‘รมว.แรงงาน’เผยยอดนำเข้าแรงงานประมงแบบเอ็มโอยูพุ่งกว่า 190,000 คน

พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกิจการประมงว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงานเห็นความสำคัญของแรงงานในภาคประมงที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง โดยการเปิดจดทะเบียนผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองมาจดทะเบียนและขออนุญาตทำงาน ซึ่งกิจการประมงได้เปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้เป็นกรณีพิเศษแตกต่างจากกิจการอื่นๆ คือ เปิดให้จดทะเบียนได้ปีละ 2 ครั้ง และล่าสุดได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 เห็นชอบให้แรงงานประมงที่ได้รับใบอนุญาตทำงานที่หมดในปี 2559 และหมดอายุในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จดทะเบียนต่ออายุใบอนุญาตอีกครั้ง โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 และยังอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว โดยให้แรงงานต่างด้าวสามารถเปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างรายอื่นได้ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเลในพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานปัจจุบันของแรงงาน อย่างไรก็ตาม หากยังมีการขาดแคลนแรงงานและประสงค์จะจ้างแรงงานต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางเข้ามาทำงาน นายจ้างในกิจการประมงสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมายตามระบบเอ็มโอยู ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ติดต่อกับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (CLMV) โดยเฉพาะพม่า ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยทางการไทยพยายามลดขั้นตอนและติดต่อกับกลุ่มซีแอลเอ็มวีอย่างใกล้ชิดแบบจีทูจี ซึ่งนายจ้างสามารถดำเนินการนำเข้าแบบเอ็มโอยูได้ตลอดเวลา ขณะนี้มีแรงงานนำเข้าแบบดังกล่าวเฉลี่ยวันละ 1,000 คน ล่าสุด ณ เดือนมิถุนายน 2560 มีแรงงานเข้ามาแล้ว 189,937 คน เป็น กัมพูชา 70,793 คน ลาว 21,534 คน พม่า 97,610 คน นายจ้าง 14,271 ราย

ด้านนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวชี้แจงกรณีที่มีข่าวว่าลูกจ้างประมงเปลี่ยนไปหานายจ้างใหม่ได้โดยนายจ้างเก่าไม่ต้องเซ็นยินยอมว่า ใน พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีการกำหนดชัดเจนให้นายจ้างต้องแจ้งต่อนายทะเบียนในกรณีคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานออกจากงาน แต่เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจึงได้มีมาตรการผ่อนปรนให้ลูกจ้างต่างด้าวสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ โดยต้องมีการตกลงกับนายจ้างเดิมก่อนหากมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ แต่มิได้กำหนดไว้ว่านายจ้างใหม่จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ลูกจ้างต่างด้าวมีไว้กับนายจ้างเดิม ทั้งนี้ หากเป็นแรงงานที่นำเข้าตามระบบเอ็มโอยูหลังวันที่ 16 สิงหาคม 2559 ให้เปลี่ยนนายจ้างได้ภายใต้ 5 เงื่อนไข คือ 1.นายจ้างเลิกจ้างหรือนายจ้างเสียชีวิต 2.นายจ้างล้มละลาย 3.นายจ้างกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายลูกจ้าง 4.นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างหรือกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน 5.ลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย

นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า สำหรับแรงงานที่จดทะเบียนแล้วย้ายไปทำงานกับนายจ้างรายอื่นหรือประเภทกิจการอื่น นายจ้างในกิจการประมงจะต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อรักษาแรงงานที่มีอยู่ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว โดยการจัดสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน ชีวิตความเป็นอยู่ มีสวัสดิการดี ค่าตอบแทนดี และมีความมั่นคงในชีวิต จึงจะช่วยให้แรงงานไม่ย้ายหนีไปทำงานในกิจการอื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image