นักกฎหมาย อย่าทอดทิ้ง”หลักการ” ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายมือรางวัลระดับสากล

เธอคือผู้หญิงคนแรกที่ได้รางวัลทนายเพื่อทนาย หรือ Lawyers for Lawyers award จากองค์กร Lawyers for Lawyers (L4L) ประเทศเนเธอร์แลนด์

อีกทั้งยังเป็นทนายคนแรกในภูมิภาคนี้ที่ได้รับเลือกจากรางวัลนี้ โดย L4L เป็นองค์กรส่งเสริมหลักนิติธรรมผ่านเสรีภาพและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของนักกฎหมายทั่วโลก การคัดเลือกรางวัลจะมอบให้แก่ทนายความที่ถูกข่มขู่คุกคามจากการทำหน้าที่

“ศิริกาญจน์ เจริญศิริ” หรือ “ทนายจูน” ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 เพื่อเผยแพร่ความรู้และให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับผู้ได้รับผลกระทบ

เรียนจบจาก ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา ปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มีประสบการณ์ทำงานด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ก่อนไปศึกษาปริญญาโทกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย Essex สหราชอาณาจักร

Advertisement

เหตุผลในการมอบรางวัลระบุว่า ศิริกาญจน์เป็นทนายอายุน้อยที่ยืนหยัดเพื่อนักสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และประชาชนที่ถูกดำเนินคดีหลังรัฐประหาร แม้จะทำให้เธอตกอยู่ในความเสี่ยงก็ตาม การมอบรางวัลนี้เพื่อชื่นชมในความกล้าหาญของเธอ และทำให้โลกตะวันตกหันมาสนใจปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทยมากกว่าที่เป็นอยู่

ก่อนจะได้รับรางวัลนี้ ศิริกาญจน์ถูกตั้งข้อหาจากการปฏิบัติหน้าที่ทนายความให้นักศึกษาดาวดิน-ประชาธิปไตยใหม่ เมื่อ มิ.ย.2558 จากนั้นจึงได้รับหมายเรียกตามมา 3 คดี

1.ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานและซ่อนเร้นพยานหลักฐาน จากการปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่ค้นรถโดยไม่มีหมายค้น ขณะนี้อยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุดว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่

Advertisement

2.แจ้งความเท็จ จากการแจ้งความ ม.157 กับเจ้าหน้าที่ซึ่งมาล็อกรถและค้นรถโดยไม่มีหมาย แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าตรงไหนเป็นข้อความเท็จ จึงไม่สามารถรับข้อกล่าวหาได้

3.ยุยงปลุกปั่นให้กระด้างกระเดื่อง ตาม ม.116 และฝ่าฝืนการชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปตามคำสั่ง คสช.ที่ 3/58

แม้คดีหลังสุดนี้จะมีการแจ้งความหลังยกเลิกคำสั่งใช้ศาลทหารกับพลเรือนแล้ว แต่เนื่องจากเหตุเกิดก่อนคำสั่งยกเลิก คดีนี้จึงต้องขึ้นศาลทหาร

มีข้อสังเกตหนึ่งจากคดี ม.116 คือเพิ่งมีหมายเรียกมาหลังจากที่ศิริกาญจน์เดินทางกลับจากการไปรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชนไทยที่สหประชาชาติ สวิตเซอร์แลนด์

อาจพูดได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเธอเป็นที่ไม่น่าพึงใจสำหรับบางฝ่าย แต่การได้รับรางวัลจากองค์กรระหว่างประเทศ น่าจะยืนยันได้ว่าการทำหน้าที่ของเธอเป็นไปตามหลักการที่ยอมรับกันในสากล

– มีหมายเรียกคดี ม.116 ตามมา ทั้งที่เหตุการณ์ผ่านมาแล้วปีกว่า?

