ปฏิบัติการดูแลโลก ฉบับ ‘จิรพล สินธุนาวา’ ที่ทุกคนก็ทำได้

ถบรรทุกคันใหญ่ขนจักรยานคันน้อย 64 คัน ค่อยๆ เคลื่อนที่ออกจากวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ มุ่งหน้า จ.ลพบุรี จุดหมายปลายทางคือ โรงเรียนในพื้นที่ไกลโพ้น

จักรยานทั้งหมดมาจากญาติพี่น้องและกลุ่มเพื่อนฝูงของ ผศ.ดร.จิรพล สินธุนาวา นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และอดีตอาจารย์สอนวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นำมาแสดงความอาลัยและแสดงมุทิตาจิตในรูปของพวงหรีดแทนดอกไม้สด ในงานสวดพระอภิธรรมศพของ นางอุดมศรี สินธุนาวา ผู้เป็นมารดาของ อ.จิรพล


“เมื่อเสร็จงาน เราก็นำจักรยานไปให้นักเรียนที่บ้านอยู่ไกลโรงเรียนและต้องเดินเท้ามาเรียนหนังสือวันละหลายๆ กิโล” อ.จิรพลบอก และไม่ใช่ว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ทำไปเพราะความเมตตาต่อนักเรียนเพียงอย่างเดียว..

ในแวดวงของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลายๆ คนต่างรู้จักชื่อของ “จิรพล สินธุนาวา”

Advertisement
จิรพล สินธุนาวา

อ.จิรพลเล่าถึงที่มาที่ไปของจักรยานที่เพิ่งถูกขนออกจากวัดไปให้เด็กๆ ที่ จ.ลพบุรี ว่า ก่อนหน้านี้ที่คุณพ่อของตนได้เสียชีวิตลง ตอนนั้นได้คุยกับแม่และพี่น้องว่างานศพพ่อนั้นไม่ควรจะสร้างปัญหาให้วัดโดยการสร้างขยะ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากดอกไม้และโฟม แต่ควรจะทำประโยชน์แบบอื่นดีกว่า คำตอบมาอยู่ที่รถจักรยาน เพราะจักรยานไม่ใช่ยานพาหนะที่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนพาหนะชนิดอื่น คาร์บอนไดออกไซด์ คือ 1 ในก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน

ปรากฏว่า เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องต่างให้ความร่วมมือ นำจักรยานมาร่วมแสดงมุทิตาจิตในงานศพของบิดา อ.จิรพล จำนวนมาก

“ต่อมาคุณแม่ของผมเสียชีวิตลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผมและคุณแม่ได้คุยกันมาตลอดเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องสถานการณ์โลกร้อน จึงเห็นว่าเราจะต้องสานต่อเรื่องนี้ จึงบอกกับเพื่อนฝูง ญาติๆ ว่า หากจะเดินทางมาร่วมงานศพ ขอเปลี่ยนจากพวงหรีดหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นรถจักรยาน เพื่อว่าเมื่อเสร็จจากงานแล้วก็จะนำไปให้นักเรียนโรงเรียนห่างไกลยืมใช้ หากท่านใดไม่สะดวกที่จะหารถจักรยานทางเจ้าภาพก็จะจัดหามาให้ โดยพวงหรีดทั่วไปราคาอยู่ที่ 1,000-2,000 บาท แต่จักรยานราคาคันละ 1,500 บาท เป็นจักรยานล้ออะลูมิเนียม ไม่เป็นสนิม เพราะหากล้อเป็นเหล็ก ใช้งานไปไม่เกิน 3 ปี ก็จะเป็นสนิม อาจจะต้องเปลี่ยนล้อใหม่ ซึ่งตั้งใจว่าจะนำไปมอบให้นักเรียนโรงเรียนใน จ.ลพบุรี เพราะก่อนหน้านี้ไปทำงานในจังหวัดดังกล่าว พบว่าหลายๆ โรงเรียน นักเรียนต้องเดินทางเท้าเปล่าจากบ้านมาเรียนไกลมาก” อ.จิรพลกล่าว

อย่างที่บอกแต่ตอนต้นว่า สิ่งที่เขากระทำนั้น ไม่ใช่แค่ได้เป็นเพียงผู้ให้สำหรับเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสในชนบทเท่านั้น แต่เป็นการยืนยันให้ทุกคนเห็นว่า สิ่งที่เขาพร่ำบอกกับทุกคนมาเกือบตลอดชีวิตการทำงานว่า โลกกำลังจะวิกฤต ขยะกำลังล้นเมือง อุณหภูมิของโลกขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกแผ่วงกว้างเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ มหันตภัยด้านสิ่งแวดล้อมค่อยๆ คืบคลานเข้าใกล้มนุษยชาติทีละน้อย ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันสกัดกั้นมหันตภัยดังกล่าวนี้


ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของใครๆ เพียงแค่การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ลดปริมาณขยะ ลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน

