เปิดร่องรอยเส้นทางการค้า’เชียงราย-เชียงแสน’ ย้อนประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ค้าขายเมื่อปี 2500

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ราชภัฏเชียงรายมีการเปิดเผยเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลจากการวิจัยเรื่อง “จากอดีตสู่ปัจจุบันบนเส้นทางการค้าเชียงราย-เชียงแสน” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยมีการจัดเส้นทางเพื่อแวะศึกษาชุมชนที่มีความสำคัญทางด้านการค้า เริ่มต้นที่มัสยิดดารุลอามาน ซึ่งเป็นตัวแทนบรรยายรูปแบบและลักษณะของการค้าในเขตเมืองเชียงราย

จากนั้นศึกษาที่ชุมชนบ้านศาลา เพื่อดูเส้นทางการค้าของอำเภอแม่จันที่มีตลาดวัวตลาดควาย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงการค้าระหว่างเชียงแสนกับเชียงราย ตามด้วยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดกิ่วพร้าวที่ทำขึ้นเพื่อนำของที่ทางวัดได้สะสมไว้มาจัดแสดงในรูปแบบของการเล่าเรื่องราวของชุมชนในพื้นที่บริเวณนั้น รวมถึงการดูคูเมืองโบราณ และที่อำเภอเชียงแสนได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการค้าของเชียงแสน แผนที่โบราณที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางการค้าของเชียงแสน เช่น แผนที่เดินเท้าที่ระบุระยะเวลา และสภาพภูมิประเทศในบริเวณเส้นทาง แผนที่ด่านเก็บเงิน และแผนที่ขนส่งไม้ซุง เป็นต้น

นอกจากนั้นยังนำเสนอภาพถ่ายในอดีตที่บอกเล่าบรรยากาศและลักษณะของการค้าขายในเชียงแสน อีกทั้งการนำเสนอข้อมูลที่มาจากคำบอกเล่าเกี่ยวกับรูปแบบการค้าความสัมพันธ์ระหว่างเชียงรายกับเชียงแสน โดยนำเสนอข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ซึ่งจะเน้นไปที่ความนิยมเรื่องการปลูกยาสูบ การขนส่งสินค้าและคนด้วยรถคอกหมู โดยเชียงรายและเชียงแสนไม่ได้เป็นชุมชนผู้ผลิต แต่เป็นชุมชนที่ส่งผ่านสินค้าจากเมืองหนึ่งไปสู่เมืองหนึ่ง โดยเชียงรายจะเป็นแหล่งรับสินค้าจากลำปางและกรุงเทพฯ

Advertisement

ส่วนแม่จันจะเป็นทางผ่านสินค้าเพื่อส่งต่อไปยังแม่สายหรือแม่จัน และเป็นที่ตั้งของโรงสีขนาดใหญ่หลายแห่ง รวมถึงมีตลาดวัวตลาดควาย ซึ่งกลายเป็นแหล่งนัดพบเพื่อซื้อขายสินค้าอย่างอื่นตามมา ส่วนที่เชียงแสนเป็นลักษณะของการรับสินค้ามาจากเชียงราย เพื่อส่งต่อไปยังเชียงของโดยทางเรือ หรือส่งขายไปยังชุมชนของลาว ไทลื้อ มูเซอ โดยสินค้าที่นิยมส่วนใหญ่เป็นจำพวกสินค้าอุปโภคบริโภค สบู่ ผงซักฟอก รองเท้าแตะฟองน้ำ ถ่านไฟฉาย เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น

อาจารย์ภัทรีพันธุ์ พันธุ ผู้อำนวยการโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการนี้มีการแบ่งย่อยเป็น 3 โครงการ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบนเส้นทางการค้าเชียงราย-เชียงแสน, แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านเส้นทางการค้าสายเชียงราย-เชียงแสน และความเชื่อมโยงของแหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นตามแนวเส้นทางโบราณเชียงราย-เชียงแสน โดยมีอาจารย์อีก 2 ท่านเป็นหัวหน้าโครงการย่อย ได้แก่ อาจารย์เพ็ชรสวัสดิ์ กันคำ และอาจารย์นครินทร์ น้ำใจดี

Advertisement

“ทางโครงการเชิญผู้เกี่ยวข้องที่จะสามารถนำข้อมูลจากงานวิจัยไปเผยแพร่หรือต่อยอดองค์ความรู้ตามแขนงงานที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เชียงแสน นอกจากนั้นยังร่วมด้วยหน่วยงานภาครัฐ เช่น วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอำเภอเชียงแสน เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน รวมไปถึงวัดและชุมชน เช่น ชุมชนมัสยิดดารุลอามาน ชุมชนวัดศาลา ชุมชนวัดกิ่วพร้าว” อาจารย์ภัทรีพันธุ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image