คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ‘หลิว เสี่ยวปอ’ สันตินิรันดร์กาล

REUTERS/Jason Reed

“หลิว เสี่ยวปอ” เป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพที่โลกรู้จักน้อยที่สุด อย่าว่าแต่คนไทยเลย แม้ชาวจีนทั่วประเทศยังรู้จักมักคุ้นเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2010 รายนี้น้อยยิ่งกว่าน้อย เนื่องเพราะหลิว เสี่ยวปอ ได้รับรางวัลนี้ขณะถูกจองจำในข้อหาฉกรรจ์จากทางการจีน และไม่ได้กลับคืนสู่สภาพเสรีชนอีกเลยจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เมื่อไม่รู้จัก ย่อมยากต่อการทำความเข้าใจ ชวนให้คิดกันว่า การตัดสินใจมอบรางวัลแห่งสันติระดับโลกแก่เขาเป็นเรื่องของการตัดสินใจทางการเมืองมากกว่าข้อเท็จจริง

กระนั้น ผู้ที่ติดตามและทำความเข้าใจทั้งในตัวและในความคิดของหลิว เสี่ยวปอ เท่าที่สภาวะการณ์อำนวยให้ ยืนยันเหมือนๆกันว่า หลิว เสี่ยวปอ ไม่เพียงใฝ่หา แต่ยังยึดมั่น ดำรงตนอยู่ในแนวทางสันติ ตราบจนชีวิตหาไม่

หลิว เสี่ยวปอ เป็นนักวิชาการด้านปรัชญาและวรรณกรรม ชาวเมืองฉางชุน มณฑลจี้หลิน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เกิดเมื่อ 28 ธันวาคมปี 1955 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จาก เป่ยจิง นอร์มอล ยูนิเวอร์ซิตี ในกรุงปักกิ่ง

Advertisement

ตอนที่ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในจีนที่รู้จักกันในเวลาต่อมาในชื่อ “เทียนอันเหมิน มูฟเมนท์” เริ่มต้นขึ้นในปี 1989 นั้น หลิว ทำหน้าที่เป็นศาสตราจารย์รับเชิญอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย สหรัฐอเมริกา
เขาบินกลับจีนในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้น และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมประท้วงซึ่งได้ชื่อว่าเป็น การท้าทายพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ได้อำนาจมาในปี 1949
และเป็นเหตุการณ์ที่ส่งอิทธิพลและจำหลักอยู่ในชีวิต หลิว เสี่ยวปอ จนตลอดทั้งชีวิต

4 มิถุนายน วันที่เลือดนองจัตุรัสเทียนอันเหมิน หลิวกับพวกกลุ่มหนึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นคนช่วยชีวิตผู้ประท้วงสองสามร้อยคน ด้วยการต่อรองกับทหารจนยอมเปิดทางคนเหล่านั้นให้เลิกรา ออกจากที่ประท้วงโดยสงบ ในขณะที่เจ้าตัวปฏิเสธข้อเสนอให้ลี้ภัยจากทางการออสเตรเลีย เลือกที่จะอยู่ในจีนต่อไปและถูกจับกุมในเวลาต่อมาในข้อหา “ยุยงและโฆษณาชวนเชื่อเนื้อหาอันเป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติ”

ปี 1991 เมื่อเป็นอิสระจากเรือนจำ หลิว เริ่มการรณรงค์อีกครั้ง คราวนี้เพื่ออิสรภาพของบรรดาเพื่อนจากขบวนการเทียนอันเหมินที่ยังคงอยู่ในคุก ส่งผลให้ถูกจับกุมอีกครั้ง ถูกพิพากษาโทษจำคุก 3 ปีในค่ายใช้แรงงาน
ระหว่างยังถูกจำขัง หลิวแต่งงานกับศิลปินและกวี “หลิว เสีย” ในปี 1996 บนพื้นฐานของความรักที่ หลิว เสี่ยวปอ บอกว่า “ไร้ขอบเขต”

Advertisement

เมื่อครบกำหนดจำคุก หลิว ยังคงเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆที่ทางการห้ามสอน ห้ามจำหน่ายหนังสือของเขาเด็ดขาด

