‘มีชัย’เมิน กกต.ร้องศาล บอกไม่รู้ศาลจะรับหรือไม่ ชี้ รธน.ให้อำนาจแค่ ส.ส.-ส.ว.ในการยื่นท้วง

‘มีชัย’เมิน กกต.ร้องศาล อ้าง รธน.ให้อำนาจแค่ ส.ส.-ส.ว. ด้าน กรธ.เตรียมถก กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย กม.พรรคการเมืองพรุ่งนี้

เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 24 กรกฎาคม ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า กรธ.มีมติไม่มีความเห็นแย้ง กระบวนการหลังจากนี้ นายกฯก็ต้องรอ 5 วัน หากไม่มีใครเห็นแย้งอื่นๆ ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไปสำหรับการประชุม กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในวันที่ 25 กรกฎาคม กรธ.ก็คุยกัน พร้อมทั้งประสานกับ สนช. เพื่อให้เข้าใจตรงกัน แก้ไขให้ตรงความประสงค์ของเจ้าของความคิด ด้านการตรวจสอบไพรมารีโหวตนั้น ก็ให้สมาชิกพรรคเป็นผู้แจ้งต่อตำรวจ หากพบกระทำความผิด หรือหาก กกต.พบว่าพรรคทำผิด หรือแจ้งบัญชีเท็จ ก็สามารถแจ้งตำรวจเองได้ โดยกระบวนการเลือกตั้งก็จะดำเนินต่อไป หากสุดท้ายแล้วได้ความว่า ผู้สมัครคนไหนมีความผิด ก็ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. และถูกตัดสิทธิทางการเมือง ดังนั้น การเลือกตั้งก็จะไม่ชะงัก ไม่กระทบต่อการนับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม ในสัดส่วนคะแนนของพรรคการเมือง

นายมีชัยกล่าวถึงการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. โดย กกต.ว่า ตนไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร ศาลจะรับหรือไม่รับพิจารณา เพราะในรัฐธรรมนูญ เขียนให้ ส.ส.และ ส.ว.เท่านั้น ที่จะยื่นท้วงได้ ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ก็ระบุว่ารัฐบาลจะรอทางศาลรัฐธรรมนูญก่อน จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตนมองว่านายกฯก็คงต้องรอเพื่อความปลอดภัย ซึ่งไม่น่าจะกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญก็น่าจะรู้เรื่องกรอบเวลา

ด้าน นายอุดม รัฐอมฤต กรธ. ในฐานะ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ.ร่วมคงต้องเริ่มต้นพิจารณาว่าข้อโต้แย้งของ กรธ. ซึ่งตนยังตอบไม่ได้ว่าที่ประชุมจะมีความเห็นอย่างไร แม้ กรธ.จะพูดคุยกับเจ้าของแนวคิด แต่ยังไม่ทราบแนวคิดของ สนช.ที่ร่วมเป็น กมธ. เพราะไพรมารีโหวตถือว่ามีรายละเอียดมาก กรธ.เสนอแก้ไขเพื่อให้เดินหน้าไปได้ โดยมาตราที่ กรธ.เสนอแก้ไข อาทิ มาตรา 35 ว่าด้วยการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งในจังหวัด กลุ่มมาตราว่าด้วยการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ ด้วยระบบไพรมารีโหวต อาทิ มาตรา 47, 50, 51-52 และ 138 ที่ว่าด้วยการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองมีสาขาหรือตัวแทนพรรคในจังหวัด และเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยบทลงโทษต่อกรณีทุจริตไพรมารีโหวตด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image