เหตุเกิดปี 2558 แต่หมายเรียกเพิ่งมา มีข้อสังเกตจากองค์กรระหว่างประเทศว่าทำไมเกิดในช่วงที่เรามีบทบาทในการรายงานปัญหาสิทธิมนุษยชนไทยในยูเอ็น ในระหว่างประเทศมองว่าเป็นการข่มขู่คุกคามโดยตรงจากการไปร่วมกับยูเอ็น เป็นเรื่องที่ยูเอ็นซีเรียสมาก

พฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ายุยงปลุกปั่นและชุมนุมเกิน 5 คน คือ ทหารเห็นผู้หญิงซึ่งคิดว่าเป็นเราถือถุงใส่ของลุกลี้ลุกลนไปใส่หลังรถ พอค้นรถก็เป็นพยานหลักฐานคือมือถือนักศึกษา ซึ่งฟังแล้วไม่ชัดเจน แต่ก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว

คดี ม.116 เป็นข้อหาร้ายแรงต่อรัฐ โทษจำคุก 7 ปี และขึ้นศาลทหาร แม้ว่าวันที่ 12 ก.ย.2559 คสช.บอกว่าหยุดใช้ศาลทหารแล้ว แต่ความเป็นจริงยังไม่ได้หยุด คดีที่เหตุเกิดก่อนหน้านั้นยังเอาขึ้นศาลทหาร แม้ว่าเขาจะแจ้งความหลังคำสั่งออกมาก็ตาม

กลไกทางกฎหมายของ คสช.กับทนายคือการคุกคามที่ยกระดับขึ้น กล่าวหาว่าทนายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของลูกความ ขัดหลักการเป็นอิสระของทนายความ การให้ความช่วยเหลือกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้กระทำผิดหรือมีส่วนเห็นด้วยกับเขา วันหน้าเราอาจช่วยกลุ่มอื่นก็ได้ ในการเมืองมีกลุ่มมากมายเกิดขึ้นและเปลี่ยนไป แต่ทนายต้องทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม

– มีกฎหมายอะไรมาปกป้องทนายและนักปกป้องสิทธิไม่ให้ถูกฟ้องจากการทำงานไหม?

จริงๆ ไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะ แต่เป็นหลักการพื้นฐานโดยสามัญสำนึก กฎหมายเรามีเยอะแล้ว อยากขอให้มีแนวปฏิบัติเกิดขึ้น กรณีนี้สภาทนายความที่เป็นองค์กรวิชาชีพถือหลักการคุ้มครองสมาชิกและคนทำงานด้านกฎหมาย มีหลักที่จะต้องไม่ถูกคุกคามในการทำงานซึ่งเป็นหลักสากล

เช่นเดียวกับนักปกป้องสิทธิ ยูเอ็นมีหลักในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิว่าจะต้องไม่ถูกคุกคาม ทั้งทางด้านร่างกายจิตใจ การเงิน รวมถึงครอบครัว รัฐมีหน้าที่คุ้มครอง ไม่ได้มีหน้าที่มาทำให้กลัว ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ขยายความคุ้มครองจากบุคลากรที่ทำงานด้านความยุติธรรมไปสู่คนที่ทำงานด้านสิทธิด้วย แต่บ้านเราไม่มีหลักการที่ชัดเจน

ส่วนวิชาชีพทนายความคิดว่าต้องเรียกร้องให้มีความเข้มแข็งของกลุ่มวิชาชีพมากกว่า ยังไม่เห็นความกล้าหาญขององค์กรวิชาชีพที่เราเป็นสมาชิก

– การเป็นนักกฎหมายทำให้หวาดหวั่นต่อการถูกฟ้องน้อยลงไหม?

รู้สึกย้อนแย้งมากกว่า เรารู้กฎหมาย เชื่อว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในขอบเขต ยังไงก็ไม่โดน แต่ในยุคนี้บิดเบี้ยวไปหมด เรายังเชื่อมั่นในหลักการ แต่คนที่ถือหลักการเขาไม่เอากับเราหรือเปล่า ข้อที่เราสู้ได้คือใช้หลักการเดิม และดึงกลับมาให้เข้าร่องเข้ารอย

น่าจะหวั่นในระดับภาพรวมเพราะระบบกฎหมายถูกทำลายมาตั้งแต่รัฐประหารแล้ว และก่อนหน้านี้ก็มีข้อบกพร่องมากมาย อาจเป็นโอกาสว่าเราจะได้เห็นยุคที่ตกต่ำที่สุด แล้วความหวังคือเราจะต้องฟื้นฟูให้กลับมาใช้งานได้จริงๆ

