่ในระดับสูง ขณะที่ไม่มีหนี้สิน31.85% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพ่อบ้าน แม่บ้าน และคนเกษียณอายุการทำงาน

นางณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ระดับ 80% ต่อจีดีพี ถือใกล้เคียงบางประเภท เช่น เกาหลีใต้อยู่มี 85% มาเลเซีย 87% ต่ำกว่าออสเตรเลียอยู่ที่ 119% แต่สูงกว่าสิงคโปร์อยู่ที่ 60% และฮ่องกงอยู่ที่ 62% สิ่งที่น่ากังวล คือ หนี้ครัวเรือนคนไทย เป็นการกู้เพื่อการบริโภค ขณะที่ประเทศอื่นส่วนใหญ่เป็นหนี้อสังหาริมทรัพย์และการลงทุนในธุรกิจ ทำให้มีความสามารถการหารายได้จ่ายหนี้ได้ ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนที่สูงในภาวะสังคมไทยกำลังสู่สังคมสูงอายุ ถ้ายังก่อหนี้สินสูงต่อเนื่อง จะส่งผลต่อความยั่งยืนเศรษฐกิจ จากแรงงานที่ลดลง และเมื่อมีหนี้สินสูงจะส่งผลต่อการบริโภค ซึ่งการบริโภคถือเป็นเครื่องจักรหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image