จีนพบวิธีกระตุ้นสมอง แก้พฤติกรรมหนู

(ภาพ-PIXABAY)

ทีมนักวิจัยจีนซึ่งนำโดย หู ไห่หลัน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเจ๋อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ประสบความสำเร็จในการจำแนกกลุ่มเซลล์ประสาทในสมอง ซึ่งเมื่อกระตุ้นโดยอาศัยลำแสงจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของหนูให้แสดงความเหนือกว่าหนูตัวอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกายภาพของตัวหนูทดลอง หรือเพิ่มระดับความก้าวร้าวขึ้นแต่อย่างใด

หนูเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีรูปแบบการแข่งขันกันเองที่ซับซ้อนสำหรับใช้ในการสร้างโครงสร้างทางสังคมที่ละเอียดของสัตว์เหล่านั้น นักวิทยาศาสตร์ยังสังเกตพบปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “วินเนอร์ เอฟเฟ็กต์” ซึ่งทำให้ผู้ที่ชนะในหมู่สัตว์แต่ละครั้งจะเพิ่มโอกาสที่จะได้ชัยชนะในการแก่งแย่งกันเพื่อความเหนือกว่าในสังคมในคราวต่อไปอีกด้วย

ทีมวิจัยของจีนสร้างสนามแข่งขันเชิงสังคมแบบมาตรฐานสำหรับหนูขึ้น โดยให้หนูทดลองเผชิญหน้ากันในท่อขนาดพอดีตัว แล้วบันทึกพฤติกรรมต่างๆ ที่หนูแสดงออกซึ่งกันและกัน ตั้งแต่การเริ่มการดันฝ่ายตรงกันข้าม, การดันกลับเป็นการตอบโต้, การแสดงการขัดขืน, การล่าถอย หรือการนิ่งเฉย ในเวลาเดียวกันก็ตรวจสอบคลื่นสมองของหนูพร้อมกันไปด้วย

จากการตรวจสอบคลื่นสมองของหนู พบว่าประสาทกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งทำงานมากเป็นพิเศษเมื่อหนูแสดงพฤติกรรมเหนือกว่า เช่นดันฝ่ายตรงกันข้ามหรือแข็งขืนฝ่ายตรงกันข้าม เมื่อทดลองให้ยาระงับการทำงานของประสาทกลุ่มนี้ พบว่าหนูที่ได้รับยาแสดงพฤติกรรมเหนือกว่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด และแสดงอาการล่าถอยบ่อยมากขึ้น ตรงกันข้าม เมื่อใช้อุปกรณ์ “ออพโตจีเนติคส์” เพื่อกระตุ้นสมองในส่วนดังกล่าวด้วยแสง พบว่าหนูทดลองที่ผ่านการกระตุ้นแสดง

Advertisement

พฤติกรรมเหนือกว่าและประสบความสำเร็จมากถึง 90% โดยที่การกระตุ้นดังกล่าวไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวหรือเพิ่มระดับความก้าวร้าวหรือกระวนกระวายขึ้นเลย

ศาสตราจารย์หูระบุว่า การทดลองนี้อาจนำมาประยุกต์ใช้กับมนุษย์ได้ หากมีการค้นคว้าวิจัยต่อเนื่องต่อไปในอนาคต จนถึงขณะนี้บอกได้เพียงว่า กลุ่มประสาทสมองทำนองเดียวกันนี้มีอยู่ในมนุษย์เราเช่นเดียวกับในหนู

ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ว่าการกระตุ้นในบริเวณดังกล่าวอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้เช่นเดียวกัน

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image