“ทำได้ครับ ผมยืนยันว่าทุกคนทำได้ ผมทำมาแล้ว ทำมาตลอด และทำไม่ยากเลย” เขายืนยัน

อ.จิรพลบอกว่า เริ่มตั้งแต่การลดปริมาณขยะที่บ้าน ใช้ถุงพลาสติกให้น้อยที่สุด หมายความว่า ใครอดไม่ได้อยากจะใช้มาก ก็จงใช้ให้คุ้มค่าให้ได้นานที่สุด ใช้ถุงผ้าได้ยิ่งดีใหญ่เลย เพราะถุงผ้าใช้ได้นาน ใช้ซ้ำ ใช้แล้วใช้อีกได้

ลดปริมาณขยะในบ้าน ก็แยกขยะ เป็นขยะแห้ง ขยะเปียก พวกเศษอาหาร เศษข้าวเหลือๆ ทำเป็นปุ๋ยได้ หรือให้ดีที่สุด คืออย่ากินข้าวให้เหลือ ตักข้าวพอปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของตัวเอง เศษผักที่เหลือจากการทำกับข้าวทำปุ๋ยหมักได้ หรือหากมันมีปริมาณมากเกินไป ใส่ถุงแบบไม่ต้องปิดปากถุงไว้เอาไปทิ้งในถังขยะที่แยกเฉพาะระหว่างขยะเปียก ขยะแห้ง

“อันนี้สำคัญมาก อาหารสด ผัก ผลไม้ ดอกไม้ ที่ถูกบีบอัด หรือหมักอยู่ในถุงนานๆ ในที่สุดแล้วจะปล่อยก๊าซมีเทนออกมา ซึ่งก๊าซมีเทน คือ 1 ในชนิดของก๊าซเรือนกระจก มันมีอานุภาพในการสร้างวิกฤตโลกให้ร้อนขึ้นมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 23 เท่าด้วยกัน”

“เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ประเทศเราเคยรณรงค์กันว่า ‘ขยะทิ้งลงถังกันเถิด’ แต่วันนี้เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป เราจำเป็นต้องเปลี่ยน จากแค่ให้ทิ้งขยะลงถังมาเป็น ‘ทิ้งขยะให้ถูกถัง’ ถึงจะถูก เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเวลานี้คือ แม้ว่ากรุงเทพฯและหลายๆ เทศบาลจะมีระบบการคัดแยกขยะ ขยะแห้ง ขยะเปียก เศษอาหาร กระดาษ ถุงพลาสติก รวมไปถึงขยะอันตรายแล้ว แต่ทุกคนก็ยังมีความเคยชินที่ว่า สะดวกอย่างไร อยู่ใกล้ถังใบไหนที่สุด ก็ยังคงทิ้งตรงนั้น เอาเป็นว่าคือถังขยะ ทิ้งไปถังไหนก็เหมือนกัน ซึ่งไม่ใช่นะครับ สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว เราจำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย ถังขยะพวกนี้ก็ไม่น่าจะอยู่ไกลกันมากนัก แค่อ่านเสียหน่อยว่าใบนี้เป็นถังขยะอะไรเท่านั้นเอง”

อันนี้คือในชีวิตประจำวันทั่วไป แต่เมื่อมีเหตุการณ์พิเศษขึ้นมา อ.จิรพลบอกว่า หลายๆ งานสำหรับเหตุการณ์พิเศษนั่นแหละ คือ โอกาสที่จะสร้างทั้งขยะและปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น

“การจัดงานอะไรก็แล้วแต่ มาถึงวันนี้เราอาจจะต้องคิดมากขึ้น ย้ำนะครับว่า ทุกคนทำได้ ไม่ยาก ไม่ลำบากใจอะไรเลย ทำแล้วเป็นที่ชื่นชมกับคนรอบๆ ข้างด้วยซ้ำ เช่น งานศพของคุณแม่ผมที่ผ่านมานั้น เมื่อไม่มีพวงหรีดดอกไม้ ก็แทบจะไม่มีขยะ หรือมีก็น้อยมาก ปริมาณขยะที่น้อยๆ ทำให้เราสามารถจัดการได้ง่ายขึ้น มีหลายคนถามว่า แล้วทำไมไม่รับเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น พวกพัดลม ซึ่งเสร็จงานก็เอาบริจาคให้วัดได้ แต่ผมมองว่าในวัดมีพัดลมมากพอแล้ว ไม่น่าจะใช่ของที่มีความจำเป็นต้องใช้มากนัก เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดทันทีที่เสียบปลั๊กนั่นคือจะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทันที”

อ.จิรพลบอกอีกครั้งว่า ไม่ได้บอกว่าห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ควรใช้ตามความจำเป็น

เกี่ยวกับการจัดงานอื่นๆ นั้น อาจารย์ผู้รณรงค์เรื่องลดภาวะโลกร้อนมาค่อนชีวิตท่านนี้บอกว่า ทุกวันนี้ดีใจทุกครั้งที่มีลูกศิษย์และคนรู้จักหลายคนมาขอคำปรึกษา จะจัดงานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ หรือกระทั่งงานบวช ต้องทำอย่างไร ซึ่งเขาเต็มใจอย่างยิ่งที่จะให้คำปรึกษา

