เตือนภัย “โกโนเรีย” กลับมาระบาด-ดื้อยา

(ภาพ-CDC/James Archer)

“โกโนเรีย” หรือ “หนองใน” โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักกันดี กลับมากลายเป็นปัญหาใหญ่อีกครั้งในหลายภูมิภาคทั่วโลกรวมทั้งเอเชีย ทีมนักวิจัยซึ่งนำโดย แพทย์หญิง ทีโอดอรา ไว ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ด้านการเจริญพันธุ์ของมนุษย์ ประจำองค์การอนามัยโลก (ฮู) ระบุว่า สายพันธุ์ที่พบระบาดใหม่นั้นส่วนใหญ่ยากต่อการรักษาเพราะเกิดอาการดื้อยาปฏิชีวนะที่มี โดยบางสายพันธุ์พัฒนาไปจนไม่สามารถรักษาได้เลยด้วยยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ในเวลานี้

งานวิจัยซึ่งใช้การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีการบันทึกรายงานการรักษาโรคโกโนเรียและการดื้อยาปฏิชีวนะจาก 77 ประเทศ ระหว่างปี 2009 เรื่อยมาจนถึงปี 2014 พบว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเป็นโรคนี้มีการดื้อยาไซโปรฟลอกซาซิน, 81 เปอร์เซ็นต์ของกรณีที่มีการรายงานทั้งหมด แสดงอาการดื้อยาอาซิโทรไมซิน และอีก 66 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้ารับการรักษาที่มีการรายงานไว้ทั้งหมด แสดงอาการดื้อยาเซฟาโลสปอริน ทั้งนี้ ดร.ไวระบุไว้ในรายงานว่า แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคหนองในสามารถปรับตัวได้ดี ทุกครั้งที่มีการนำยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ออกมาใช้เพื่อรักษาอาการติดเชื้อ ก็จะวิวัฒนาการเพื่อต่อต้านยาเหล่านั้นได้โดยเร็ว

ในรายงานดังกล่าวระบุว่า ในบางประเทศที่มีการเฝ้าระวังการระบาดของโรคนี้ที่ดี รายงานเอาไว้ด้วยว่ามีหลายกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะทั้งหมดที่รู้จักกัน

ในเวลานี้ ซึ่งทีมวิจัยเชื่อว่าน่าจะเป็นรายงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เนื่องจากในหลายประเทศที่มีรายได้ต่ำซึ่งพบการระบาดของโกโนเรียได้บ่อยมากยังไม่มีระบบการวินิจฉัยโรคและรายงานโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ทำนองนี้

Advertisement

รายงานชิ้นนี้ระบุว่าในปัจจุบัน มีรายงานพบการติดเชื้อโกโนเรียรายใหม่มากถึง 78 ล้านรายต่อปีทั่วโลก โดยรายงานที่ได้จากประเทศที่มีการเฝ้าระวังที่ดี แสดงให้เห็นว่าโกโนเรียกำลังกลับมาระบาดเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง ตัวอย่างเช่นในสหราชอาณาจักร พบการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อระหว่างปี 2014-2015 สูงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การระบาดทั่วโลกก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ถุงยางอนามัยลดน้อยลง, มีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น, มีการตรวจพบอาการติดเชื้อโกโนเรียในระดับต่ำลง และไม่มีการรักษาอาการที่ดีเพียงพอ

โดยตัวของโรคโกโนเรียเองไม่ทำให้ถึงกับเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม อาการแทรกซ้อนเมื่อติดเชื้อโกโนเรียเป็นอันตรายสูงมากสำหรับผู้หญิง เพราะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน, เกิดภาวะมีบุตรยาก, เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และเสี่ยงต่อการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ตามรายงานใหม่นี้ระบุว่า เชื้อโกโนเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะพบแพร่ระบาดในแทบทุกประเทศในเอเชีย, อเมริกาเหนือ, ยุโรป, ละตินอเมริกา, กลุ่มประเทศแคริบเบียน และออสเตรเลีย ในขณะที่บริษัทเวชภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่สนใจพัฒนาตัวยารักษาโรคนี้ เพราะหนองในรักษาไม่ยากใช้เวลาไม่นาน ไม่เหมือนโรคเรื้อรังอื่น แต่ในขณะเดียวกันกลับมีการดื้อยาสูงและเร็ว ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนวิจัย

Advertisement

ทีมวิจัยชี้ว่า เชื้อโกโนเรียดื้อยาเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ ซึ่งในขณะนี้มีการทดลองอยู่ 3 ตัวด้วยกัน คือ โซลิโทรไมซิน, โซลิโฟลดาซิน และจีโพทิดาซิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image