20 ข้อคิดจาก “ซุปเปอร์ซีอีโอ” คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

วีกก่อนมีโอกาสไปนั่งเป็นเด็กหลังห้องในคลาส ACTs (AIS Creative Talens) ของเอไอเอส

ยักษ์มือถืออันดับหนึ่งของเมืองไทย เปิดหลักสูตรนี้ขึ้นมาเพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสเปิดมุมมองและเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่จากความสำเร็จ และล้มเหลวของผู้รู้ในแวดวงต่างๆ เพื่อเป็นการเตรียมคนในองค์กรให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น ที่อะไรๆ ก็เร็วไปหมดทำให้คนยิ่งต้องปรับเปลี่ยนตนเอง และก้าวข้ามความเคยชินเดิมๆ ให้ได้ด้วยสปีดที่เร็ว

พูดถึงเรื่องเทคโนโลยี แม้ “เอไอเอส” น่าจะเป็นองค์กรที่มีบุคลากรที่มีความรู้เรื่องนี้ และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัลมากที่สุดแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถอยู่เฉยๆ ได้ เพราะความสำเร็จแบบเดิมไม่สามารถการันตีความสำเร็จในอนาคตได้อีกต่อไป

ไม่เฉพาะเอไอเอส องค์กรธุรกิจต่างๆ ในปัจจุบันต่างให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรับมือ “ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น” ทั้งนั้น

มากกว่าเทคโนโลยี คือ “คน” จะสำเร็จหรือล้มเหลวล้วนอยู่ที่ “คน”

Advertisement

หนึ่งในวิทยากรในคลาส ACTs ครั้งนี้ ไม่ใช่อื่นไกล เป็น “คุณบุญคลี ปลั่งศิริ” อดีตซีอีโอกลุ่มชิน

โดยส่วนตัวสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสฟังคุณบุญคลีพูดหลายครั้ง และสิ่งที่รู้สึกทุกครั้งไม่เคยเปลี่ยน คือการได้ความรู้ใหม่ๆ เสมอ บ่ายวันนั้นแม้อยู่ฟังไม่จบแต่จดชอร์ตโน้ตสรุปความออกมาได้ 20 ข้อ ดังนี้

1.การคิดนอกกรอบได้ จะต้องรู้ก่อนว่า ?กรอบ? คืออะไร นอกกรอบคือ “การที่เรามีกรอบของเราที่ใหญ่กว่าคนอื่นเพียงแต่เขามองไม่เห็น”

Advertisement

2.เรื่องการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจไหน เหมือนกับการขับรถ “ถ้าคุณขับรถเป็นแล้ว จะเป็นรถแท็กซี่ รถแทร็กเตอร์ รถอะไรก็ขับได้” เหมือน “ทฤษฎีบริหาร” อยู่ในธุรกิจไหนพื้นฐานไม่ต่างกัน

“ถ้าคุณไม่ยึดหลักการ คุณก็จะทำได้แต่ธุรกิจเล็กๆ เช่น เปิดร้านก๋วยเตี๋ยว”

3.วิชั่นหรือกลยุทธ์ เปรียบได้กับ “ทางเลือก” คนขยันจะคิดทางเลือกอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะในเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว ให้ฝึกคิดทางเลือกไว้หลายๆ ทาง อย่ามี “โซลูชั่นเดียว”

คุณบุญคลีย้ำว่า “ชีวิตนี้อย่าทำให้ตนเองอยู่ในสถานะที่ต้องเข้ามุม เพราะถ้าคุณจนมุมเมื่อไร คุณจะเป็นผู้ถูกเลือกทันที ดังนั้น คุณต้องออกมาจากมุม”

4.เวลารับคนทำงานมา การสัมภาษณ์เพียงแค่ชั่วโมงเดียว ไม่มีทางรู้หรอกว่า “คนนี้ใช่หรือไม่ใช่” ในทฤษฎีบริหารถึงมี “โปรเวชั่น” ซึ่งวินวินทั้งสองฝ่าย และถ้าเลือกมาแล้ว ไม่ใช่อย่าไปดันทุรัง แต่สิ่งสำคัญคือ ต้อง “ให้โอกาส”

“ผู้นำที่ดีต้องให้โอกาส เพราะโอกาส เป็นของขวัญที่เราให้ได้ด้วยต้นทุนต่ำที่สุด ถ้าให้โอกาสแล้วเทิร์นได้ เขาจะไปได้ไกล และความภักดีจะตามมา”

5.การเปลี่ยนแปลงที่แรงที่สุดในองค์กร คือการ “ปรับโครงสร้างองค์กร”

“กลยุทธ์ที่ถูกต้องอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีโครงสร้างที่ถูกต้องด้วย มี Strategy แล้ว ต้องมี structure ที่เหมาะสมด้วยถึงจะทำงานได้”

6.องค์กรส่วนใหญ่ขาดคนที่เป็น “สถาปนิก” เมื่อผู้นำมีวิสัยทัศน์ จะลงมือทำออกมาได้ ต้องมีคนเขียนแบบ ถอดแบบออกมาก่อน

“ปัญหาขององค์กรส่วนใหญ่ที่พบคือ เมื่อผู้บริหารมีวิชั่นจะส่งต่อให้ผู้รับเหมาเลย ในแต่ละองค์กรควรหาคนพันธุ์สถาปนิก”

