อาศรม มิวสิก ครูบุญยงค์ เกตุคง นักระนาดผู้ยิ่งใหญ่ โดย:สุกรี เจริญสุข

ครูบุญยงค์ เกตุคง นักระนาดผู้ยิ่งใหญ่ แห่งกรุงเทพมหานคร มีอายุระหว่างวันที่ 23 มีนาคม 2463 (ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก) ที่บางขุนเทียน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 รวมอายุ 76 ปี ครูบุญยงค์ เกตุคง ได้ชื่อว่าเป็นนักระนาดเทวดาที่มีฝีมือเยี่ยมยุทธ์ เคยเดินทางไปแสดงระนาดกับคณะศิลปินวัฒนธรรมไทยที่ประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ.2500 ซึ่งผู้นำจีนในสมัยนั้น (โจว เอินไหล) ได้ให้คำชื่นชมเสียงตีระนาดของครูบุญยงค์ เกตุคง ว่า “เสียงเหมือนไข่มุกหล่นบนจานหยก”

เมื่อกลับมาเมืองไทย ทำให้ครูบุญยงค์ เกตุคง มีงานหากินกับลิเกได้มากขึ้น มีชื่อเสียงมากขึ้น เป็นที่ร่ำลือเรื่องฝีมือในการตีระนาด

ครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นนักปี่พาทย์ที่มีความสามารถสูง มีความสามารถรอบตัว เล่นปี่พาทย์และรับงานได้ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะตีระนาดรับลิเก ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษเฉพาะตัว กล่าวคือ นักระนาดที่จะสามารถรับร้องลิเกได้นั้นจะต้องมีความชำนาญเรื่องเพลงมาก รู้จักเพลงเยอะ ต้องมีไหวพริบและปฏิภาณดีเป็นเลิศ เพราะลิเกนั้นจะร้องเพลงทำนองต่างๆ ตามใจคนร้องลิเก นักปี่พาทย์ก็จะต้องคอยเล่นรับร้องลิเกให้ได้ หากปี่พาทย์ตีรับเพลงลิเกร้องต่อไม่ได้ (จนเพลง) ลิเกก็จะร้องล่มทั้งโรง

Advertisement

ในยุคที่ลิเกยังรุ่งเรืองอยู่ ครูบุญยงค์ เกตุคง ก็เป็นนักดนตรีเล่นปี่พาทย์กับโรงลิเก โดยจัดตั้งเป็นคณะลิเก “เกตุคงดำรงศิลป์” โดยมีครูบุญยัง เกตุคง น้องชาย เป็นพระเอกลิเก และดาราดังในสมัยนั้นก็คือ “พร ภิรมย์” เป็นพระเอกในสมัยนั้น (พ.ศ.2500) มีเพลงดาวลูกไก่ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดัง โดยมีพร ภิรมย์ เป็นนักร้อง และมีครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นนักระนาด

ครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นนักปี่พาทย์ที่เรียนรู้ดนตรีแบบโบราณคือการไปอยู่กับครูปี่พาทย์ รับใช้ทำงานทุกอย่างในบ้านครูปี่พาทย์ จนกระทั่งสามารถออกรับงานแสดงปี่พาทย์ได้ ครูบุญยงค์ เกตุคง กลายเป็นนักดนตรีเล่นปี่พาทย์เป็นอาชีพ เรียนรู้อยู่อย่างอาชีพ เลี้ยงชีพโดยการเล่นปี่พาทย์

เมื่อเป็นนักดนตรีอาชีพก็ต้องเล่นดนตรีได้ในทุกรูปแบบ ใครหาไปทำปี่พาทย์งานบวช งานศพ งานกฐิน งานลิเก ก็ต้องไปเล่นหมด เพราะถือเป็นอาชีพ เป็นการทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว

Advertisement

กาลเวลาผ่านไป ลิเกตายเพราะไม่มีคนดู ไม่มีคนจ้าง โทรทัศน์เข้ามาแทนวิทยุและมาแทนลิเก ประกอบกับงานศพตามวัดต่างๆ ก็หมดความสำคัญลง งานเผาศพไม่มีปี่พาทย์ การบรรเลงปี่พาทย์กลายเป็นเรื่องหนวกหู กลายเป็นภาระของเจ้าภาพ จัดการกับวงปี่พาทย์ยาก ปี่พาทย์ก็หมดบทบาทในงานศพ ทั้งลิเกและงานศพถือเป็นอาชีพและบทบาทหลักของดนตรีไทย เมื่อไม่มีใครหา ไม่มีใครเอา และปี่พาทย์ก็ไม่มีใครฟังอีกต่อไป ครูบุญยงค์ เกตุคง และนักดนตรีปี่พาทย์ทั้งหลายก็ตกงาน

บางช่วงเวลาของชีวิตครูบุญยงค์ เกตุคง เมื่อน้ำท่วมก็ต้องไปแจวเรือจ้าง น้ำแห้งก็ไปขับแท็กซี่เป็นอาชีพเสริม เพราะเมื่อตกงานจากการเล่นปี่พาทย์ ก็ต้องมีช่องทางอื่นที่จะทำมาหากิน

