‘สุรเกียรติ์’ชี้โลกใหม่เทคโนฯนำ ศก.การเมือง แนะดูแลคนไทยอย่าตกขบวนรถไฟนวัตกรรมหนุน ม.44 ยกเครื่องการศึกษา (ชมคลิป)

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการจัดบรรยายพิเศษหัวข้อ “ความเปลี่ยนแปลงในภูมิสถาปัตย์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรนักบริหารการทูต (นบท.) รุ่นที่ 9 โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เป็นวิทยากร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากหลากหลายหน่วยงาน รวมถึงผู้สนใจเข้าร่วมฟังจำนวนมากจนเต็มห้องประชุม

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิสถาปัตย์ทางการเมืองและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ได้แก่ แนวโน้มใหญ่ของโลก สถานการณ์โลก พัฒนาการของค่านิยมในระดับระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์มหาอำนาจ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทยอยูในสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกประเทศของเอเชีย ปัญหาคือ กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงอื่นๆ ได้พูดกันหรือไม่ว่าในต่างประเทศมีการดำเนินการในประเด็นนี้อย่างไร ควรให้มีการเกษียณอายุเมื่ออายุเกิน 60 ปีหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นต้องฝึกอบรมผู้สูงอายุอย่างไรในการทำงาน

กรณีประเทศสิงคโปร์มีแก้ปัญหาแบบประเทศที่มีรายได้สูง กล่าวคือ ให้ผู้สูงวัยศึกษาเทคโนโลยี ทำความเข้าใจเรื่อง ‘ปัญญาประดิษฐ์’ และให้เงิน 500 เหรียญทันที แต่ไทยไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะไม่ใช่ประเทศร่ำรวย

Advertisement

สิ่งที่เกิดขึ้นในภาคเอกชนคือ ต้นทุนด้านสุขภาพสูงขึ้น กิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพทั้งกายและใจเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ รีสอร์ตบางแห่งมีการสอนเดินจงกรม นั่งสมาธิ นอกจากนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความสนใจเรื่องสุขภาพ ผักปลอดสารพิษ อาหารที่ปลอดภัย น้ำแร่ ทุกเพศทุกวัยดูแลผิวพรรณ แม้แต่ผู้ชายก็ใช้เครื่องชะลอวัย ผลวิจัยล่าสุดพบว่าในขณะที่เศรษฐกิจเริ่มไม่ดี แต่ยอดขายเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ตก ตลาดที่ใหญ่ขึ้นมาจากผู้สูงวัย ดังนั้นเรื่องนี้จึงทวีความสำคัญมากขึ้นทุกที

จากนั้นศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์กล่าวถึงประเด็นการเติบโตของชนชั้นกลางและความเป็นเมือง ซึ่งในทุกวันนี้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป ชนชั้นกลางเรียกร้องสิทธิมากขึ้น การเชื่อมโยงข้ามประเทศก็มีมากขึ้น ความเป็นสังคมบริโภคนิยมเกิดขึ้น ปัจจุบันอยู่ในยุคนวัตกรรม ในไตรมาสแรกของปี 2560 มีคน 1,936 ล้านคนทั่วโลกใช้เฟซบุ๊ก

“สิ่งที่พูดกันบ่อยคือ ไทยจะออกจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับกลางได้ จะต้องมีนวัตกรรม ตอนนี้เราเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 แล้ว ครั้งที่ 1 คือ สินค้าเกษตร ครั้งที่ 2 คือ อุตสาหกรรมแปรรูป การส่งออกและรถไฟ ครั้งที่ 3 คือ คอมพิวเตอร์ ครั้งที่ 4 คือ อินเตอร์เน็ต

Advertisement

เรากำลังเข้าสู่ยุคบริการยุคใหม่เร็วเกินไป หลายอย่างไม่จำเป็น อะไรที่เกิดในอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้มาถึงเราทันที ญี่ปุ่นคิดค้นหุ่นยนต์ดูแลคนแก่ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ กายภาพบำบัด ซึ่งกำลังเข้ามาถึงไทย ในขณะที่เรามีนักกายภาพบำบัดซึ่งไม่ได้มีค่าแรงแพงจนต้องใช้หุ่นยนต์ มีบริษัทที่ว่าจ้างให้สร้างหุ่นยนต์พูดได้ 6 ภาษาเพื่อขายของที่สนามบินสุวรรณภูมิ นี่คือยุคนวัตกรรม เรากำลังก้าวสู่ยุคบริการยุคใหม่ซึ่งเราอาจยังไม่ต้องการขนาดนี้ แต่ถ้าตามไม่ทันก็ถูกทอดทิ้ง และคนที่ถูกทิ้งก็คือคนมีการศึกษา ซึ่งการกระจายรายได้จะมีปัญหา”

