คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : รถไฟลาว-จีนเร่งสร้าง ไทย-จีนยังไม่ถึงไหน

ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการรถไฟลาว-จีน สร้างความแปลกใจและตื่นตัวให้กับผู้ติดตามข่าวสารการขนส่งคมนาคมอย่างมาก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ท่านลัดตะนะมะนี คูนมีวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ได้เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดของโครงการรถไฟฟ้าลาว-จีน กว่าได้สำเร็จลุล่วงไปกว่า 24% แล้วเร็วกว่ากำหนดอย่างไม่น่าเชื่อ

โดยเส้นทางรถไฟฟ้าลาว-จีน ได้มีการตั้งค่ายก่อสร้างแบบสมบูรณ์แล้วกว่า 100 แห่ง ตั้งโรงงานปูนซีเมนต์และเหล็กกล้าในบริเวณสถานที่ก่อสร้างในทุกช่วง เจาะอุโมงค์ 48 อุโมงค์ ยาว 3,500 เมตร สร้างทางรถไฟยาว 450 กิโลเมตร ลากสายไฟฟ้าเข้าในโครงการได้มากกว่า 300 กิโลเมตร

แม้แต่ในฤดูฝนที่การก่อสร้างต้องชะลอลงเพราะสภาพอากาศ ผู้รับเหมาก่อสร้างก็ได้เปลี่ยนไปเน้นงานขุดเจาะอุโมงค์ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนเป็นหลัก เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างให้เร็วที่สุด

ด้วยการตั้งเข็มมุ่งร่วมของทางรัฐบาลจีนและรัฐบาลลาว เน้นให้โครงการนี้เป็นโครงการที่มีความสำคัญสูงสุด จึงเร่งให้ทุกแขนงหน่วยงานและภาคส่วน ปฏิบัติเอาใจใส่ส่งเสริมงานก่อสร้างและดำเนินการอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ทางการลาวมิได้ตรากฎหมายพิเศษเพื่อยกเว้นระเบียบเดิม หากแต่ใช้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและท้องถิ่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างแทน

Advertisement

เมื่อหันกลับมามองโครงการรถไฟไทย-จีน ที่ล่าสุดการประชุมร่วมครั้งที่ 18 ก็ยังไม่สามารถตกลงรายละเอียดได้ทั้งในด้านการก่อสร้างและการเงิน มีแนวโน้มต้องการแหล่งเงินทุนใหม่ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องหาแนวทางระดมทุน และผู้ก่อสร้างที่อาจจะให้กรมทางหลวงของไทยเข้าร่วมก่อสร้าง

ยิ่งชวนให้สงสัยว่าความแน่นอนและอนาคตของโครงการนี้อยู่ที่ใด และจะมีความเชื่อมั่นในการดำเนินการเพียงแค่ไหน แม้ว่าคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติตามมาตรา 44 จะสั่งการให้ต้องทำสัญญาภายใน 120 วัน แต่จนบัดนี้ เวลาก็ได้ล่วงเลยมากว่า 30 วันแล้วโดยไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น และไม่มีข้อมูลรายละเอียดใดเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนให้รับรู้

ตามแผนการก่อสร้างเท่าที่เปิดเผยออกมาในเว็บไซต์ของโครงการ โครงการรถไฟไทย-จีนจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนกรกฎาคม 2017 แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้เริ่มต้น และจากการเจรจาล่าสุดก็ได้ขยายกรอบความร่วมมือก่อสร้างไปเป็นเดือนธันวาคม 2017 และยังมีความคลุมเครือสูง โดยเมื่อตรวจสอบกับทางฝ่ายจีน ก็ไม่ได้มีการแถลงข่าวหรือประสานงานความคืบหน้าใดเพิ่มเติมว่าจะให้บริษัทใดเป็นผู้รับเหมางานก่อสร้าง

Advertisement

อย่างไรก็ตามจากแนวทางของลาว และประเทศอื่นๆ ที่ใช้บริการก่อสร้างรถไฟของจีน บริษัทที่รับเหมางานก่อสร้างจะเป็นบริษัทไชนาเรลเวย์ โดยนำวัสดุก่อสร้างและแรงงานส่วนใหญ่มาจากจีนโดยตรงเพื่อลดต้นทุนการก่อสร้างและลดระยะเวลา เนื่องจากทั้งแรงงานและเครื่องจักรคุ้นชินกับการก่อสร้างรถไฟอยู่แล้ว

แต่ในกรณีของไทย การก่อสร้างรถไฟเป็นความหวังของภาคธุรกิจวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างอย่างยิ่ง หากบริษัทไชนาเรลเวย์กระทำการเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดความขัดแย้งกับผู้รับเหมาและบริษัทไทยรุนแรง

ปัจจัยต่างๆ ของการก่อสร้างรถไฟจีนในไทยจึงมีข้อขัดแย้งและจุดที่ต้องแก้ไขมากมาย หากรัฐบาลประสงค์ให้โครงการนี้สำเร็จอย่างแท้จริง ต้องเอาใจใส่เร่งรัดอย่างจริงจังและจริงใจ ไม่ใช่แค่ออกกฎหมายแล้วรอให้ช้าราชการหรือการรถไฟทำตามเท่านั้น

โครงการรถไฟความเร็วสูงสายอีสานจะมีประโยชน์อย่างมากเมื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟลาว-จีนได้ในระบบและขนาดรางเดียวกัน แต่ต้องคิดให้รอบด้านและวางแผนให้ดี เพื่อให้การเชื่อมต่อสำเร็จ สร้างความเจริญตลอดสองข้างทางจากกรุงเทพมหานครไปถึงนครหลวงเวียงจันทน์ และต่อเชื่อมยาวไปถึงนครคุนหมิง อาจถึงกรุงปักกิ่ง และยุโรปได้บนรถไฟสายเดียวในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image