กก.อิสระฯ เปิดเฟซบุ๊กรับข้อเสนอแนะปฏิรูปการศึกษา วางกรอบการดำเนินงานกองทุนช่วยผู้ขาดทุนทรัพย์

 

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ครั้งที่ 9/2560 ว่า ที่ประชุมได้หารือประเด็นกรอบการดำเนินงานกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตามที่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 วรรค 6 ที่ระบุให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู เบื้องต้นคณะอนุกรรมการกองทุนฯ ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการอิสระฯ คนอื่นๆ เพื่อใช้กองทุนดังกล่าว เป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และขยายโอกาสให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค และยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาด้านการศึกษาเกิดขึ้นทั่วโลก ปัจจัยสำคัญคือยังไม่สามารถหลุดพ้นความยากจนได้ ดังนั้น ต้องใช้การศึกษาแก้ไขให้หลุดพ้นจากความยากจน มีความสอดคล้องกับหลักการขับเคลื่อนกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์นี้

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะอนุกรรมการกองทุนฯ กล่าวว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย ปี 2558-2559 พบเด็กเยาวชนอายุ 0-18 ปี ในทะเบียนราษฎร 14.7 ล้านคน มีอัตราเกิดปีละ 600,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กเล็กในครอบครัวยากจนประมาณ 480,000 คน คิดเป็นร้อยละ 40 ส่วนเด็กอายุ 3-5 ปี ยังไม่เข้าเรียนอนุบาลพบ 1,100,000 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 40 ในส่วนนักเรียนด้อยโอกาสที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีประมาณ 2,000,000 คน แยกเป็นนักเรียนยากจน 1,5000,000 คน คิดเป็นร้อยละ 31 และนักเรียนพิการ 337,000 คน คิดเป็นร้อยละ 7 นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเด็กอายุ 6-15 ปี ต้องออกกลางคัน 315,280 คน คิดเป็นร้อยละ 3.9 ขณะที่เด็กอายุ 16-18 ปี ไม่ได้ศึกษาต่อ 373,677 คน คิดเป็นร้อยละ 14

นายประสารกล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางเบื้องต้นเพื่อบริหารจัดการกองทุนฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยั่งยืนในอีก 10 ปี ภายใต้กรอบ 6 แนวทางสำคัญ คือ 1.ขจัดปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้หมดไปจากประเทศไทย 2.เด็กเล็กในครอบครัวยากจนได้รับการดูแล กระตุ้น และส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการและช่วงวัยเพื่อเป็นรากฐานสู่ทรัพยากรมนุษย์ที่ดีของประเทศไทย 3.ขจัดปัญหาเด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้หมดไปจากประเทศ 4.ลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา เด็กเยาวชนจากครัวเรือนยากจนที่สุดร้อยละ 20 แรกมีโอกาสเรียนระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 30 5.ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกล และครูผู้สอนนักเรียนยากจนด้อยโอกาส ได้รับการเสริมสร้างพัฒนาคุณภาพ และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานครบทุกคน และ 6.ประกันโอกาสทางการศึกษา คุณภาพการเรียนรู้ และคุณภาพชีวิต เด็กเยาวชนทุกคนได้รับการสนับสนุนจากกองทุนให้สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ และความถนัด ด้วยการติดตามผ่านระบบสารสนเทศ คณะอนุกรรมการกองทุนฯ คำนึงถึงการใช้กองทุนอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ใช้ได้จริง และมีธรรมาภิบาล ต้องคิดกลไกเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกไปจากระบบการศึกษา โดยการใช้การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเข้ามาช่วยแก้ไขด้วย

Advertisement

“ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสระฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะทางเฟสบุ๊คแฟนเพจ : ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย ผู้สนใจเสนอแนวคิด และข้อเสนอแนะต่างๆ ได้” นายประสาร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image