“โคก หนอง นา” โมเดล จิ๊กซอว์เล็กๆของเด็กสถาปัตย์ สานต่อ “พระราชดำริ ร.9”

ภาพจาก suanlungberm.blogspot.com

หลายสิบปีแล้วที่คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยเฉพาะคำสอนเรื่องการอนุรักษ์ดิน น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อความยั่งยืนของแผ่นดินไทย

และคงจะดีหากเกษตรกรไทยนำเอาทฤษฎีนี้ไปใช้ ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งก็จะน้อยลง คนไทยพึ่งตัวเองได้มากขึ้น ซึ่ง ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ออกแบบไร่สวนตามแนวพระราชดำริ โดยได้เปิดค่ายเยาวชนนำเด็กๆ สถาปัตยกรรมศาสตร์ 18 สถาบัน มาเรียนรู้ศาสตร์พระราชานี้

ผศ.พิเชฐเผยว่า ที่ผ่านมาเราได้นำความรู้ด้านสถาปัตยกรรมมาร่วมออกแบบพื้นที่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชให้กับประชาชนที่สนใจได้ฟรี โดยมีข้อแม้ว่าประชาชนเหล่านั้นต้องศึกษาพื้นฐานหลักกสิกรรมธรรมชาติ ตามแนวพระราชดำริ รู้เรื่องการจัดการน้ำ ดิน ป่า มาก่อนหน้านี้ ซึ่งได้ออกแบบไปแล้วกว่า 800-900 ชิ้น และขึ้นร่างสเกตช์รวมๆ แล้วนับ 2,000 ชิ้น จากนั้นจึงนำนักศึกษาคณะสถาปัตย์มาเข้าค่ายเรียนรู้เกษตรตามแนวพระราชดำริ ให้เด็กๆ ได้นำเอาทฤษฎีไปใช้จริง เพื่อให้เขาเอาตัวรอดเมื่อพ้นรั้วมหาวิทยาลัย

ผศ.พิเชฐเล่าถึงหลักความรู้ในการออกแบบที่ได้ถ่ายทอดให้เด็กๆ ว่า มีด้วยกัน 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ 1.การหาหรือจัดการน้ำ 2.การปรับปรุงคุณภาพของดิน และ 3.กิจกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งประยุกต์เป็นโมเดล “โคก หนอง นา” ที่แต่ละพื้นที่ก็แปรเปลี่ยนไปตามปัญหาที่พบ

Advertisement

เริ่มจาก “โคก” ที่ใช้ปลูกต้นไม้หลายพันธุ์เพื่อซึมซับน้ำจากรากของต้นไม้ โดยปกติแล้วโคกควรสูงกว่าระดับน้ำ 1 เมตร ในพื้นที่น้ำท่วมจึงควรสูง 2 เมตรขึ้นไป เพาะปลูกได้ไม่ต้องสู้กับน้ำ แต่หากเป็นที่แล้ง โคกไม่จำเป็นต้องสูงมาก แต่ก็ใช้บังแสงแดดได้ ควรอยู่ทิศตะวันตกของบ้าน หรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อลมหนาวพัดมาจะดูดซับความชื้นไม่ให้หนาวเกินไป ที่สำคัญคือไม่ทำโคกขวางทางน้ำ

ส่วน “หนอง” นั้น ผศ.พิเชฐเผยว่า จะขุดเท่าไหร่ ต้องดูปริมาณน้ำฝนที่กักเก็บได้ในพื้นที่ต่อปี โดยทั่วไปจะขุดให้ลึกเฉลี่ย 6-8 เมตร ธรรมชาติของน้ำจะระเหยวันละ 1 ซม. ประเทศไทยมีฝนเฉลี่ย 65 วัน ปีหนึ่งจะระเหยประมาณ 3 เมตร/ปี แต่ภาคใต้อาจจะระเหยแค่ 1.20 เมตร เพราะฝนชุก การขุดหนอง 4 เมตรก็เรียกว่าเพียงพอ แต่พื้นที่น้ำแล้ง เขตเงาฝนอาจต้องขุดถึง 15 เมตร นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล็กๆ อย่างหากขุดพบตาน้ำ ก็ห้ามขุดลึก เพราะจะเป็นการดึงน้ำจากเพื่อนบ้านมาไว้ในพื้นที่เรา ส่วนของนาและการเพาะปลูกนั้นก็เป็นเรื่องทั่วไป หลักๆ แล้วการออกแบบต้องดูความต้องการของคนให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่สุด

