“ริบเงินดาวน์” ผู้บริโภครู้แล้วจะหนาว คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน บ้าน

แฟ้มภาพ

วันนี้หัวข้อชวนเพลียหัวใจ ว่าด้วยการริบเงินดาวน์ค่ะ

ก่อนอื่นตั้งกติกาว่าคงไม่หยิบข้อมูลวิชาการหรือหยิบกฎหมายหนักๆ มาพูดกัน แต่จะชวนคุยแบบเน้นๆ เกี่ยวกับปรากฏการณ์บ้าน-คอนโดมิเนียม

เขาสร้างเสร็จแล้วเราไม่อยากรับโอน จะเกิดอะไรขึ้น

คุณแฟนคลับทราบหรือไม่ เรื่องนี้ไปทำการบ้านมาให้ กว่าจะแคะออกมาได้ใช้เวลาตะล่อมถามเกือบครึ่งปี ดีเวลลอปเปอร์ทั่นไม่ค่อยอยากแชร์เรื่อง

แบบนี้อ่ะค่ะ

Advertisement

เรื่องของเรื่องมีแหล่งข่าวสายเมาธ์มอยมากระซิบข้างหูว่าเวลาเศรษฐกิจไม่ดี คนเราก็หูอื้อ ตาลาย เดิมเคยขอโน่นขอนี่เล็กๆ น้อยๆ มักจะหยวนๆ ตอนนี้อย่าได้มาเจ๊าะแจ๊ะเชียวเพราะบาทเดียวฉันก็ไม่อยากกระเด็นเหมือนกัน

ลือกันหนักข้อถึงขนาดว่ามีบางบริษัทใช้นโยบายเข้มงวดให้ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขาย ถ้าผ่อนดาวน์แล้วถึงเวลาสร้างเสร็จลูกค้าไม่รับโอนก็ต้องถูกริบเงินดาวน์ไปตามระเบียบ

รายได้แค่บริษัทเดียวปาเข้าไป 300 ล้านบาทกันเลยทีเดียว

Advertisement

ในใจก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่อย่างน้อยแสดงให้เห็นถึงดีกรีว่าลูกค้าเบี้ยวรับโอนกรรมสิทธิ์กันเยอะ ถึงได้มีตัวเลขสายเมาธ์ออกมาสูงขนาดนี้

เอ๊ะ ทำไมน้ำเสียงเหมือนคนขี้บ่นเข้าไปทุกที กลับมาเข้าเรื่องกันดีกว่า มีคนบอกว่าเศรษฐกิจฝืด ซื้อบ้านซื้อคอนโดฯตากหน้าไปขอกู้แบงก์ดันมาเจอเข้มงวดการพิจารณาสินเชื่อ

คนไทยคุ้นเคยกับคำว่ารีเจ็กต์เรตหรือยอดปฏิเสธสินเชื่อในช่วง 2-3 ปีมานี้เอง เคยมี 20-30% เวลาฝืดมากๆ ขอกู้ 100 คนแบงก์ปล่อยเงินให้แค่ 50-60 คนก็มี

หมายความว่ายอดปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 40-50% โอวว์ บุดด้า

แท้ที่จริงแล้วการปฏิเสธให้สินเชื่อเป็นเรื่องปกติ มีทุกแบงก์ เพียงแต่เหตุการณ์ไม่ปกติคือแบงก์ไม่ยอมปล่อยกู้สูงมาก ส่วนใหญ่ลูกค้ามักใช้เป็นเหตุผลในการขอยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกับโครงการซะด้วยสิ

สมัยสาวๆ เอิ่ม หมายถึงสมัยก่อนหน้านี้ในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟูๆ เดินเข้าแบงก์กรอกใบขอกู้แล้วนั่งรอก้นยังไม่ทันร้อนเลย สินเชื่อก็อนุมัติมาให้แล้ว กู้ง่ายขายคล่องจึงมักได้ยินกันว่าถ้ากู้ไม่ผ่านยินดีคืนเงิน บางบริษัทหยิบขึ้นมาโฆษณาเป็นเรื่องเป็นราว

อย่างไรก็ตาม ช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า โดยเฉพาะปี 2558-2559 คนซื้อบ้านกู้ไม่ผ่านเยอะม้าก หลายบริษัทจึงพร้อมใจกันทำโดยมิได้นัดหมาย ด้วยการใช้สัญญามาตรฐานเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

นั่นคือ ถ้าตกลงทำสัญญาซื้อขายแล้ว ระบุไว้อย่างไรต้องทำตามนั้นทุกประการ ถ้าระบุว่าผ่อนดาวน์แล้วถึงเวลาสร้างเสร็จ ถ้าไม่รับโอนจะต้องถูกริบเงินดาวน์

ในฐานะสื่อมวลชนสิ่งที่ทำมาตลอดคือพิทักษ์ผลประโยชน์ผู้บริโภค ประเด็นการริบเงินดาวน์ได้มีการต่อว่าผู้ประกอบการไปเหมือนกันว่าทำไมใจร้ายจัง ไปริบทำไม