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์กล่าวต่อว่า การศึกษาไทยมีปัญหา คนเรียนจบอุดมศึกษาไม่มีงานทำ เนื่องจากก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงภูมิสถาปัตย์ และการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวนำ บัณฑิตหลายคนเรียนจบมาเป็นยาม ขายของในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงใยอย่างยิ่ง การศึกษาไทยจะปรับตัวให้ทันได้อย่างไร แต่ละกระทรวงหรือหน่วยงานมีการบูรณาการกันหรือไม่ว่าจะร่วมมืออย่างไร เพื่อดูแลคนไทยไม่ให้ตกขบวนรถไฟนวัตกรรม ขณะนี้เราอยู่ในโลกใหม่ซึ่งภูมิสถาปัตย์ทางเศรษฐกิจการเมืองนำโดยเทคโนโลยี ไม่ใช่ผู้นำ

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์กล่าวด้วยว่า ตนไม่เชื่อว่ารัฐบาลเลือกตั้งจะสามารถจัดเรื่องปฏิรูปการศึกษาได้ เพราะเป็นเรื่องยาก ส่วนตัวแล้วตนอยากเห็นมาตรา 44 ยกเครื่องระบบการศึกษา ปฏิรูปกระทรวง ทบวงกรม และระบบราชการ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศควรอธิบายเกี่ยวกับการจัดการการศึกษาในประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เยอรมนี และอื่นๆ

จากนั้นเป็นการกล่าวในประเด็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ในปัจจุบัน โดยเกิดระบบการเงินและธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย มีความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่สู่การเป็นพหุภาคี เป็นต้น สำหรับปัจจัยเศรษฐกิจในอเมริกาที่เริ่มผ่อนคลายและปัญหายูโรโซนดีขึ้น แต่ยังไม่ดีพอที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น กล่าวคือ ไม่ใช่ลักษณะที่จะซื้อสินค้าจากไทย สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงมีเรื่องการเมือง และความมั่นคง ที่ใกล้ตัวที่สุดคือเรื่องคาบสมุทรเกาหลีซึ่งสหรัฐวางไพ่หลายสำรับ เชื่อว่าจีนและสหรัฐมีข้อตกลงเป็นพิเศษเรื่องเกาหลีเหนือ

“ยุคโอบามาจำกัดบทบาทของจีน แต่จีนทำอะไร ก็ทำด้วย สำหรับญี่ปุ่นยังใกล้ชิดกับอเมริกา ส่วนอินเดียเชื่อมเอเชียกลาง ร่วมมือกับหลายประเทศตั้งระเบียงอิสลาม สำหรับไทย สิ่งทีต้องการคือการมีสมดุลของอิทธิพลประเทศมหาอำนาจ เมื่อขณะนี้เรามีข้อจำกัดกับอเมริกา คงต้องเสริมบทบาทอินเดียเข้ามา”
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์ของจีนซึ่งอเมริกาเรียกว่า “ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก” โดยมีการสร้างเมืองท่าที่โคลัมโบ และจุดอื่นๆ เป็นสร้อยไข่มุกคล้องเอเชียทั้งหมด นอกจากนี้จีนยังตั้งสมาคมความร่วมมือทางการเงินแห่งเอเชีย สิ่งที่กำลังเกิดเป็นดอกเห็ดคือความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค มีความร่วมมือระหว่างประเทศในลุ่มอิระวดี เจ้าพระยา และแม่โขง สมาชิกได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการบรรยาย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ได้นำเสนอข้อมูลจากโพลสำรวจซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยรู้เรื่องอาเซียนน้อยมาก ขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้าน โดยทราบเรื่องการก่อตั้งแค่ราว 27 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นลำดับท้ายๆ ของประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่วนเรื่อง 3 เสาหลัก คนไทยรู้ข้อมูลเพียง 59 เปอร์เซ็นต์ทั้งที่มีการจัดประชุมอยู่ตลอด สำหรับสิ่งท้าทายของอาเซียนคือ ‘ความรู้สึกเป็นเจ้าของ’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image