7.นายมีหลายแบบ บางแบบ มีวิชั่นมาปุ๊บจะผ่องลงข้างล่าง ให้ผู้รับเหมาจัดการเลย แบบนี้จะทำให้ทีมงานข้างล่างปวดหัว เพราะงานเก่ายังไม่เสร็จงานใหม่มาอีกแล้ว

ดังนั้น ถ้าคุณเป็น “ผู้นำ” คุณต้องเป็นคนให้คิวงาน ต้องเป็นคนบอกว่า ลำดับความสำคัญอยู่ตรงไหน เพราะถ้ารับมาแล้วปล่อยไปเลย คุณก็เป็นได้แค่ “แมสเซนเจอร์”

“คนที่รับมาแล้วผ่องต่อได้เลย มีแค่ ?เจ้าของ? แต่ถ้าคุณเป็นมืออาชีพ จะโดนท้าทายโดยลูกน้องทันที”

8.เวลาสั่งงานลูกน้องให้ถามเขาก่อนว่า เขากำลังทำอะไรอยู่ ถ้าทำแบบนี้จะเรียกว่าเป็น “นักจัดการ”

9.การปล่อยงานไปแล้ว ต้องไปตามดูด้วยเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเขาทำผิดก็จะได้บอกได้แนะนำ ถ้าทำแบบนี้ได้จะเรียกว่า “เอาใจใส่” เรื่องการบริหาร ไม่มีทฤษฎีตายตัว งานเป็นเรื่อง “หมู” แต่ที่ไม่หมู คือ เรื่อง “คน”

10.เรื่องคำพูด คำ “ต่อว่า คำสอน คำเตือน” เป็น “คำ” เดียวกัน ขึ้นอยู่กับโทนเสียง และภาษาที่ใช้

11.ผู้นำที่ดี trust คือสิ่งที่คุณต้องสร้าง และพวกนี้ต้องทำต่อเนื่อง และคุณต้องรู้ว่าจุดแข็งตัวเองคืออะไร

12.ประสบการณ์ต้องผ่านกระบวนการ “คิด” ถึงจะเป็น “องค์ความรู้” เพราะจะถูกจัดลำดับชั้น

“ชีวิตเรามีค่า หรือไม่มีค่า อยู่ตรงได้ใช้ความคิดกลั่นกรองประสบการณ์ให้เป็นองค์ความรู้” และใช้ได้กับทุกเรื่อง ไม่ว่าจะงานหรือชีวิต บางอย่างถ้าเป็น “ขยะ” ก็ให้ทิ้งไป

13.คนมีหัวหน้าดีชนะไปกว่าครึ่ง แต่หัวหน้ามีหลายแบบ ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้จากเขาว่า จุดแข็งเขาคืออะไร ถ้าเขาเป็นวิศวกร คุณก็ต้องมีสเต็ป 1-2-3-4 ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

14.เทคโนโลยี “ดิสรัป” เร็ว และแรงกว่าที่ใครจะคิดได้ และที่ทำให้เปลี่ยนแปลงที่สุดโดยไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิมได้อีก คือ “ผู้บริโภค” เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกธุรกิจต้องเปลี่ยน

“อำนาจของคอนซูเมอร์ในทุกวันนี้ใหญ่มาก เขา

(ผู้บริโภค) เปลี่ยนไปหมดแล้วและไม่มีวันเหมือนเดิม”

15. “ดิสรัปชั่น” จะมาแทนของเก่า แต่ “อินโนเวชั่น” คือสิ่งใหม่

16.การตลาดเป็นเรื่อง “ซับเจ็กทีฟ”

17.องค์กรที่สร้างสรรค์ต้องมี room for mistake “ทำผิดไม่เป็นไร แต่ห้ามทำชั่ว”

18.องค์กรยุคใหม่ต้องเป็น happy working place เพราะคนสมัยนี้ทำงานไม่ดึก หกโมงเย็นก็ให้กลับบ้านได้แล้ว เพราะอยู่ดึกไป productive ไม่เกิด อย่าลืมว่า “วันนี้เป็นโลกคนรุ่นใหม่”

19.ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คนทำงานในองค์กรส่วนใหญ่จะไม่เป็น “ฟูลไทม์จ๊อบ” แต่จะเป็น “โปรเจ็กต์เบสต์”

ทำงานเป็นจ๊อบๆ หลายคนมีงานมากกว่าหนึ่ง

20.ถ้าเป็นผู้บริหาร ต้องมีความรู้เรื่องบัญชี และต้องรู้โครงสร้างของ capital structure แต่สุดท้ายสิ่งที่ยากที่สุด ก็ยังเป็นเรื่องการบริหาร “คน”

“เราจะวัดคนเก่งในองค์กรอย่างไร โดยเฉพาะในองค์กรสมัยใหม่ ให้ดูที่ความสามารถในการเรียนรู้ หรือ learning ability”

คุณบุญคลีย้ำทิ้งท้ายว่า คุณค่าของ “คน” อยู่ที่ความเร็วในการเรียนรู้ หรือ Learning of Speed เพราะทุกคนมีเวลาเท่ากัน ดังนั้น จึงต้องฝึกพัฒนาตนเอง แต่ต้องอย่าลืมที่จัดสมดุลชีวิต รู้จักแบ่งเวลา และมีวินัยเสมอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image