เรายังต้องมั่นใจ เวลาให้ความเห็นลูกความต้องถือหลักการไว้ให้แม่น เราจะไม่เปลี่ยนหลักการเพียงเพราะหน้าของคนที่เราช่วยเหลือเปลี่ยนไป ต้องไม่หวาดหวั่น (ยิ้ม)

– ก่อนได้รับรางวัลก็อยู่ที่เนเธอร์แลนด์?

ช่วงปีที่ผ่านมาหนักมาก ทางสถานทูตเนเธอร์แลนด์แนะนำว่าองค์กร Justice and Peace มีโปรแกรมดูแลคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกคุกคาม ให้เวลาฟื้นฟูตัวเอง 3 เดือนในเนเธอร์แลนด์ โดยเมืองจะเป็นคนดูแล กรรมการคัดเลือกให้เราไปอยู่เมืองทิลเบิร์ก ซึ่งมีมหาวิทยาลัยทิลเบิร์ก มีคณะกฎหมายมีชื่อเสียงเรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมหาชน

ในแถบประเทศโน้นเขามีระบบสนับสนุนด้านจิตใจ ไม่ใช่ทำงานแล้วเผาตัวเองและหมดไฟไป โดยเฉพาะคนที่ถูกคุกคามจะทำให้เขาออกจากเส้นทางนี้ง่ายมาก มีการอบรมเรื่องความปลอดภัยทางกายภาพ ความมั่นคงทางจิตใจ ความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี และการจัดการความเครียด โดยต้องแลกเปลี่ยนให้ชาวเมืองได้รู้ว่ามีปัญหาอะไรนอกเนเธอร์แลนด์ เพื่อสร้างความตระหนักให้สังคม เราได้ไปเล็กเชอร์นักเรียน ม.ปลายฟัง เขาบอกว่าคิดไม่ออกว่ามีแบบนี้เกิดขึ้นที่ไหนในโลก

เราได้เจอผู้ว่าการเมือง เขาสนใจว่าทำไมมีนักปกป้องสิทธิมาจากเมืองไทย ไม่คิดว่าจะมีปัญหามากขนาดนี้ การที่เราไปทำให้คนตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น

– จากนั้นก็ทราบข่าวว่าได้รางวัล

ไปถึงโน่น 2 อาทิตย์ เขาก็อีเมล์มาบอกว่าเราได้รับรางวัลนี้ ตอนแรกก็งงๆ รางวัลนี้โฟกัสทนายที่ถูกคุกคาม มีคอมเมนต์ของคณะกรรมการบางส่วนบอกว่า มีการทบทวนตลอดว่าการให้รางวัลนี้จะส่งผลกับคนที่ได้รับรางวัลแค่ไหน ถ้าให้คนที่ถูกขังคุกอยู่ยังไงเขาก็ออกมาไม่ได้ เขามองว่าเราเป็นตัวแทนทนายความรุ่นใหม่ มีศักยภาพทำงานต่อได้อีก อีกทั้งยังไม่เคยมีคนจากภูมิภาคนี้ได้รางวัลและเป็นผู้หญิง

น่าสนใจที่งานรับรางวัลจัดโดยสำนักงานกฎหมายที่ใหญ่ติดอันดับโลก ขณะที่ทนายด้านสิทธิมนุษยชนในไทยไม่สามารถเชื่อมต่อกับทนายภาคธุรกิจได้ แต่องค์กร L4L ที่เนเธอร์แลนด์มีสมาชิกจากสำนักงานกฎหมายที่มาทำงานแบบอาสาสมัคร ต้องมีสภาพสังคมแบบไหนที่ทำให้นักกฎหมายทำงานที่เลี้ยงดูตัวเองและทำงานสังคมไปด้วย โดยที่ 1.ไม่ต้องกลัวการถูกคุกคามจากรัฐ 2.ไม่ต้องจนแบบทนายเอ็นจีโอที่ยังถูกตั้งคำถามว่ารับเงินใครมาทำงาน 3.ประวัติการทำงานด้านสังคมจะสนับสนุนในการคัดเลือกผู้พิพากษา เขามองว่าผู้พิพากษาไม่สามารถตัดขาดออกจากสังคมได้ ซึ่งต่างจากบ้านเรา

