เสวนา2ปี สปท. ‘นิกร’ ชี้ แค่หมากการเมืองคสช. ‘นิพิฏฐ์’เชื่อไทยเป็นแบบกึ่งปชต.อีก20ปี

วงเสวนา 2 ปี สปท. ได้อะไรจากปฏิรูป ชี้ โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นราชการ “นิกร” ชี้ ไม่มีอำนาจ ทำได้แค่เสนอรายงาน มีสถานะแค่ที่ปรึกษานายกฯ “เด็กพท. ระบุ รัฐไม่แก้ปัญหาหัวใจสำคัญทำปชช. เรียนรู้ประชาธิปไตยน้อย

วันที่ 23 กรกฎาคม ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเวทีราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “2 ปี สปท.สังคมได้อะไรจากการปฏิรูป” โดยมีนายนิกร จำนง อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และนายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมเป็นวิทยากร

นายนิกร กล่าวว่า โครงสร้าง สปท.ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทั้งหมด อำนาจหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นการทำงานสานต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงจะเห็นได้ว่าภารกิจของสปท.ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะไม่มีอำนาจออกกฎหมาย มีแต่เสนอรายงานไปเท่านั้น อีกทั้งคำสั่งแต่งตั้งตำแหน่งของสปท.ถูกแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี การเข้าวังก็ไม่มีเครื่องแบบ เพราะไม่ใช่ข้าราชการการเมือง ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ก็ไม่มี ถือเป็นเพียงที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเท่านั้น ประธานสปท. ก็บอกเราทำได้แต่รวบรวมความคิดเห็นเป็นรายงานและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เราจึงทำงานคาดหวังอะไรไม่ได้ รวมทั้งเนื้อหาการทำงานเชิงปฏิรูปก็น้อย เพราะวิธีคิดระบบราชการไม่คิดไปไกลๆ หักดิบไม่ได้ จึงถือว่าน่าเป็นห่วง แตกต่างการเมืองที่มาจากประชาชนจะมองไปอีกแบบ

“ดังนั้นการตั้งสปท.ขึ้นมาที่ตนเห็นว่าเป็นประโยชน์และเป็นหมากทางการเมืองของรัฐบาล เช่น เป็นหนังหน้าไฟ เป็นกันชน และโยนหินถามทาง อาทิการเสนอคำถามพ่วงของรัฐธรมนูญที่ให้สนช.เลือกนายกฯในช่วง 5 ปี หรือ สปท.เสนอเรื่องร่างสปท.ควบคุมสื่อ เป็นต้น อย่าไปห่วงกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี แต่ขอให้กังวลในช่วง5 ปีแรก นักการเมืองที่เข้ามา หลังเลือกตั้งจะเจอ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปอีกสิบกว่าคณะ ถามว่านักการเมืองจะทำอะไรได้แค่ไหน เพราะยังทำงานไม่ทันไร งบประมาณยังไม่ลงไป ก็ต้องรายงานต่อวุฒิสภาสรรหา 250 คนภายใน 3 เดือน หากทำไม่ได้ ก็ถูกยื่นป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ แล้วเมื่อนักการเมืองทำไมได้อย่างที่หาเสียง ประชาชนก็เสื่อมลงศรัทธา ถือว่าสาหัสสากัน จึงเป็นห่วงว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยได้สมบูรณ์หรือไม่จากกรอบที่ถูกออกแบบไว้ ” อดีตสปท. กล่าว

Advertisement

นายชวลิต กล่าวว่า ข้อสังเกตเรื่องหน้าที่ของสปท.คือมีหน้าที่แค่ศึกษาและเสนอแนะ ซึ่งงานทั้งหมดที่ทำขาดการจัดลำดับความสำคัญ เนื่องจากปัญหาของประเทศมีเป็นจำนวนมาก ถ้ารัฐบาลมีความตั้งใจจะปฏิรูปเรื่องใดเป็นพิเศษควรจะจัดลำดับความสำคัญและมอบให้สปท.ศึกษาอย่างลึกซึ้ง ยิ่งอยู่ในภาวะแบบนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนจะช่วยประคับประคองสภาวะของบ้านเมืองในปัจจุบันด้วยการมีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังไม่ได้ค้นหาหัวใจของปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้ ซึ่งมีทั้งปัญหาหลักและปัญหารอง หากเราหาหัวใจของปัญหาได้ ปัญหารองก็จะถูกแก้ไขเป็นลำดับไป ทั้งนี้ ตนมองปัญหาหัวใจของบ้านเมืองคือการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจไม่ได้เป็นของปวงชนอย่างแท้จริง

