อธิบดีกรมศิลป์แจงวิธีบูรณะ ‘ถ้ำเขาหลวง’ พร้อมดึงช่างเมืองเพชรร่วมบูรณะพื้นกระเบื้องดินเผาโบราณ

 

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรณีมีการร้องเรียนเรื่องการบูรณะถ้ำเขาหลวง จ.เพชรบุรี ของกรมศิลปากร ซึ่งจัดจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการในวงเงิน 16 ล้านบาทเศษ จากนักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดี จ.เพชรบุรี นำโดยนายล้อม เพ็งแก้ว ว่ามีการรื้อพื้นผิวซึ่งทำด้วยอิฐโบราณสมัยรัชกาลที่ 4 แล้วปูอิฐใหม่ทำให้เสียคุณค่าความเป็นโบราณสถานที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยกรมศิลปากรได้มอบให้นายสุวิทย์ ชัยมงคล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี พร้อมด้วยนายณัฐพล ระดาฤทธิ์ นายช่างผู้ควบคุมงานบูรณะ นายจมร ปรปักษ์บรรลัย สถาปนิกชำนาญการ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เข้าตรวจงานบูรณะถ้ำเขาหลวง และพบปะพูดคุยชี้แจงกับกลุ่มผู้ร้องเรียน ที่นำโดยนายธานินทร์ ชื่นใจ ช่างลายรดน้ำเมืองเพชรบุรี และคณะ โดยมีนายประหยัด แสงหิรัญ นายกเทศมนตรีตำบลธงชัย ร่วมด้วยนั้น ขอชี้แจงว่า การดำเนินการบูรณะถ้ำเขาหลวง ในส่วนของอิฐที่มีการรื้อถอนนั้น เป็นอิฐที่เกิดจากการขุดแต่งทางโบราณคดี และอิฐที่ชำรุดเปื่อยยุ่ย และมีความชื้นสูง ที่ต้องถอดออกเพื่อซ่อมเปลี่ยนตามหลักการบูรณะโดยทั่วไป ซึ่งได้ชี้แจงให้ผู้ร้องเรียนเข้าใจ

นายอนันต์กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่ผู้ร้องเรียนแสดงข้อห่วงใยเกรงว่าในการบูรณะจะมีการซ่อมเปลี่ยนกระเบื้องดินเผาปูพื้นเดิม ซึ่งเป็นของสมัยรัชกาลที่ 4-5 ทิ้งทั้งหมดนั้น ข้อเท็จจริงคือพื้นกระเบื้องของเดิมยังไม่ได้รื้อถอน ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจจัดทำแผนผังรายละเอียดการซ่อมเปลี่ยน ทั้งนี้ ได้ชี้แจงกับกลุ่มตัวแทนผู้ร้องเรียนว่ากระเบื้องปูพื้นเดิมบางส่วนอาจจะต้องเปลี่ยน เพราะเห็นว่าแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และปรับพื้นที่ทรุดเอียงของพื้นถ้ำ ซึ่งผู้ร้องเรียนเข้าใจการบูรณะซ่อมแซมกระเบื้องดินเผาที่แตกหัก โดยกรมศิลปากรจะนำกระเบื้องเดิมมาใช้งานให้มากที่สุด

“ทั้งนี้ กรมศิลปากรยังได้เชิญผู้ร้องเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มช่างเมืองเพชร ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณะซ่อมแซมพื้นกระเบื้องดินเผาโบราณดังกล่าว โดยผู้ร้องเรียนยินดีจัดหากลุ่มช่างเมืองเพชรมาช่วยดำเนินการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงาน และทำความตกลงการดำเนินงาน” นายอนันต์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image