ผลงานของครูบุญยงค์ เกตุคง กลายเป็นวีรกรรมที่สำคัญ เมื่อฝรั่งชาวอเมริกันที่ชื่อบรูซ แกสตัน (บุรุษ เกศกรรณ) ได้เข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือที่จังหวัดพิษณุโลก ในปี พ.ศ.2512 แทนการไปรบในสมรภูมิเวียดนาม ระหว่างที่พักอยู่ในเมืองพิษณุโลก 3 เดือน บ้านพักก็อยู่ใกล้ป่าช้า ก็จะได้ยินวงปี่พาทย์เล่นเพลงชเวดากองที่งานศพ ทำให้นักดนตรีบรูซ แกสตัน (Bruce Gaston) ประทับใจในเพลง และสงสัยเป็นอันมากว่าใครเป็นคนแต่ง เพราะฟังเพลงแล้วเป็นเพลงสมัยใหม่ ไม่เหมือนกับเพลงไทยทั่วๆ ไป ซึ่งบทเพลงชเวดากองได้เชื่อมโยงให้บรูซ แกสตัน ได้พบกับครูบุญยงค์ เกตุคง และได้มีวงดนตรีฟองน้ำ (พ.ศ.2522) เกิดขึ้นในเวลาต่อมา มีแผ่นเสียงเพลงไทยในรูปแบบสากลมากขึ้น ทำให้ดนตรีไทยออกสู่สังคมโลกในมิติที่แตกต่างไปจากเดิม

“ศิลปะเป็นของขวัญที่มนุษย์บันดาลให้แก่กัน ดนตรีเป็นสะพานเชื่อมที่จะนำจิตใจมนุษย์ไปสู่สภาพอันสมบูรณ์ ชูจิตใจให้ละเอียดอ่อนช้อย และปราศจากกิเลสทั้งปวง …แปลกไหมทุกคนอยากรวย รวยแล้วก็ไม่มีความสุข แต่ก็อยากรวย… ดนตรีไทยกำลังจะหายไปจากสังคมไทย เพราะเราไปรับความคิดแบบทุนนิยมเข้ามา มันน่าเสียดาย ไม่ใช่แต่ดนตรีไทยอย่างเดียวนะ เสียดายวิญญาณความเป็นไทยด้วย” (บรูซ แกสตัน, 2529)

วันนี้ ดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน ตายลงแล้วอย่างสนิท นักดนตรีไทยและวงดนตรีไทยไม่มีงานทำอีกต่อไป ดนตรีไทยไม่มีบทบาทต่อสังคมไทยแต่อย่างใด ช่วงระยะเวลา 30 ปี ที่บรูซ แกสตัน พูดถึงดนตรีไทยและจิตวิญญาณไทยตายแล้ว (พ.ศ.2529)

ปัจจุบันก็เหลือดนตรีไทยในห้องเรียน ดนตรีไทยในพิพิธภัณฑ์ และดนตรีไทยพจนานุกรมเท่านั้น

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สร้าง “สวนศิลปิน” ขึ้น บนพื้นที่ 5-6 ไร่ ปลูกต้นไม้สวยงาม และมีประติมากรรมศิลปินชาวบ้านและดนตรีไทย (4 ภาค) ครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นศิลปินตัวแทนของภาคกลาง ท่านนั่งตีระนาดเอก นั่งตีระนาดอย่างอารมณ์ดี มีความภูมิฐาน ดูเป็นชาวบ้านหน้าตายิ้มแย้ม จิตใจดี จากใบหน้าท่านเป็นคนที่มีความสุข มีอารมณ์ขัน ใส่แว่นเท่ สวมนาฬิกาโก้ บ่งบอกถึงความเป็นคนที่ทันสมัย

ครูบุญยงค์ เกตุคง นั่งตีระนาดเอกในสวนศิลปินอย่างสนุกสนานและมันมือ ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจ เป็นการจารึกจิตวิญญาณของความเป็นไทย เพื่อให้นักเรียนดนตรีรุ่นใหม่ได้รับรู้ความเป็นมาในอดีต เป็นการเพิ่มพลังความคิดสร้างสรรค์และเพิ่มพลังแห่งจินตนาการ โดยที่ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง

ช่างปั้นหุ่น นายวัชระ ประยูรคำ กับช่างหล่อ นายอามานโด เบนาโต (Armando Benato) ซึ่งถือว่าเป็นนายช่างที่มีตระกูล มีฝีมือสูงสุดคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้ง 2 ท่านได้สร้างผลงานไว้มากมายหลายชิ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ สำหรับในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นั้น ก็มีผลงานของศิลปินทั้งสอง ท่านอยู่หลายชิ้นเหมือนกัน

สวนศิลปินเป็นพื้นที่สำหรับการเดินเล่น มีต้นไม้ร่มรื่น เดินชื่นชมเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ให้เป็นอิสระ และได้มีโอกาสซึมซับงานศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำศิลปินไทยที่ได้สร้างผลงานฝากไว้กับแผ่นดิน ซึ่งหาดูได้ยาก เพราะน้อยเหลือเกินที่จะได้รับการยกย่อง ในขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ไม่ค่อยจะมีราคา เพราะมีชีวิตที่ต้นทุนต่ำ ยิ่งเมื่อตายจากไปแล้ว ผู้คนก็ลืมเลือน

ครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นตัวอย่างของชีวิตนักดนตรีไทย ไม่ได้ตายเพียงครูบุญยงค์ เกตุคง เท่านั้น วันนี้ดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านก็ตายไปแล้วด้วย การสร้างประติมากรรมเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้คนรุ่นนี้ได้รู้ว่า สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามนั้น ตายไปแล้ว น่าจะช่วยกันรื้อฟื้น ดูแลรักษา สืบทอด และสร้างสรรค์ให้งดงามได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image