เปิดตำนาน นายอำเภอแหวนเพชร

โครงการนายอำเภอแหวนเพชร หรือนายอำเภอของประชาชน เป็นการดำเนินการโครงการคัดเลือกนายอำเภอที่มีผลงานดีเด่น ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2507 ภายใต้ชื่อโครงการ นายอำเภอแหวนเพชร โดยมีความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมให้นายอำเภอมีกำลังใจในการพัฒนาความเจริญให้กับท้องถิ่น และกำหนดให้มีการคัดเลือกนายอำเภอเข้ารับรางวัล จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลที่ 1 รางวัลที่ 2 และรางวัลที่ 3 มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกจากนายอำเภอที่มีการจัดหาหรือจัดสิ่งสาธารณประโยชน์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ จึงได้มีการพิจารณาคัดเลือกนายอำเภอที่มี ผลงานดีเด่น ตามโครงการนายอำเภอแหวนเพชร เป็นประจำทุกปีเรื่อยมา กระทั่งในปี พ.ศ.2509 และ ปี พ.ศ.2511 เนื่องจากปัญหาในเรื่องงบประมาณจึงไม่ได้มีการดำเนินการตามโครงการนายอำเภอแหวนเพชร

ต่อมาในปี พ.ศ.2521 กระทรวงมหาดไทยได้ระงับการดำเนินงานตามโครงการนายอำเภอแหวนเพชร โดยให้กรมการปกครองพิจารณาทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์ของการดำเนินโครงการนายอำเภอแหวนเพชร ให้มีความเหมาะสมและเกิดความเท่าเทียมกันในเรื่องของคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อ เพื่อพิจารณาคัดเลือกเป็นนายอำเภอแหวนเพชรต่อไป

โครงการนายอำเภอแหวนเพชรได้เริ่มดำเนินการอีกครั้งในปี พ.ศ.2542 โดยได้ดำเนินการคัดเลือกนายอำเภอที่มีผลงาน ดีเด่นเป็นพิเศษจากทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 4 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ภาคละ 2 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศและรางวัลรองชนะเลิศ โดยกระทำพิธีมอบรางวัลในวันสถาปนากระทรวงมหาดไทย (วันที่ 1 เมษายนของทุกปี)

ต่อมาในปี พ.ศ.2544 ได้เปลี่ยนชื่อมา เป็น โครงการนายอำเภอของประชาชนŽ เพื่อความเหมาะสม และในปี พ.ศ.2553 กรมการปกครอง ได้เสนอขออนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอเปลี่ยนชื่อโครงการนายอำเภอของประชาชนเป็น โครงการนายอำเภอแหวนเพชรŽ เนื่องจากเห็นว่าบทบาทของนายอำเภอในปัจจุบันต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นนักบริหารมืออาชีพ และผู้ที่ได้รับรางวัลจะมีการเข้ารับรางวัลในงานวันที่ระลึกคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชา นุภาพ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม 2560

Advertisement

จากนั้นในปี พ.ศ.2559 กรมการปกครองได้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์และกระบวนการในการดำเนินการคัดเลือกนายอำเภอแหวนเพชร ประจำปี พ.ศ.2559 เพื่อให้นายอำเภอที่ได้รับการคัดเลือกเป็นนายอำเภอแหวนเพชร เป็น ผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยอมรับจากส่วนราชการ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

สำหรับโครงการนายอำเภอแหวนเพชร ประจำปี พ.ศ.2560 กรมการปกครองได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการในการดำเนินการคัดเลือกนายอำเภอแหวนเพชร ประจำปี พ.ศ.2560 โดยมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญบางประการ ดังนี้

1.รูปแบบและวิธีการสรรหาและคัดเลือกนายอำเภอที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2560 โดยให้จังหวัดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหานายอำเภอที่มีผลงานดีเด่นระดับจังหวัด เพื่อพิจารณาคัดเลือกนายอำเภอที่มีผลงาน ดีเด่นระดับจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และรายงานผลการคัดเลือกให้กรมการปกครองพิจารณาดำเนินการต่อไป

2.การพิจารณาคัดเลือกนายอำเภอแหวนเพชรในพื้นที่ปกติ กรมการปกครองจะมอบหมายผู้ตรวจราชการของกรมการปกครอง ทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกในระดับจังหวัดให้เหลือเขตละ 1 คน (ตามเขตตรวจราชการของกรมการปกครอง) รวมจำนวน 18 คน จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกพื้นที่ปกติจะดำเนินการพิจารณากลั่นกรองผลงานและออกตรวจผลการปฏิบัติงานของนายอำเภอในพื้นที่ เพื่อพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นนายอำเภอที่มีผลงานดีเด่นประจำปี พ.ศ.2560 จำนวน 8 คน