ปี 2008 หลิวกับเพื่อนปัญญาชนและนักวิชาการ ช่วยกันร่าง “คำประกาศประชาธิปไตยแห่งจีน” ที่รู้จักกันในเวลาต่อมาในชื่อ “ชาร์เตอร์ 08” นำไปสู่การจับกุมคุมขังครั้งสุดท้าย ที่ยาวนานที่สุด เมื่อถูกพิพากษาจำคุก 11 ปีในเดือนธันวาคมปี 2009

ทางการจีนแถลงเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่าเขาป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย
หลิว เสี่ยวปอ เสียชีวิตในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา

 

 

โดยสัมมาชีพ หลิว เสี่ยวปอ เป็นอาจารย์และนักวิจารณ์วรรณกรรมที่เป็นที่ยอมรับกันในจีนทศวรรษ 1980 จึงช่วยไม่ได้ที่ทำให้จำเป็นต้องตรวจสอบและวิพากษ์สังคมไปด้วยในตัว เหตุการณ์เทียนอันเหมิน ไม่เพียงทำให้ หลิว มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนสังคมจีนมากขึ้นเท่านั้น ยังเป็นเหตุการณ์ที่ส่งอิทธิพลต่อตัวหลิวเองอย่างมากมายและลึกซึ้ง

เทียนอันเหมิน ไม่เพียงทำให้ทัศนะของหลิว เสี่ยวปอ แหลมคมขึ้นเท่านั้น ยังมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยวมากขึ้นอีกด้วย
2 มิถุนายน 1989 เพียง 2 วันก่อนหน้าเหตุนองเลือด หลิว กับเพื่ออีก 3 คน อดอาหารประท้วงทางการ ประกาศเหตุผลไว้ว่า

“เราเรียกร้อง สนับสนุนการแพร่กระจายประชาธิปไตยในจีนผ่านทางวิถีของสันติ และเราคัดค้านความรุนแรงไม่ว่าจะในรูปแบบใด

“ในเวลาเดียวกัน เราไม่ได้หวั่นกลัวความรุนแรงเหล่านั้น วัตถุประสงค์ของเราก็เพื่อแสดงผ่านวิธีการอันเป็นสันติให้เห็นว่า ความเด็ดเดี่ยวมั่นคงประดุจเหล็กของประชาชนจีนซึ่งต้องการประชาธิปไตยนั้น ในที่สุดก็จะทำลายระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยซึ่งดำรงตนอยู่ได้ด้วยดาบหอกและคำมดเท็จ”

ในปี 2010 เมื่อได้รับทราบว่าถูกเลือกให้รับรางวัลโนเบลสันติภาพจากภรรยาที่เดินทางมาเยี่ยมถึงเรือนจำ หลิว เสี่ยวปอ รำไห้ กล่าวคำอุทิศทั้งน้ำตา มอบรางวัลนี้ให้กับชาวจีนที่ถูกสังหารในเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียน อันเหมิน หลายร้อยหรืออาจจะเป็นหลายพันคน

หลิว เสี่ยวปอ ยอมรับเอาไว้ในความเรียงเมื่อปี 2003 เทียนอันเหมินทำให้เขามีจุดมุ่งหมายในการใช้ชีวิตก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันก็กลายเป็น “สำนึกแห่งความผิด” ที่ติดตัวมายาวนาน

“เลือดที่นองยามอรุณเมื่อ 1989 นั้น…แสดงให้ผมได้ตระหนักว่าผมยังเป็นคนคับแคบและยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางมากมายเพียงใด (เหตุการณ์นั้น) สอนให้ผมได้ตระหนักถึงความอบอุ่นและความเข้มแข็งในทีของความรัก และหยิบยื่นคุณค่าใหม่ให้ผมได้รู้ว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต

“ผมรู้นับตั้งแต่นาทีนั้นเป็นต้นมาว่า ผมจำต้องใช้ชีวิตอยู่กับความผิดของการเป็นผู้รอดชีวิต และคารวะ ยำเกรงต่อจิตวิญญาณของผู้สูญเสียไปชั่วนิรันดร์”