รางวัลนี้สำคัญมาก เหมือนเราเป็นตัวแทนที่มาจากไทย เป็นทนายความคนรุ่นใหม่ที่ทำงานใต้ระบอบที่เรียกได้ว่าเผด็จการทหาร เขายังถามเลยว่าองค์กรวิชาชีพเราหายไปไหน จนองค์กรวิชาชีพต่างประเทศให้รางวัล กลับมาสถานทูตเนเธอร์แลนด์ในไทยก็จัดงานเลี้ยงต้อนรับให้ กลายเป็นเรื่องพิเศษว่าทำไมคนนอกเชิดชู ขณะที่คนในเงียบมาก เป็นอีกสิ่งที่รางวัลตั้งคำถาม

– นักกฎหมายต่างประเทศพูดถึงสถานการณ์ในไทยอย่างไร?

ตอนแรกที่พิจารณาเขาไม่รู้เลยว่าไทยมีเหตุการณ์แบบนี้ เป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในหน้าสื่อ เขาตกใจว่าเป็นไปได้อย่างไรที่เสมือนไม่มีระบบกฎหมายแล้ว เขาตกใจว่าอำนาจพิเศษอยู่ในมือของคนคนเดียว จนหลักการแบ่งแยกอำนาจไม่เหลือแล้ว คือมาตรา 44

เขาเห็นแล้วตกใจมาก เป็นโครงสร้างที่คนเรียนกฎหมายในประเทศอื่นไม่คิดว่าจะมีอยู่จริง แล้วกลไกต่างๆไม่สามารถคุ้มครองได้ ทนายหรือคนที่เข้ามาทำก็โดนไปด้วย หนึ่งในเหตุผลที่ให้รางวัลเรา เพราะอยากให้เรื่องนี้เป็นที่รับรู้มากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป

– ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร สถานการณ์สิทธิมนุษยชนดีขึ้นไหม หรือต้องรอให้มีรัฐบาลปกติ?

ไม่ได้ดีขึ้น เพราะคำสั่ง ประกาศ กลไกของ คสช.ต่างๆ ยังคงอยู่เหมือนเดิม และพร้อมเอากลับมาใช้เต็มรูปแบบอีกครั้ง เช่นศาลทหารที่ทุกคนคิดว่ายกเลิกไปแล้ว แต่ยังมีคดีดำเนินอยู่ ตอนมีข่าวระเบิด รพ.พระมงกุฎฯ ก็พูดว่าอาจเอาศาลทหารกลับมาใช้อีก พูดได้ง่ายขนาดนี้เพราะรู้ว่าใช้ ม.44 ได้ และเป็นการข่มขู่ประชาชน พอมีเหตุไม่สงบแล้วจะเอากลับมาใช้ สถานการณ์จะเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ถ้ายังไม่สามารถถอนรากถอนโคนที่มาที่ไปของเรื่องพวกนี้ได้ มีคำสั่งที่ 3/58 ทหารยังไปเยี่ยมบ้าน ปรับทัศนคติ เอาคนเข้าค่ายทหารอยู่

ถ้าจะบอกว่ารอดูเลือกตั้งมีความหวังไหม ก็อาจจะมี แต่ต้องใช้ความกล้าหาญมากๆ ของคนที่จะเข้ามาสู่อำนาจและฝ่ายการเมือง เมื่อคุณมีอำนาจจะเข้ามาถอนรากถอนโคนจัดการกับมรดกเผด็จการไหม ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลชุดไหนมีความกล้าหาญที่จะทำอย่างแท้จริง ประกาศคณะปฏิวัติตั้งแต่ 50-70 ปี บางฉบับก็ยังอยู่ ถ้าไม่มีการออก พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งพวกนี้

– แม้จะมีรัฐบาลปกติ แต่ถ้าขุดคดีที่เกิดก่อนประกาศยกเลิกใช้ศาลทหาร ก็ยังต้องขึ้นศาลทหารอยู่?

