โพสต์ภาพคู่เครื่องดื่มมึนเมายึด ‘เจตนา’ เป็นหลัก ส่งสัญญาณถึง ‘คนดัง’ ไม่โฆษณาก็ไม่ควรทำ

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดารา นักแสดง คนดัง รวมทั้งเน็ตไอดอล โพสต์ภาพตัวเองคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า สิ่งสำคัญจะพิจารณาจากเจตนาเป็นหลัก เพราะหากการโพสต์ภาพไม่ได้มีเจตนา หรือกรณีมีเพื่อนถ่ายภาพเรา แต่ติดขวดเหล้าโลโก้สัญลักษณ์ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่หากการโพสต์ภาพที่เข้าข่ายโฆษณา หรือมีข้อความใดๆ เข้ามาในลักษณะผิดมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะเรียกมาสอบถาม และตรวจสอบว่าเป็นการโฆษณาทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่

นพ.สุเทพ เพชรมาก

นายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ตนมองว่ากลุ่มดารานักแสดง นักร้องศิลปิน แม้จะโพสต์ภาพตัวเองกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มีเจตนาโฆษณาก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ไม่อยากให้หลงประเด็น เนื่องจากอย่าลืมว่าคนดังถือเป็นบุคคลสาธารณะ มีประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนติดตาม หลายคนมองพวกเขาเป็นไอดอล ดังนั้น เมื่อเป็นบุคคลสาธารณะ การวางตัวที่เป็นแบบอย่างที่ดีก็เป็นสิ่งสำคัญ ส่วนที่จะระบุว่า เป็นสิทธิส่วนตัวก็คนละส่วน อันนั้นไม่มีใครโต้แย้ง แต่ประเด็นการโพสต์ในโซเชียลฯเป็นอะไรที่ควบคุมยาก และอย่าลืมหลายคนเป็นดาราดัง มีคนชื่นชอบ พร้อมจะเป็นแบบอย่าง ก็ต้องพิจารณาเรื่องนี้ดีๆ ด้วย

“ผมมองว่าหากเราบริสุทธิ์ใจไม่มีเจตนาโฆษณา ไม่ได้รับเป็นพรีเซ็นเตอร์ ทุกอย่างก็จบไป เพียงแต่กรณีดารานักแสดงโพสต์ภาพเหล่านี้เคยเป็นประเด็นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งผมไม่ทราบว่าคดีสิ้นสุดหมดแล้วหรือยัง แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นคนสาธารณะ ก็ไม่ควรโพสต์ภาพลักษณะนี้ อย่าลืมมีคนมองพวกคุณอยู่ตลอด ส่วนโทษที่ตั้งไว้สูงถึง 5 แสนบาท ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ตั้งโทษไว้กรณีผู้ผลิตผู้ขายที่มีเจตนาชัดเจนจะโฆษณา แต่กรณีตัวบุคคล อย่างกลุ่มผู้มีชื่อเสียง ไม่ใช่ว่าจะได้รับโทษสูงสุดเลย ก็ต้องมาพิจารณาเป็นไปตามการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” นายชูวิทย์กล่าว

นายชูวิทย์ จันทรส

เมื่อถามว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างดำเนินการทำภาพคำเตือนบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมือนซองบุหรี่ นายชูวิทย์กล่าวว่า ตนเห็นด้วย และเอาใจช่วยให้เรื่องนี้เดินหน้าต่อไปให้ได้ แต่ก็เข้าใจว่าค่อนข้างจะมีอุปสรรค เนื่องจากถูกประเด็นเรื่องกีดกันทางการค้า แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะควบคุมการโฆษณาที่ออกมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางตรงทางอ้อม การส่งเสริมการขาย หรือแม้แต่การใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงในการโฆษณา

Advertisement

นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช  ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า นอกจากการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อมแล้วนั้น ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการความเป็นไปได้ในการติดโลโก้ภาพถ่ายคำเตือนบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดประกวดภาพถ่ายโลโก้ เพื่อนำมาติดในฉลากคำเตือนบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนได้ภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 4 ภาพแล้ว ส่วนการจะประกาศเป็นกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน เนื่องจากต้องนำเข้าที่ประชุมอนุกรรมการร่างและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรืออนุบัญญัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านของคณะอนุกรรมการฯ แต่เบื้องต้นได้มีการมอบหมายให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรูปภาพที่ได้รับรางวัลไปทำการทดลองใช้เพื่อวิจัย เพื่อวางมาตรการปฏิบัติที่ชัดเจน และจะมีหน่วยงานใดบ้างควบคุมพร้อมทั้งจะมีผลอย่างไรในการลดจำนวนผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเตรียมอธิบายต่อองค์การการค้าโลกที่มองว่าการดำเนินการยังเป็นการกีดกันทางการค้าอยู่

“เรื่องนี้ทั่วโลกในหลายๆ ประเทศเริ่มให้ความสนใจการติดโลโก้ดังกล่าว และก็มีอีกหลายประเทศที่มองว่าโลโก้ไม่ได้ส่งผลต่อการลดจำนวนผู้ดื่ม ซึ่งคาดว่าหากมีผลการศึกษาที่ชัดเจนจะไม่เป็นปัญหาในการดำเนินการ นอกจากนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่ากระบวนการเป็นไปด้วยความโปร่งใสคาดว่าจะต้องมีการพูดคุยรับฟังความคิดเห็นกับทางผู้ประกอบการและภาคประชาชนตามกลุ่มต่างๆ ด้วย” นพ.นิพนธ์กล่าว

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้ออกอินโฟกราฟิกถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำได้และอะไรที่ทำไม่ได้ ดังนี้ การโฆษณาที่ทำได้ไม่ผิดกฎหมาย 1.โฆษณาตามที่กฎหมายกำหนด 2.ให้ข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคมและไม่แสดงภาพสินค้า 3.โฆษณาที่ถ่ายทอดสดจากต่างประเทศ เช่น ถ่ายทอดสดฟุตบอลที่เห็นสัญลักษณ์สินค้า

Advertisement

สำหรับห้ามโฆษณา มี 1.อวดอ้างสรรพคุณ 2.ใช้เซเลบดารา นักกีฬาหรือเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ที่เป็นผู้โฆษณา 3.แสดงภาพสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.ชักจูงเชิญชวนให้ซื้อ 5.ให้รางวัล ของแถม ชิงโชค 6.ใช้ภาพการ์ตูน และ 7.โฆษณาเกินเวลา 22.00-05.00 น. หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษ ม.32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละไม่เกิน 5 หมื่นบาทจนกว่าจะทำให้ถูกต้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image