ข้อสังเกตก็คือ ไม่มีแม้แต่เพียงคำเดียวของหลิว ที่สะท้อนหรือส่อนัยถึงความชิงชังรังเกียจ และความกราดเกรี้ยวต่อใครผู้ใดผู้หนึ่งในฐานะ “ศัตรู”

 

 

ความเปลี่ยนแปลงที่เหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมินก่อให้เกิดกับ หลิว เสี่ยวปอ นั้นมหาศาลและลึกซึ้งอย่างยิ่ง ชนิดที่สามารถหล่อหลอม “อุดมการและความใฝ่ฝัน” ที่เคยมีก่อนหน้านั้น ให้กลายเป็นรูปธรรม และแนวทางปฏิบัติ ที่ผ่านการใคร่ครวญ ไตร่ตรองครั้งแล้วครั้งเล่า

ผลึกทางความคิดและทิศทางถึงที่สุดของ หลิว เสี่ยวปอ สะท้อนชัดเจนออกมาให้เห็นใน “ชาร์เตอร์ 08” คำประกาศแห่งประชาธิปไตย ที่ถึงแม้จะร่วมกันทำหลายคน แต่ผู้ที่เป็นพลังหลักก็คือหลิวนั่นเอง
ตอนหนึ่งของ “ชาร์เตอร์ 08” ปรารภไว้ดังนี้

“จีน ในฐานะที่เป็นชาติสำคัญชาติหนึ่งของโลก เป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรแห่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเป็นหนึ่งในสมาชิกของ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ควรอุทิศตนเพื่อส่งเสริมให้เกิดสันติเพื่อมนุษยชาติ และยังความรุดหน้าให้เกิดขึ้นกับสิทธิมนุษยชน

“โชคไม่ดี ณ จุดที่เรายืนอยู่ทุกวันนี้ เราคือประเทศเพียงประเทศเดียวในบรรดาชาติสำคัญๆทั้งหลาย ที่ยังคงติดอยู่ในหล่มของการเมืองอำนาจนิยม

“ระบบการเมืองของเรายังคงผลิตหายนะแห่งสิทธิมนุษยชนและวิกฤตการณ์ทางสังคมขึ้นเนืองๆ ดังนั้น จึงไม่เพียงกลายเป็นการกีดกั้นพัฒนาการของจีนเองเท่านั้น แต่ยังคงจำกัดความรุดหน้าของอารยธรรมแห่งมวลมนุษยชาติอีกด้วย

“สิ่งนี้จำเป็นต้องเปลี่ยน โดยสัจจะแล้วต้องเปลี่ยน การวิวัฒน์ไปสู่ประชาธิปไตยทางการเมืองจีน ไม่สามารถเลื่อนเวลาออกไปได้อีกแล้ว”

2 วันก่อนหน้าที่ ชาร์เตอร์ 08 กำหนดจะเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ หลิว ถูกจับกุม ถูกคุมขังโดยปราศจากการไต่สวน พิจารณาคดีอยู่นานถึง 1 ปี ภายใต้การกำกับอย่างเข้มงวดห้ามเยี่ยมแม้ญาติสนิท จึงมีการไต่สวนพิจารณาคดี และในวันคริสตมาส ปี 2009 จึงถูกพิพากษาจำคุกอย่างเป็นทางการ 11 ปี ในข้อหา “ยุยงให้บ่อนทำลายอำนาจรัฐ”

ระหว่างช่วงเวลาจำขังครั้งสุดท้าย หลิว ปฏิเสธหลายครั้งที่จะใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรีนอกประเทศจีน ที่ทางการหยิบยื่นให้ ครั้งหลังสุดคือเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อหลิวปฏิเสธเสรีภาพเมื่อต้องแลกกับการสารภาพว่ากระทำ “ผิด” ตามข้อกล่าวหา

หลิว เสี่ยวปอ บอกผ่านทนายว่า

“หากคุณต้องเดินลงนรก ก็อย่าต่อว่าต่อขานความมืดเลย”

 

 