นี่เป็นประเด็น ตราบใดที่ยังไม่มีการจัดการผลพวงในทางการเมืองหรือนิรโทษกรรมต่างๆ ยังไม่สามารถบอกเป็นรูปธรรมได้ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะก่อนจะยุติพลเรือนขึ้นศาลทหาร มีหมายศาลทหารค้างอยู่ 500 กว่าหมาย แต่ละหมายมีอายุความ 5-20 ปี เป็นคำถามว่าเขาจะจัดการยังไง ไม่สายถ้าจะโอนไปศาลพลเรือน

ศาลทหารถูกนำมาใช้ในบริบทการเมืองที่มีการยึดอำนาจ มาใช้ดำเนินคดีกับประชาชน สถิติที่กรมพระธรรมนูญศาลทหารให้มามีสองพันกว่าคนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร อ้างว่าส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับอาวุธจึงมีความจำเป็น แต่เมื่อดูสถิติคดีอาวุธในศาลพลเรือน จำนวนคดีในแต่ละปีก็ไม่ต่างกันเลย

จึงเรียกร้องว่าถ้าเป็นคดีที่มีมูลจริงๆ ก็โอนมาศาลพลเรือน ให้กลไกปกติดำเนินไป แต่คดีที่เป็นมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเพราะเกิดในบริบทการเมืองที่เอาศาลทหารมาใช้ องค์กรสากลก็เรียกร้องให้ยกเลิกข้อหาพวกนี้ให้หมด และต้องเยียวยาคนที่ถูกตัดสินดำเนินคดีโดยศาลทหาร เพราะถือว่าเขาถูกละเมิดในเรื่องสิทธิและกระบวนการยุติธรรม ควรได้รับการพิจารณาคดีจากศาลที่เหมาะสมและเป็นอิสระ แต่เราจะเห็นสิ่งนี้หลังการเลือกตั้งหรือเปล่า จะมีพรรคการเมืองไหนมาทำจริงๆ

– มองความก้าวหน้าในอาชีพอย่างไร?

ทำงานด้านนี้ไม่ต้องแข่งกับใครเลย (หัวเราะ) ในเส้นทางอาชีพก็คิดว่าตัวเองก้าวไปเรื่อยๆ เริ่มทำงานองค์กรระหว่างประเทศเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ไม่ได้มองแค่องค์ความรู้ แต่มองเรื่องการจัดการ เราจะสร้างพื้นที่ให้ทนายสิทธิรุ่นใหม่อย่างไร ตอนไปเรียนโทเคยเขียนไว้ว่าถ้าได้ทุนแล้วอยากกลับมาทำงานองค์กรของตัวเอง

ทุกวันนี้การตั้งศูนย์ทนายฯ ก็คือความก้าวหน้าที่เดินมาเรื่อยๆ มีน้องๆ หน้าใหม่เข้ามา ศูนย์ทนายฯตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจแต่ไม่ได้หมายความว่าปิดจ๊อบแล้วมันจะสลายไป อาจปรับเปลี่ยนไปอีกรูปแบบหรือขยายตัวไป

เราอาจจะไปอยู่อีกจุดหนึ่ง ไปให้องค์ความรู้ หรือสนับสนุนให้เกิดกลุ่มแบบนี้ได้ มีความก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ และคู่แข่งไม่เยอะ (ยิ้ม) ฝั่งนี้ไม่ต้องแข่งกันหรอก

– ในฐานะนักกฎหมายอยากเห็นอะไรในสังคม?

