ปราชญ์มุสลิมโลก 37 ประเทศ ร่วมถก ‘การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข’ ที่ ม.อ.ปัตตานี

 

นายยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี ได้เชิญปราชญ์ และนักวิชาการมุสลิม 40 ประเทศ ร่วมสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ เรื่องการศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี นับเป็นครั้งที่ 4 เพื่อส่งเสริมคุณค่าการศึกษาอิสลามในการสร้างสันติภาพ และชี้นำสังคมสู่สันติสุข ครั้งนี้มีเป้าหมายผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทุกทวีปทั่วโลกรวม 40 ประเทศ จำนวน 500 คน มีประเทศที่ตอบรับแล้ว 37 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย, บาห์เรน, บรูไน, อียิปต์, อังกฤษ, กินี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิรัก, ญี่ปุ่น, จอร์แดน, คูเวต, ลาว, ไลบีเรีย, ลิเบีย, จีน, มาซิโดเนีย, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, โมร็อกโก, ไนจีเรีย, โอมาน, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, กาตาร์, รัสเซีย, ซาอุดิอารเบีย, ศรีลังกา, ซูดาน, ติมอร์-เลสเต, ตุรกี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ยูกันดา, ยูเครน, สหรัฐอเมริกา, เยเมน และไทย โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด

นายยูโซะกล่าวอีกว่า การสัมมนาดังกล่าวประกอบด้วย การนำเสนอบทความจากผู้นำประเทศมุสลิม และนักวิชาการอิสลามศึกษาที่มีชื่อเสียงอาทิ เชคอุมัร อุบัยดฺ ฮาซานะฮฺ อธิบดีกรมการวิจัยและอิสลามศึกษา กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม ประเทศกาตาร์, เชคอับดุลการีม ฆอศอวะนะฮฺ ประธานศาลฎีกาสูงสุด ประเทศจอร์แดน, ดร.มุหัมมัด อะฮฺมัด มุซัลลัม อัล-คอลัยละฮฺ ผู้นำสูงสุดในศาสนาอิสลาม ประเทศจอร์แดน, ดร.อะหมัด บิน หะมัด ญีลาน ที่ปรึกษาเลขาธิการองค์กรสันนิบาตมุสลิมโลก ประเทศซาอุดิอารเบีย, ดร.อับดุลอาซีซ อุสมาน อัล-ตูวัยญีรีย์ อธิบดีองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอิสลาม ราชอาณาจักรโมร็อกโก, ศ.ดร.กุฏุบ มุสฏอฟา ซาโน รัฐมนตรีประจำสำนักนายก สาธารณรัฐกินี และ ดร.ซอและฮฺ สุลัยมาน อัล-วูฮัยบีย์ เลขาธิการสภายุวมุสลิมโลก ประเทศซาอุดิอารเบีย เป็นต้น

“การสัมมนาครั้งนี้ นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งที่จะกระชับความสัมพันธ์กับพันมิตรทางวิชาการ เพื่อพัฒนาอิสลามศึกษาในประเทศไทย รวมถึง สร้างเครือข่ายทางการศึกษาที่เป็นการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา การเปิดหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยพันธมิตรในการก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ สนองนโยบายที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในอาเซียน ตลอดจนเสริมสร้างสังคมสันติสุข และสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยน และกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอิสลามศึกษาให้มีผลต่อการพัฒนาสังคมโลก โดยเฉพาะในประเด็นการสร้างสันติภาพ และการสร้างความสามัคคีของประชาคมโลก คาดหวังว่าความร่วมมือทางวิชาการระหว่างเครือข่ายอิสลามศึกษาจะเป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” นายยูโซะ กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image