แพทย์ขอความเห็นใจ!เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอกแตกเป็นโรครุนแรงเกินความสามารถ พบเพียง 5 คนใน 1 ล้าน

แพทย์วอนขอความเห็นใจ! เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอกแตก เป็นโรครุนแรงเกินความสามารถ กำเริบตายใน 3-5 นาที พบเพียง 5 คนใน 1 ล้าน

จากกรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Nu-sajee Kornrawee” ได้มีการโพสรูปและข้อความเผยแพร่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ถึงผู้ป่วยเป็นเด็กชายเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงมารักษาตัวที่ ร.พ.พระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี และต้องรอเพื่อเข้ารับการรักษานาน จนผู้ป่วยมีอาการช๊อกและเสียชีวิต เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างตามที่เสนอไปแล้วนั้น (คลิกอ่าน)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวลา 13.30 น.วันที่ 22 กรกฏาคม นพ.ประจักษ์ วัฒนะกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี นพ.สาธิต รัตนศรีทอง ผอ.รพ.พระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี แถลงข่าวขี้แจงกรณีดังกล่าว ต่อสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

นพ.สาธิต กล่าวว่า กรณีที่ญาติผู้ตายระบุว่าแพทย์พยาบาล มีการดำเนินการล่าช้านั้น ขอชี้แจงว่า ผู้ป่วยถูกส่งตัวมาจาก ร.พ.ชะอำ ถึง รพ.พระจอมเกล้าฯ เวลา13.30 น. เข้าตรวจที่แผนกอายุรกรรม ต่อมาเวลา 14.04 แพทย์ส่ง x-ray เวลา 14.30 ได้ฟิล์ม ส่งให้แพทย์วินิจฉัย ระหว่างรอผลเด็กเป็นลมหมอทำการเจาะเลือด ปฐมพยาบาล เวลา 14.45 ส่งมายังห้องฉุกเฉิน ความดันตกแพทย์ทำการตรวจให้น้ำเกลือเจาะเลือดจากนั้น เข้า ct scan ตรวจคลื่นหัวใจ และทำการ ct scan ซ้ำ เนื่องจากมีอาการผิดปกติ

Advertisement

เบื้องต้นแพทย์สงสัยเป็นเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอกแตก (Rupture TAA – Thoracic Aortic Aneurysm) ซึ่งเกินกว่าระดับการรักษาของ รพ.พระจอมเกล้า จึงประสานเตรียมส่งตัวไปรักษาต่อแต่ปรากฏผู้ป่วยเริ่มกระสับกระส่าย ชีพจรหยุดเต้น แพทย์ทำการปั้มหัวใจ ให้เลือด แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตได้ เสียชีวิต 16.38 ด้วยอาการเส้นเลือดใหญ่ในช่วงอกแตก

“ช่วงห่างของเวลาเป็นช่วงที่รอฟิล์ม x-ray และช่วงแพทย์ต้องวินิจฉัย ยืนยันว่าแพทย์พยาบาลทำอย่างเต็มที่แล้ว ขอแสดงความเสียใจกับญาติด้วยความจริงใจแต่กรณีนี้ผู้ป่วยเป็นโรคที่รุนแรง เกินระดับความสามารถในการรักษาของ รพ.พระจอมเกล้าฯ มาก” นพ.สาธิตกล่าว

ด้าน นพ.ประจักษ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบผู้ป่วยเสียชีวิตจากเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอกแตก ซึ่งโรคดังกล่าว เป็นโรคที่มีความรุนแรงอย่างมาก พบได้น้อย จากสถิติพบผู้ป่วยมีอาการนี้ในอัตรา 5 คน จาก 1,000,000 คน และส่วนใหญ่จะพบได้ในวัย 40-70 ปี สมมุติฐานเบื้องต้นของโรคก็ทำได้ยาก ต้องใช้เครื่องมือ ct scan หรือการ x-ray คอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวจึงจะทราบได้ โรคนี้รักษายากในพื้นที่นี้มีเพียง รพ.ศิริราช ได้เพียงแห่งเดียว ที่สำคัญเมื่ออาการกำเริบรุนแรงจะมีเวลาเพียง 3-5 นาที ในการรักษาเท่านั้น ขณะที่แพทย์ รพ.จอมเกล้าฯพบผู้ป่วยก็เกิดอาการกำเริบสูงสุดกะทันหันจึงไม่สามารถส่งตัวรักษาได้ทัน

Advertisement

“ ขอแสดงความเสียใจ กับครอบครัวของน้องนิว เราพยายามเต็มที่แล้ว แต่เกินระดับความสามารถของแพทย์ และพยาบาลของโรงพยาบาลจริงๆ ส่วนการเยียวยาจะประชุมกับส่วนที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถดำเนินการได้เช่นไรบ้าง และจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่” นพ.ประจักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image