มองไปที่สังคมนักกฎหมายรุ่นใหม่ เราจะส่งต่ออะไรให้คนที่กำลังจะเข้ามาทำงานตรงนี้ อยากเริ่มในสังคมนักกฎหมาย ไม่ต้องเป็นทนายสิทธิมนุษยชนก็ได้ แต่คนที่อยู่ในระบอบกฎหมาย เป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ก็เคารพและปกป้องสิทธิได้ เราต้องการนิยามคำว่าสิทธิมนุษยชนกับนักกฎหมายให้มันใหม่ เป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม

อีก 10-20 ปี จะเริ่มเป็นคนอีกเจเนอเรชั่น โดยธรรมชาติไม่มีใครกุมเวลาไว้ได้ เราก็ยังต้องมีความหวัง ขอเอาสังคมเล็กๆ นี้ก่อน เพราะเราค้นพบว่านักกฎหมายมีบทบาทอย่างมากที่จะทำให้ดีหรือไม่ดีก็ได้

ดังนั้น อยากทำงานกับคนที่อยู่ในสังคมเดียวกันให้เขามีความหวังก่อน ส่วนสังคมส่วนใหญ่ให้คนอื่นเขาทำบ้าง (หัวเราะ)

“การเรียนการสอน “กฎหมายสิทธิมนุษยชน” สิ่งที่ยังขาดหายในสังคมไทย”

ศิริกาญจน์เล่าว่า ช่วง ม.ปลายเธอได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ 1 ปี และกลับมาเป็นอาสาสมัครช่วงสึนามิ เป็นจุดเริ่มต้นความคิดว่าหากรู้เรื่องกฎหมายจะสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้

แต่ 4 ปีต่อมาในคณะนิติศาสตร์ ก็ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมการเรียนการสอนกฎหมายในมิติสังคมและมนุษย์จึงมีน้อย เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเพียงหัวข้อในวิชาหนึ่งเท่านั้น

หลังสะสมประสบการณ์ทำงานราว 4 ปี ก็ถึงเวลาตกผลึกตัวเองด้วยการเรียนต่อ ป.โท ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัย Essex สหราชอาณาจักร พร้อมกับเจอรูปแบบการเรียนที่ต่างไป

“ทำให้เห็นว่าการเรียนกฎหมายไม่สามารถเรียนแบบแข็งๆ ได้ คุณต้องเชื่อมต่อกับสังคม หลักการแน่นและเอามาปฏิบัติให้ได้”

ศิริกาญจน์บอกว่า ในระบบกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลมีระบบศาลทวีป ยกเว้นในเอเชีย โดยต้องศึกษาระบบใดระบบหนึ่งเพื่อให้รู้ว่าการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนจนทวีปหนึ่งสามารถตั้งศาลขึ้นมาได้มีที่มาที่ไปอย่างไร

“แล้วจะตอบคำถามได้ว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่เรื่องนามธรรม ไม่ใช่เรื่องโลกสวย เพราะอยู่ในระบบกฎหมายของแต่ละที่”

เธอเล่าว่า การเรียนในภาคปฏิบัติจะมีเคสให้ เช่น ถ้าเป็นฝ่ายรัฐจะมีข้อโต้เถียงอย่างไร และมีอดีตผู้พิพากษาศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมานั่งตรวจว่าโต้เถียงแบบนี้เป็นเหตุเป็นผลไหม ทุกอาทิตย์บทบาทสมมุติจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อาจต้องสวมบทคนที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิ ทำให้เข้าใจการโต้เถียงจากฝ่ายต่างๆ

“ตอนแรกเครียดเพราะไม่ใช่สไตล์การเรียนแบบในไทย แต่พอโดนหนักๆ ก็เข้าใจว่าการเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะด้านกฎหมายยังมีอะไรอีกมากมาย ในไทยการศึกษาสิทธิมนุษยชนจะอยู่ในแนวทางสังคม เช่น ด้านสันติวิธี ยึดโยงกับภาคประชาสังคม ไม่ใช้ความรุนแรง แต่กฎหมายไม่ไปด้วยกัน

“การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ อยากให้นักศึกษากฎหมาย-ทนายความรุ่นใหม่ได้เห็นว่า จริงๆ แล้วกฎหมายสิทธิมนุษยชนสนุกนะ แต่ระบบบ้านเรายังไม่ได้เอาเข้ามามากนัก เป็นหน้าที่เราที่จะต้องทำการศึกษาและเผยแพร่สังคมให้ไปด้วยกัน” เธอจบประโยคด้วยรอยยิ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image