 

Advertisement
ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

 

สอง-ประสิทธิ์ สุขเจริญ ชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี หนึ่งในผู้ที่ได้ออกแบบศูนย์เรียนรู้ 27 ไร่ ให้กับชาวบ้านที่ จ.สระแก้ว และศูนย์การเรียนรู้ 25 ไร่ จ.นครราชสีมา เผยว่า เริ่มออกแบบจากภาพถ่ายและแบบแปลนมาออกแบบร่าง ก่อนจะลงพื้นที่จริง อย่างพื้นที่ดินเป็นพิษเพราะเคยใช้สารเคมีปลูกไร่อ้อย ก็ต้องปรับพื้นที่ ทำคลองไส้ไก่เพื่อบำบัดน้ำให้มีการตกตะกอนให้สารพิษลดลง พยายามออกแบบให้ตรงกับการใช้งานที่สุด

“ผมเป็นลูกชาวสวนทุเรียน ที่ปลูกแต่พืชเดิมๆ ตลอด ทำให้ดินเป็นพิษ ก็พยายามนำเอาหลักทฤษฎีใหม่ไปใช้ปรับปรุงหน้าดิน ตั้งแต่ ม.ปลาย เมื่อได้มาเข้าค่ายก็ได้ความรู้เพิ่มเติมถึงการออกแบบพื้นที่ว่าโคก หนอง นา ควรอยู่ตรงไหน อย่างการขุดน้ำต้องคำนวณไม่ให้ระเหยไปจนหมด หรือการปลูกพืช 5 ระดับ อย่างหัวเผือก ผลไม้ต่างๆ สลับกัน เพื่อเป็นแร่ธาตุบำรุงดิน ไม่เว้นการปลูกยาแฝกช่วยชะลอการทำลายหน้าดิน สิ่งทั้งหมดนี้ในหลวง ร.9 พระราชทานแนวทางไว้ทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงแต่เรานำมาใช้ให้เกิดประโยชน์” ประสิทธิ์เผย

ด้านธนชิต อ่ำเทศ หรือฟิลด์ ชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. เด็กหนุ่มจาก จ.เชียงใหม่ ที่ออกแบบพื้นที่ 15 ไร่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า การออกแบบพื้นที่ก็เหมือนการเรียนรู้การบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนและมีผลต่อการใช้ชีวิตแท้จริง โดยเจ้าของที่อยากออกแบบให้เป็นโฮมสเตย์ แต่ต้องใช้เงินมาก จึงต้องค่อยๆ เริ่มทีละส่วนให้กับเขา เรียนรู้ทฤษฎีความพอเพียงไปพร้อมๆ กัน จากแต่ก่อนที่คิดว่าความพอเพียงทุกคนต้องไปเป็นเกษตรกร ก็เรียนรู้ใหม่ว่ามันคือ การทำอย่างพอดีตัว ประมาณตน พึ่งพาตนเองให้ได้ ซึ่งการที่เราทำให้สังคมน่าอยู่ คนรุ่นต่อไปที่เห็นประโยชน์ก็จะมาทำตาม มีเครือข่ายร่วมกัน สังคมก็น่าอยู่ขึ้น

ผลของศาสตร์พระราชา

 

ธนชิต อ่ำเทศ หรือฟิลด์
สอง-ประสิทธิ์ สุขเจริญ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image