“ผมบอกพวกเขาว่า สร้างคาร์บอนไดออกไซด์มาแล้วชั่วชีวิต ในวันที่จะเริ่มต้นชีวิตครอบครัวถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่ทั้งคู่จะช่วยกันดูแลโลก เริ่มจากมีสติก่อนนะครับ บางคู่คิดจะแต่งงานไปพร้อมกับการสร้างหนี้จนลูกโตแล้วยังใช้หนี้กันไม่หมด เริ่มจากการบอกกล่าวผู้ใหญ่ที่เคารพ ใช้วิธีเกริ่นล่วงหน้าทางโทรศัพท์ก่อน ไม่ต้องนั่งรถฝ่าจราจรไปบอกครั้งหนึ่ง เอาการ์ดไปแจกครั้งหนึ่ง หรือการแจกการ์ด อาจจะทำมาแจกเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น สำหรับเพื่อน ญาติพี่น้องที่สนิท ใช้วิธีบอกปาก ส่งไลน์ไปบอกแทน”

“มีงานหนึ่ง ทั้งเจ้าบ่าว เจ้าสาว ใช้ชุดแต่งงานมือสอง เขาเลือกโรงแรมที่ให้แขกสามารถนั่งรถไฟฟ้าไปร่วมงานได้ ดอกไม้จัดแต่พองาม อาหารการกินทำแต่พอเหมาะ น้ำดื่มค่อยๆ เสิร์ฟ ค่อยๆ รินลงแก้ว รู้กันไหมว่าในแต่ละวันนั้นบ้านเรารินน้ำออกมาจากขวดแล้วกินเหลือ ไม่มีใครยอมกินต่อ เหลือต้องเททิ้ง น้ำที่เททิ้งนั้น 1 วันเอามารวมกันสามารถจมเรือขนาดเรือไททานิคได้ถึง 2 ลำทีเดียว สำหรับชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาวนั้น หากว่าไม่อยากใช้ชุดมือสอง อาจจะใช้วิธีเช่า หรือบอกช่างว่าไหนๆ ก็ตัดมาแล้ว ช่างช่วยปรับหน่อยว่าใส่วันแต่งงานแล้ว ให้สามารถเอาไปใส่งานอื่นๆ ได้ด้วย เพราะหลายๆ งาน หลายๆ คู่ ชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาวใส่ได้ครั้งเดียว แล้วเก็บเข้าตู้ปล่อยฝุ่นเกาะ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย”

อีกเรื่องที่สำคัญสำหรับงานแต่งงาน คือของขวัญที่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงจะมีน้ำใจให้มากับคู่บ่าวสาว สำหรับของขวัญนั้น หลายอย่างคู่บ่าวสาวอาจจะมีอยู่แล้ว เช่น ชุดผ้าปูที่นอน ถ้วยชาม ชุดดื่มกาแฟ ไม่ใช่เรื่องน่าอายถ้าจะบอกกับแขกว่า งานงดของขวัญนะครับ (คะ) ขอเป็นการสมทบสร้างชีวิตคู่สีเขียวของพวกเรา (ครับ/ค่ะ)

มาถึงการไปเที่ยวหลังการแต่งงาน หรือไปฮันนีมูน หากอยากจะมี หรือต้องการมีจริงๆ ลองเปลี่ยนจากนั่งเครื่องบินข้ามโลกไปไกลๆ ไปเที่ยวโฮมสเตย์อัมพวาของคุณยาย ใช้ชีวิตแบบสโลว์ ไลฟ์ ดูบ้าง

ใครที่ทำตามคำแนะนำของอาจารย์ได้ ต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งมากเลยใช่ไหม เพราะในสังคมไทยไม่ค่อยมีใครทำแบบนี้กัน

“ไม่เลยครับ ไม่ต้องใช้ความแข็งแกร่งอะไรเลย ลูกศิษย์ผมทำแบบนี้หลายคู่เลย พวกเขาก็มีความสุขกันดี มีแต่คนชื่นชม การเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยการเป็นคนช่างคิดมันจะเป็นตัวสะท้อนอะไรหลายๆ อย่าง ผมว่าพวกเขาน่าชื่นชมด้วยซ้ำไปครับ งานแต่งงานออกมาครบถ้วนตามประเพณีทุกอย่าง ทุกขั้นตอน แถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายไปเยอะด้วย ได้ช่วยดูแลโลกด้วย ลองคิดดูว่าในปีหนึ่งมีคนแต่งงานกี่คู่ กี่งาน หากงานเหล่านี้ งดหรือลดทั้งโฟม ทั้งดอกไม้ลง เราสามารถลดการปล่อยทั้งปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนลงไปเท่าไร”

ในเมื่อความร้อนกำลังคืบคลานเข้ามายังโลกช้าๆ เป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องช่วยกันปกป้อง ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก และการสร้างแรงจูงใจ จะนำพาไปสู่การปฏิบัติการดูแลโลกได้อย่างไม่อายใคร

ทุกคนทำได้..

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image