ใน “ชาร์เตอร์08” หลิว เสี่ยวปอ ให้ความสำคัญยิ่งยวดกับการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการไปสู่ประชาธิปไตย “อย่างค่อยเป็นค่อยไป” เป็นขั้นเป็นตอน และที่สำคัญก็คือ “ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงโดยความรุนแรงในทุกรูปแบบ” ของสังคมจีนมากพอๆกับเป้าหมายสุดท้ายของกระบวนการดังกล่าว ซึ่งคือความเป็นประชาธิปไตย และมนุษยธรรม

น่าเสียดายที่นอกจากจะปิดปากหลิวและพวกแล้ว รัฐและพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังเลือก ปิดหู และ ปิดตา ตัวเองด้วยอีกต่างหาก

ในระหว่างการดำเนินคดี หลิว ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า ชาร์เตอร์ 08 คือแผนล้มล้างรัฐบาล ขึ้นกล่าวให้ปากคำต่อศาลปกป้องคำประกาศประชาธิปไตยแห่งจีนไว้ว่า ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

“ลำดับแรกสุด “หายนะแห่งสิทธิมนุษยชน” ที่กล่าวถึงไว้ในชาร์เตอร์ 08 ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฎขึ้นในจีนร่วมสมัย ตั้งแต่การรณรงค์ต่อต้านปฏิการปีกขวา (ช่วงปลายทศวรรษ1950) ที่ตีตราผู้คนมากกว่า 500,000 คนอย่างผิดๆอย่างเป็นกลุ่มขวาจัด, การก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ (1958-1961) ก่อให้เกิดการเสียชีวิตอย่างไม่เป็นไปตามธรรมชาติของผู้คนมากมายถึง 10 ล้านคน, การปฏิวัติวัฒนธรรม ก่อให้เกิดหายนะในระดับชาติขึ้นตามมา 4 มิถุนายน เป็นการกระทำฆาตกรรมซึ่งส่งผลให้มีประชาชนเป็นจำนวนมากเสียชีวิต และอีกมากมายถูกโยนใส่คุกตะราง

“ข้อเท็จจริงทั้งหลายเหล่านี้เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากลว่าคือ หายนะแห่งสิทธิมนุษยชน และนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ในการพัฒนาประเทศจีนจริงๆ

“ประการที่สอง วัตถุประสงค์ในระยะยาวของค่านิยมต่างๆและข้อเสนอให้มีการปฏิรูปทางการเมืองซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาประกาศไว้ในชาร์เตอร์ 08 คือการสถาปนาสาธารณรัฐที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นเสรีขึ้น (ชาร์เตอร์08) ประกอบด้วยมาตรการปฏิรูป 19 มตราการ และส่งเสริมสนับสนุนวิธีการค่อยเป็นค่อยไปในแนวทางสันติเพื่อการปฏิรูปเหล่านั้น

“เมื่อตรวจสอบและใคร่ครวญการปฏิรูปแบบพิกลพิการและเต็มไปด้วยข้อผิดพลาดทางปฏิบัติมากมายที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้ (ชาร์เตอร์08)เรียกร้องให้พรรครัฐบาลเปลี่ยนขาข้างที่พิการให้กลายเป็นเหมือนขาที่สอง นั่นคือการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปทางการเมืองให้รุดหน้าคู่ขนานไปพร้อมๆกับการปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยสมานฉันท์
“ประการที่สาม ในช่วง 2 ทศวรรษหลัง ตั้งแต่ปี 1989 จนกระทั่งถึงปี 2009 ข้าพเจ้ามักแสดงออกเสมอมาถึงทัศนะที่ว่า การปฏิรูปทางการเมืองจีนควรดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสันติ เป็นระเบียบและอยู่ภายใต้การควบคุม ข้าพเจ้ายังคงแสดงการคัดค้านสม่ำเสมอต่อการปฏิรูปใดๆที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและก้าวกระโดด

“และยิ่งไม่เห็นด้วยเด็ดขาดกับการปฏิวัติด้วยความรุนแรง”

 

 

คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลสันติภาพ ให้เหตุผลไว้ในคำประกาศเลือกหลิว เสี่ยวปอ เป็นผู้รับรางวัลในปี 2010 ด้วยเหตุที่เขาคือ “สัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุด” ของการดิ้นรนเพื่อสิทธิมนุษยชนและสันติภาพในจีน ตัวแทนของหลิว ในพิธีรับมอบรางวัลก็คือ “เก้าอี้ว่างเปล่า” ที่กลายเป็นสัญลักษณ์แทนตัวหลิว เสี่ยวปอ ไปทั่วโลก

ปาฐกถาเนื่องในวาระรับรางวัลซึ่งผู้รับรางวัลโนเบลทุกคนต้องอ่านในพิธี สำหรับหลิว คือ “คำให้การปิดคดี” เมื่อปี 2009 ที่ ลิฟฟ์ อุลมานน์ ผู้กำกับการแสดงและดาราภาพยนตร์ชื่อก้องโลกเป็นผู้อ่านเสียงกังวาน
หัวเรื่องคำแถลงปิดคดีดังกล่าวชื่อ “ผมไม่มีศัตรู” สะท้อนถึงความรักต่อภรรยา การปราศจากความรู้สึกขุ่นเคืองขัดข้องต่อตำรวจและอัยการ แม้แต่การเป็นศัตรูต่อรัฐบาลผู้จำขังตนเอง และความคาดหวังถึงเสรีภาพทางการเมืองของจีน

“ผมมองไปข้างหน้า มองไปยังวันที่ประเทศของผมคือดินแดนแห่งเสรีภาพในการแสดงออก ที่ซึ่งคำพูดทุกคำของพลเมืองทุกคนได้รับความใส่ใจเท่าเทียมกัน ที่ซึ่งค่านิยมที่แตกต่าง ความคิดเห็นต่าง ความเชื่อและทัศนะทางการเมืองที่หลากหลาย สามารถทั้งแข่งขันกันได้และอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ

“ดินแดนซึ่งทัศนะของชนส่วนใหญ่และชนส่วนน้อยได้รับหลักประกันให้แสดงออกได้ และเป็นดินแดนที่ทัศนะทางการเมืองซึ่งแตกต่างไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากใครก็ตามที่อยู่ในอำนาจในเวลานั้น จักได้รับความเคารพและคุ้มครอง

“ดินแดนที่ทัศนะทางการเมืองทุกรูปแบบสามารถแผ่กระจายออกไปได้ภายใต้แสงแดดสาดส่อง สำหรับผู้คนทั้งผองได้เลือกสรร ที่ซึ่งพลเรือนทุกคนสามารถเน้นย้ำทัศนะทางการเมืองของตนเองได้โดยปราศจากความหวั่นกลัว และ เป็นดินแดนที่ไม่ว่าจะในสภาวะการณ์ใด จักไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกดำเนินคดีทางการเมืองเพียงเพราะแสดงออกถึงทัศนะการเมืองที่ต่างออกไป

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผมคือเหยื่อรายสุดท้ายของการไต่สวนไร้ที่สิ้นสุดนี้ และนับแต่นี้ต่อไปจะไม่มีใครกลายเป็นอาชญากรเพราะคำพูดอีกแล้ว

“เสรีภาพในการแสดงออก คือรากฐานแห่งสิทธิมนุษยชน เป็นที่มาของความเป็นมนุษย์ เป็นมาตาแห่งสัจจะทั้งมวล การริดรอนเสรีภาพในการพูด การแสดงออก ก็คือการเหยียบย่ำสิทธิมนุษยชน ปิดกั้นทำลายความเป็นมนุษย์ และกำราบสัจจะทั้งปวง

“เพื่อให้สามารถแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญได้ คนเราควรบรรลุถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะเป็นพลเมืองจีนผู้หนึ่ง

“ทุกสิ่งที่ผมกระทำมา ไม่มีสิ่งใดเป็นอาชญากรรม แต่หากมีการตั้งข้อกล่าวหาต่อผมเพียงเพราะสิ่งที่กระทำนี้ ผมก็ไม่มีอะไรให้ต้องต่อว่าต่อขานอีกแล้ว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image