วันเวลา เลือกตั้ง “ปฏิญญา” จาก “กกต.” 19 สิงหาคม 2561

ทันทีที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศและบังคับใช้ นั่นหมายความว่า กกต.ชุดของ นายศุภชัย สมเจริญ ต้องสิ้นสุด

สิ้นสุดตามแนวทาง “เซตซีโร่”

แล้วเหตุใดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดนี้จึงออกประกาศในลักษณะกำหนดการ ระบุว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 25661

มาจากความขยัน มาจากความรับผิดชอบ

Advertisement

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บังเกิดความหงุดหงิดเป็นอย่างมากหากมีผู้สื่อข่าวสอบถามในเรื่อง “เลือกตั้ง”

คำประกาศจาก กกต. จึงเหมือนกับ “ปักธง”

คล้ายกับจะเป็นบทสรุป เหมือนกับเป็น “บันทึกความจำ” ให้กับ คสช. ให้กับรัฐบาล ได้ตระหนักในบทบาทและความหมายของ “การเลือกตั้ง”

Advertisement

เป็นเช่นนั้นจริงละหรือ

หากอาศัยบทบัญญัติของ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560″ มาเป็นบรรทัดฐาน คำประกาศของ กกต.ก็เป็นเรื่องปกติเข้าลักษณะอย่างที่เรียกว่า “รูทีน”

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยึดแนวนี้

ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ นายวิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ก็ยึดแนวนี้ไม่มีแนวอื่น

ยิ่ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ยิ่งเคร่งครัด

จะแตกต่างไปจากคำประกาศของ กกต.บ้างก็ตรงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ดี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ดี ไม่เฉพาะเจาะจง

ยิ่ง นายวิษณุ เครืองาม ยิ่งไม่ระบุวัน

เพียงแต่ยืนยันว่า เมื่อบทบัญญัติของ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” กำหนดกรอบเอาไว้เสร็จสรรพ ก็น่าจะเป็นภายในปี

2561

แต่จะเป็นวันที่ใด เดือนใด ตอบไม่ได้

แม้คำประกาศจาก กกต.จะสะท้อนความเอาการเอางาน สะท้อนความรับผิดชอบในฐานะ กกต. แต่วันและเวลาอันปรากฏต่อสาธารณะก็ทรงความหมาย

เท่ากับเป็น “หมุด” หรือ “ธง”

จะเห็นจาก นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ก็ออกมาขานรับ และระบุว่า น่าจะเป็นกำหนดวันที่ไม่ต่างไปจากของ กกต.เท่าใดนัก

ทำให้คำประกาศมีลักษณะ “สัญญาประชาคม”

ด้าน 1 เท่ากับตอกย้ำและยืนยันว่า แถลงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นายวิษณุ เครืองาม ทำให้น้ำหนักของการเลือกตั้งน่าจะเป็นอย่างนั้น

นั่นก็คือ ยึดตาม “รัฐธรรมนูญ”

ขณะเดียวกัน ในอีกด้าน 1 วันที่ 19 สิงหาคม 2561 อันมาจาก กกต. ก็จะเป็นวันเวลาที่สังคมรอคอยว่าจะเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด

เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีคนระบุว่า จะไม่มีการเลือกตั้งในปี 2561

คนที่ออกมาระบุก็เป็นถึงรองหัวหน้าพรรคและคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเมือง น้ำหนักและความน่าเชื่อถือก็มีสูง

ถึงกับยืนยันว่า น่าจะเป็นปี 2562 มากกว่า

คําประกาศการเลือกตั้งเป็นวันที่ 19 สิงหาคม 2561 โดย กกต. จึงเท่ากับเป็นการท้าทายต่อความไม่เชื่อมั่นในทางสังคมเป็นอย่างสูง

เพราะการเลื่อนการเลือกตั้ง มิใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้น

อย่างน้อย “ปฏิญญาโตเกียว” ก็ระบุว่าจะเป็นปี 2559 อย่างน้อย “ปฏิญญานิวยอร์ก” ก็เคยระบุว่าจะเป็นปี 2560

คำประกาศของ กกต. จึงแหลมคมและสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image