“รัฐบาลขาดการแก้ปัญหาในเรื่องหัวใจสำคัญ ที่ทำให้ประชาชนเรียนรู้ประชาธิปไตยน้อยมาก ที่ผ่านมาหลังการรัฐประหารทำให้เกิดรัฐข้าราชการ ที่ไม่สามารถเดินไปในโลกปัจจุบันที่เปรียบเสมือนย้อนยุคไป40-50 ปีที่ผ่านมา ขณะที่คนทำหน้าที่ในครม. สนช. รัฐวิสาหกิจ มีแต่ เพื่อน พี่ น้อง เข้าทำหน้าที่เป็นกลุ่มเดียว ที่ผ่านการพัฒนาประเทศโดยกำกับโดยรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ และกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ จึงทำให้3 ปีที่ผ่านมาเอกชนไม่กล้าลงทุน มีเพียงแต่รัฐบาลลงทุนเพียงแค่ขาเดียวเท่านั้น ขณะที่ประเทศต้องเดินทั้งสองขา จึงเปรียบประเทศคล้ายกบในน้ำร้อน ดังนั้นในเมื่อระบบที่ผิดพลาดจึงควรทำให้ให้บ้านเมืองกลับมาเป็นปกติ”

นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องมีสปช.หรือ สปท. แต่เหตุที่มีเพราะนายกรัฐมนตรีมามือเปล่า อาจจะไม่ได้ตั้งเข้ามายึดอำนาจจึงมาแบบมือเปล่า ดังนั้นจึงพยายามสร้างโครงสร้างที่สร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจ การสร้างความชอบจึงมีการตั้ง สนช. สปช. สปท.เพื่อเป็นกลไกรองรับการใช้อำนาจ ซึ่งหลายเรื่องที่สปช.และสปท.ดำเนินการมานั้น รัฐบาลไม่ได้มีการนำไปดำเนินการ ดังนั้นการคิดจึงอยู่ที่ตัวคสช.เป็นหลัก ตนเชื่อว่าประเทศไทยจะเดินไประบบกึ่งประชาธิปไตยไปอีก 20ปีเพราะถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งพวกเราก็ต้องเดินไปตามนั้น การทำงานของสปท.เหมือนนำเครื่องยนต์รถเบนซ์ไปใส่เครื่องยนต์ รถไถนาแบบเดินตาม จึงไม่เหมาะสมและแก้ปัญหาที่ตรงจุด และสิ่งที่สปท.ควรจะทำคือการเติมระบบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์มิใช่เดินไปแนวทางถอยหลังอย่าที่เห็น

Advertisement

ขณะที่ปัญหาในอดีตในเรื่องความขัดแย้ง ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้รับการแก้ไข ตนเชื่อว่าอีก 1 ปีไปถึงการเลือกตั้งหากนายกฯไม่ใช้อำนาจพิเศษ เชื่อว่าปัญหาบ้านเมืองก็จะกลับมาเหมือนเดิมเพราะความแตกแยกของผู้คนถูกกดทับไว้เท่านั้น ส่วนที่ปีที่แล้วบอกเศรษฐกิจโตขึ้น3.3% แต่ส่วนใหญ่ทรัพย์สินไปเพิ่มให้แก่คนในประเทศ 1-50 ของประเทศมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 16% โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ค้าขายกับคนจน อาทิ น้ำเมา และสินค้าเกษตร ทำให้เจ้าสัวพวกนี้รวยขึ้นขณะที่ชาวบ้านจนลง

นายสุริยะใส กล่าวว่า แนวโน้มหรือทิศทางการปฏิรูป พุ่งเป้าไปที่การกระชับอำนาจสู่ส่วนกลาง สะท้อนวงจรความไม่ไว้วางใจทางการเมือง ประชาชนไม่ไว้วางใจนักการเมือง นักการเมืองไม่ไว้วางใจทหาร และทหารก็ไม่ไว้วางใจประชาชน เราอยู่ในวงจรของความไม่ไว้วางใจซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ เราจะปลดวงจรนี้ได้อย่างไร เพราะถือเป็นเงื่อนปมของความแตกแยกที่ดำรงอยู่ หากเราเปลี่ยนวงจรนี้ไม่ได้ เชื่อว่าหลังเลือกตั้งปัญหาก็จะกลับมาอีกเช่นเคย ขณะที่กลไกกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ จะยิ่งทำให้แขนขาระบบราชการใหญ่และแข็งแกร่งขึ้น และเป็นปัญหาของการพัฒนาระบบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image