สศก.แจงพ.ร.บ.แรงงานต่างด้าวดีต่อภาคเกษตรระยะยาว ลุ้นปรับขึ้นเทียร์2

นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่า ศูนย์ฯประเมินเบื้องต้นพบว่า แรงงานต่างด้าวที่อยู่นอกระบบหรือยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนทั้งระบบมีประมาณ 1 ล้านราย ส่วนนี้เป็นแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตร(เกษตร ปศุสัตว์ และประมง)ที่อยู่นอกระบบประมาณ 17% หรือ 170,000 ราย ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจภาคเกษตร จากการประกาศใช้ พ.ร.บ.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 2560 ที่ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวภาคเกษตรที่อยู่นอกระบบเดินทางกลับประเทศ หรือย้ายกลับถิ่นฐานเดิมของตนเอง แบ่งเป็น 3 กรณี คือ 1.แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรที่อยู่นอกระบบหายไป 5% หรือ 8,500 ราย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสาขาเกษตร 434.31 ล้านบาท รองลงมาคือ สาขาประมง 244.80 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 174.42 ล้านบาท รวม 853.53 ล้านบาท

2.แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรหายไป 10% หรือ 17,000 ราย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร 868.62 ล้านบาท สาขาประมง 489.60 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 348.84 ล้านบาท รวม 1,707.06 ล้านบาท 3.แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรหายไป 15% หรือ 25,500 ราย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร 1,302.93 ล้านบาท สาขาประมง 734.40 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 523.26 ล้านบาท รวม 2,560.59 ล้านบาท

“แม้ว่าแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรจะมีโอกาสหายไปมากสุดถึง 15 % หรือ 25,500 ราย แต่สศก.ประเมินว่าจะไม่กระทบต่อภาคการเกษตรมากนัก เพราะเชื่อว่าเป็นเพียงเหตุการณ์ระยะสั้น เมื่อแรงงานต่างด้าวได้กลับไปทำเอกสารที่ประเทศตนเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว น่าจะกลับมายังไทยเพื่อทำงานตามปกติ และเชื่อว่าในระยะยาวจะส่งผลดีต่อไทยมากกว่า โดยเฉพาะมีแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้อง สามารถทดแทนแรงงานในประเทศที่ลดลงเรื่อยๆ ตามการเข้าสู่สังคมผู้อายุ รวมทั้งน่าจะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ถูกต้อง ซึ่งปีหน้าเชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐ น่าจะเห็นความพยายามของรัฐบาลไทยปรับอันดับรายงานการค้ามนุษย์(ทิป รีพอร์ต)จากเทียร์ 2วอตช์ลิสต์(เฝ้าระวัง)มาอยู่ที่เทียร์ 2 ได้”นายภูมิศักดิ์ กล่าว

สำหรับมีข้อเสนอสศก. แนะฝากไปยังรัฐบาล ในส่วนมาตรการระยะสั้น ได้แก่ 1.ปรับลดบทลงโทษพ.ร.บ.ลดลง เพื่อสร้างความนุ่มนวล จูงใจให้แรงงานต่างด้าวเข้าสูงระบบมากขึ้น 2.ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียน ลดความซับซ้อน ยุ่งยากเพื่อให้ผู้ประกอบการและแรงงานมีความสะดวกมากขึ้น และมาตรการระยะยาว ได้แก่ 1.ส่งเสริมการนำเทคโนโลยี และเครื่องจักรกลทางการเกษตรไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต และ 2. จัดงบประมาณในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว

Advertisement

นายวิษณุ อรรถวานิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องแรงงานต่างด้าวที่อยู่นอกระบบ ควรเป็นนโยบายสำคัญที่ภาครัฐ จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากอีก 20 ปีข้างหน้า วัยแรงงานของประเทศจะหายไปอีกประมาณ 6 ล้านราย จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรจำเป็นที่จะต้องวางแผนให้ดีว่าจะมีการหาแรงงานเพื่อทดแทนแรงงานในกลุ่มนี้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image