3.การพิจารณาคัดเลือกนายอำเภอแหวนเพชรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส รวมจำนวน 3 คน โดยคณะกรรมการคัดเลือกนายอำเภอที่มีผลงานดีเด่น พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะออกตรวจประเมินผลการปฏิบัติงานและการนำเสนอ ผลงานของนายอำเภอที่มีผลงานดีเด่นในพื้นที่อำเภอที่ปฏิบัติงาน เพื่อพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีผลงานดีเด่นที่สมควรได้รับการ คัดเลือกเป็นนายอำเภอแหวนเพชร ประจำปี พ.ศ.2560 จำนวน 2 คน

อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2560 มีนายอำเภอส่งผลงานทั้งสิ้น 26 ราย จากทั่ว ทั้งประเทศ ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการแยกคณะกรรมการออกเป็นการพิจารณาเฉพาะพื้นที่ ดังนั้นจึงเป็นการพิจารณานายอำเภอ 26 ราย จาก 18 เขต แต่ในครั้งนี้นายอำเภอส่งผลงานไม่ครบทุกเขต อีกทั้งในบางเขตส่งผลงานมากกว่า 1 คน ผู้ตรวจ ราชการกรมการปกครองจึงพิจารณาในชั้นต้น ให้เหลือ 14 เขต ตามจำนวนเขตที่มีผู้ส่งผลงานเพื่อเข้ารับการประเมิน

สำหรับคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกนายอำเภอแหวนเพชรในปีนี้ ประกอบไปด้วย รองอธิบดีกรมการปกครองเป็นประธาน และมีคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วย ผู้แทนสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ผู้แทนสื่อมวลชน ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ และทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการ

โดยคณะกรรมการคัดเลือกได้ทำหน้าที่พิจารณาจากนายอำเภอทั้ง 14 คน ในการแสดงวิสัยทัศน์และบทบาทที่สำคัญในพื้นที่ จากนั้นคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกให้เหลือ 8 ราย

เมื่อคัดเลือกนายอำเภอได้ 8 รายแล้ว คณะกรรมการจึงได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจผลงานของนายอำเภอในแต่ละพื้นที่ และพบปะพูดคุยกับประชาชน และสอบถามพูดคุยถึงการทำหน้าที่ของนายอำเภอ โดยคณะกรรมการ ลงพื้นที่เริ่มจาก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ตามด้วย อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี จากนั้นลงพื้นที่ อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ต่อด้วยพื้นที่ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ตามด้วย อ.เมืองเลย จ.เลย และจบที่ จ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง พบว่าในแต่ละพื้นที่มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งนายอำเภอแต่ละคนจะต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่า จะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ ปากท้อง การสร้างอาชีพ การสร้างโครงการเกษตรชุมชน ไปจนถึง เรื่องปศุสัตว์ การจัดระเบียบสถานประกอบการ การจัดระเบียบสังคม การให้ความช่วยเหลือ ผู้ป่วยติดเตียง จัดระเบียบความสะอาดในชุมชน ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีผลงานที่แตกต่างกัน แต่ทุกพื้นที่สามารถบริหารจัดการงานในพื้นที่ของตนเองได้เป็นอย่างดี จึงเป็นเรื่องค่อนข้างยากต่อการตัดสินของคณะกรรมการที่ต้องมีการลงคะแนนกันหลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้ได้นายอำเภอแหวนเพชรด้วยคะแนนที่ฉิวเฉียดกันเป็นอย่างมาก

กระทั่งได้ข้อสรุป มีผู้ได้รับรางวัล นายอำเภอแหวนเพชรจากทั่วประเทศ โดย ไม่ได้มีการเรียงลำดับคะแนนแต่อย่างใด 1.นายณรงค์ จีนอ่ำ นายอำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย 2.นายอำเภอณรงค์ศักดิ์ หอมมาลัย นายอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ 3.ว่าที่ร้อยตรีวิกรม จากที่ นายอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต 4.นายสำรวย เกษกุล นายอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ และ รางวันนายอำเภอแหวนเพชรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1 รางวัล ได้แก่ นายโอม เชื้อแหลม นายอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชยหรือที่เรียกว่ารางวัลนายอำเภอแหวนทองคำจากทั่วประเทศ 4 รางวัล ประกอบด้วย 1.นายกฤษณพันธ์ เดชครุธ นายอำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว 2.นายจิรศักดิ์ ตะปะโจทย์ นายอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง 3.นายชรินทร์ ทองสุข นายอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี 4.นายศิริชัย ไตรสารศรี นายอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และรางวัลนายอำเภอแหวนทองคำจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นายปรีชา นวลน้อย นายอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image