ส่องขั้นตอนคลอดกม.ลูก จุดกำเนิดวันเลือกตั้ง

หลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผ่านวาระ 2-3 จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอยู่ในระหว่างรอว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม มาพิจารณาเพิ่มเติมหรือไม่นั้น

มีคำถามจากหลายฝ่ายว่าเหตุได้จึงมี พ.ร.ป.คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงถูกแทรกขึ้นมา ในเมื่อ สนช.ยังพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยังไม่แล้วเสร็จ

ในเมื่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า จะให้กฎหมาย กกต.และพรรคการเมือง ผ่าน สนช.ก่อน จึงจะเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. เพราะตราบใดที่กฎหมาย 4 ฉบับนี้แล้วเสร็จ รัฐธรรมนูญมาตรา 268 ระบุว่าให้ดำเนินการเลือกตั้งภายใน 150 วัน

จากกรณีดังกล่าวเป็นเหตุแห่งความเข้าใจผิดว่าจะต้องร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับนี้ให้แล้วเสร็จเสียก่อนจึงจะร่างกฎหมายลูกอีก 6 ฉบับที่เหลือได้ เพื่อที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งให้เร็วที่สุด

Advertisement

แต่ในรัฐธรรมนูญหาบัญญัติเช่นนั้นไม่ เพราะไม่มีวรรคตอนใดเลยที่กำหนดให้ร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับแรกให้เสร็จก่อนฉบับอื่นๆ เพราะ กรธ.จะร่างกฎหมายใดให้เสร็จก่อนก็ย่อมได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ กรธ.จะเสนอกฎหมายคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ามาในระหว่างที่ สนช.กำลังตั้ง กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับแรกที่เสนอไปก่อนหน้านี้

เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตรา 267 กำหนดให้ กรธ.ร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับให้แล้วเสร็จและเสนอต่อ สนช.ให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย (1) พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. (2) พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. (3) พ.ร.ป. กกต. (4) พ.ร.ป.พรรคการเมือง (5) พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (6) พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (7) พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน (8) พ.ร.ป.การป้องกันและปราบปรามการทุจริต (9) พ.ร.ป.การตรวจเงินแผ่นดิน และ (10) พ.ร.ป.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ในวรรคสองกำหนดให้ กรธ.จะร่างกฎหมายลูกขึ้นมาใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมให้สอดคล้องต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และต้องมุ่งหมายให้มีการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ โดยกฎหมายลูกทั้งหมดต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คือวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา เท่ากับว่า กรธ.มีเวลาร่างกฎหมายลูกทั้งหมดในเวลา 8 เดือน ซึ่งจะต้องร่างเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม และเมื่อ สนช.ผ่านกฎหมายลูกทุกฉบับแล้ว กรธ.ก็จะเป็นอันพ้นจากตำแหน่ง

แต่ก็ใช่ว่า กรธ.จะพ้นตำแหน่งในเดือนธันวาคมทันที เพราะตามวรรคสี่ของมาตราเดียวกันนี้ระบุว่า เมื่อ สนช.ได้รับร่าง พ.ร.ป.แล้ว สนช.จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมายลูกในแต่ละฉบับ ในกรณีที่ สนช.พิจารณาร่างกฎหมายใดไม่แล้วเสร็จภายในเวลา 60 วัน ให้ถือว่า สนช.เห็นชอบกับร่าง พ.ร.ป.นั้นตามที่ กรธ.เสนอ
เท่ากับว่าเมื่อถึงเดือนธันว่าคม กรธ.อาจจะเสนอกฎหมายลูกฉบับสุดท้าย เพื่อให้ กรธ.ได้อยู่ต่ออีก 60 วัน ในระหว่างที่ สนช.พิจารณากฎหมายและตั้งกรรมาธิการร่วมตามวรรคต่อจากนี้

โดยในวรรคห้าระบุว่าเมื่อ สนช.พิจารณาร่างกฎหมายลูกแล้วเสร็จ ให้ส่งร่าง พ.ร.ป.นั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และ กรธ.เพื่อพิจารณา ถ้าศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง หรือ กรธ.เห็นว่าร่าง พ.ร.ป.ที่ สนช.แก้ไขไม่ตรงตาม เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้แจ้งให้ประธาน สนช.ทราบภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่าง พ.ร.ป.นั้น และให้ สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญหรือกรรมาธิการร่วมขึ้นคณะหนึ่งมีจำนวน 11 คน

ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และ สนช.และ กรธ.ซึ่ง กรธ.มอบหมาย
ฝ่ายละ 5 คน เพื่อพิจารณาแล้วเสนอต่อ สนช.ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง เพื่อให้ความเห็นชอบ ถ้า สนช.มีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกินสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สนช.ให้ร่าง พ.ร.ป.นั้นเป็นอันตกไป ในกรณีที่ สนช.มีมติไม่ถึงสองในสามดังกล่าว ให้ถือว่า สนช.ให้ความเห็นชอบตามร่างที่กรรมาธิการร่วมเสนอและให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา 81 คือการผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ในวรรคท้ายสุดระบุว่า เพื่อประโยชน์แห่งการขจัดส่วนได้เสีย ห้ามมิให้ กรธ.ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งตามวรรคสอง

และตามมาตรา 268 ระบุว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 250 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ป.ตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ (4) มีผลใช้บังคับแล้ว

เท่ากับว่าในระหว่างการพิจารณากฎหมายพรรคการเมือง กฎหมาย กกต. กรธ.จะเสนอกฎหมายลูกฉบับใดให้ สนช.พิจารณาไปพร้อมๆ กันก็ได้ หาก กรธ.ร่าง พ.ร.ป. ฉบับใดเสร็จก่อนก็เสนอให้ สนช.พิจารณาได้ทันที โดย สนช.มีเวลาในการพิจารณากฎหมายแต่ละฉบับ ขอย้ำ ‘แต่ละฉบับ’ ในเวลา 60 วัน ก่อนที่จะให้มีการตั้งกรรมาธิการร่วมพิจารณาภายใน 15 วัน เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ให้ความเห็นชอบอีกครั้ง

ดังนั้นโรดแมปที่ถูกโยนหินมาจาก กกต.ที่จะมีการสรรหา ส.ว.ในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 และมีการเลือกตั้ง ส.ส.ในเดือนสิงหาคม 2561 จะไม่แปลกที่จะใกล้เคียงตามนั้น

เพราะหาก กรธ.เสนอกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว.และการเลือกตั้ง ส.ส.ในเดือนธันวาคม ถือเป็น 2 ตัวแปรที่จะกำหนดให้มีการเลือกตั้งใน 150 วัน สนช.มีเวลาอีก 2 เดือนในการพิจารณา ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นตั้งกรรมาธิการร่วมใช้เวลาอีกร่วมเดือนก่อนที่ สนช.จะให้ความเห็นชอบ จากนั้น กรธ.จึงจะพ้นจากตำแหน่งแล้วเข้าสู่โหมดเลือกตั้งในอีก 150 วัน นับต่อไปอีก 5 เดือนนั่นจึงตรงกับเดือนสิงหาคม ตามที่ กกต.คาดการณ์ไว้

เว้นเสียแต่ว่า กรธ.หรือ สนช.เองจะเร่งพิจารณากฎหมายด้วยความร่วมเร็ว ไม่ยืดเวลาได้เต็มเหยียด การเลือกตั้งจึงจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่านั้น และประเทศจะกลับสู่ประชาธิปไตยได้เร็วกว่าเดิม นอกเสียจากว่าจะมีใครอยากอยู่ยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image