คำอธิบายคือพฤติกรรมการไม่รับโอนอสังหา

ริมทรัพย์เริ่มทวีความรุนแรงจนทำให้ผู้ประกอบการเข้าขั้นวิกฤตมากขึ้นทุกวัน

เมื่อเอกซเรย์ปัญหาดู เขาเรียงลำดับมาให้ ดังนี้

ปัญหาใหญ่อันดับแรก “ซื้อเก็งกำไร” เป็นกลุ่มที่สังคมรังเกียจ เอ๊ย! ผู้ประกอบการรังเกียจมาก เพราะมีโอกาสทิ้งดาวน์ทิ้งจองสูงที่สุด กะว่าไปจองและดาวน์สัก 10% ถึงเวลาขายต่อก่อนโอน ได้กำไรเหนาะๆ

5 หมื่น 1 แสนก็ว่าไป

ตอนนี้หลายอย่างมันฟ้องว่าธุรกิจเก็งกำไรไม่ได้หอมหวานอย่างที่คิด บ่อยครั้งที่ต้องผ่อนเงินดาวน์จนอสังหาสร้างเสร็จ ถึงเวลารับโอนจึงงัดไม้ตาย ยื้อโน่นยื้อนี่ ตรวจรับมอบบ้านไม่ผ่านสักที

สุดท้าย ยื้อจนไม่รู้จะยื้อยังไงแล้วก็ยังขายต่อฟันกำไรไม่ได้ ใช้วิธีหันหน้ากลับมาหาผู้ประกอบการขอเงินดาวน์คืนดื้อๆ นี่แหละ

ปัญหาอันดับต่อมา “วินัยการเงิน” มีบางอย่างที่

ผู้บริโภคอาจไม่รู้ว่าเวลาเราขอสินเชื่อ ถ้าแบงก์อนุมัติมาให้มันก็มีอายุของมัน น่าจะ 3 เดือนกระมัง

หมายความว่ายื่นขอกู้แล้วได้รับอนุมัติวันที่ 1 สิงหาคม อายุสินเชื่อของเราจะหมดลงหากยังไม่ไปทำสัญญากู้ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้น

ดังนั้น จึงมีผู้บริโภคบางส่วนเข้ารกเข้าพง พอกู้ซื้ออสังหาผ่านแต่ยังไม่ไปถอนเงินจากแบงก์ก็พากันไปก่อหนี้เพิ่มในระหว่างทาง ทั้งหนี้บัตรเครดิต หนี้รถ

จิปาถะ

พอถึงตอนจะโอนจริงๆ อ้าว! เครดิตเต็มซะแล้ว ซื้ออสังหาไม่ได้แล้ว

ปัญหาที่เหลือน่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พอแก้ไขได้ เช่น ซื้ออสังหาเกินตัว มีรายได้ซื้อบ้านหลังละไม่เกิน 2 ล้าน แต่ดันผ่าไปซื้อหลังละ 5 ล้าน วิธีแก้ก็หาอสังหาไซซ์เล็กลงในโครงการเดียวกัน

บางครั้งและอาจจะบ่อยครั้ง ผู้ประกอบการเขาใช้วิธีเก็บเงินดาวน์ไว้กับบริษัทนี่แหละ ไม่ยอมคืนให้หรอกและเก็บอสังหาแปลงที่อยากได้ให้เวลาอีกสัก

3 เดือน 6 เดือน ลูกค้าต้องกลับไปปรับปรุงเครดิตตัวเอง

กู้แบงก์ได้เมื่อไหร่ค่อยมานัดโอนกันอีกที

ประเภทอสังหาที่พบปัญหาถูกริบเงินดาวน์มากที่สุดคือคอนโดฯเพราะมีการเก็งกำไรกันเยอะ ส่วนบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์มักจะซื้อเพื่ออยู่จริงๆ จองและผ่อนดาวน์แล้วส่วนใหญ่รับโอนกันทั้งนั้น

กรณีซื้อบ้านมีเหมือนกันที่ขอคืนเงินดาวน์ สารพัดเหตุผลพ่อตาป่วยแม่ยายเป็นริดสีดวง ถูกลดเงินเดือน เลิกกับแฟน น้องเมียเบื่ออาหาร ฯลฯ

กรณีแบบนี้ทางผู้ประกอบการเขาบอกว่ามารู้ทีหลังว่าไปเจอโครงการอื่นแล้วอยากได้มากกว่า ก็เลยมาขอคืนเงินดาวน์โครงการเดิม

คราวนี้เส้นแบ่งคนเดือดร้อนจริงกับเดือดร้อนปลอมเริ่มแยกไม่ออกแล้ว บริษัทก็เลยงัดกลยุทธ์ใช้สัญญามาตรฐานเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันเป็นแถว

คำแนะนำสำหรับคุณแฟนคลับที่กำลังคิดจะซื้ออสังหาหรืออยู่ระหว่างผ่อนดาวน์ ได้โปรดอ่านสัญญาจะซื้อจะขายให้ละเอียดยิบ อ่านหลายๆ รอบ เขาเซตมาตรฐานการริบเงินดาวน์ไว้ยังไง

เคล็ดลับไม่มีอะไรมาก ฝึกฝนเป็นผู้บริโภคมืออาชีพ ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image