‘พล่ากุ้ง-ดร.ป๊อป’ บทเรียนความเข้าใจผิดใน ‘โรคซึมเศร้า’

จากเรื่องราวความเศร้าโศกต่อการจากไปของนักร้องดัง “เชสเตอร์ เบนนิงตัน” แห่งวงลิงคินพาร์ก กลับกลายเป็นประเด็นร้อนแรงบนโลกโซเชียลในเวลาไม่เพียงไม่กี่ชั่วโมง เมื่อ “พล่ากุ้ง” วรชาติ ธรรมวิจินต์ ดีเจและพิธีกรหนุ่มผู้มีภาพลักษณ์ในแนวทางตลกขบขัน ลุกขึ้นมาโพสต์ภาพของเบนนิงตันในเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความว่า “จะตายอย่างไรก็ได้ แต่…ไม่ควรฆ่าตัวตาย”

นอกจากนี้ ยังมีคำอธิบายที่เพิ่มดีกรีความร้อนระอุมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ไม่เคารพการตัดสินใจของเบนนิงตันแม้แต่นิดเดียว เนื่องจากทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นการไม่ยุติธรรม งานไม่เดิน เพื่อนลำบาก

ไม่เพียงเท่านั้น พล่ากุ้งยังตบท้ายว่า เข้าใจว่าผู้ตายเป็น “โรคซึมเศร้า” ตนไม่เป็นโรคนี้ แต่ก็เคยเครียดสุดสุด จนหาทางออกไม่ได้ ก็ยังไม่เลือกจะฆ่าตัวตาย

‘ฆ่าตัวตายเป็นบาป!’
แต่ #ผมก็ไม่ได้ฉลาดทุกเรื่อง

โพสต์ดังกล่าว สร้างกระแสลุกฮือบนคีย์บอร์ดของชาวเน็ตทั่วประเทศไทย ทั้งกระหน่ำ “เมนต์” และ “แชร์” ตำหนิดีเจรายนี้อย่างรุนแรง โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นสำคัญคือการแยกแยะระหว่างความเครียดโดยทั่วไป กับ “ผู้ป่วย” โรคซึมเศร้าว่ามีความแตกต่างกัน

Advertisement

ไม่เพียงคนทั่วไปที่พยายามเข้าไปอธิบายแง่มุมความอ่อนไหวดังกล่าว แม้แต่คุณหมอตัวจริง อาทิ “หมออั้ม” อิราวัต อารีกิจ และ นพ.วิทวัส ศิริประชัย หรือจ่าพิชิต แอดมินเพจดังอย่าง “ดราม่าแอดดิก” ก็เข้าไปท้วงติงความคิดของพล่ากุ้ง ว่าการฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องนอกเหนือเหตุผล เพราะสารสื่อประสาทในสมองจะทำงานผิดปกติ ซึ่งนักร้องรายนี้เป็นคนหนึ่งที่ต่อสู้กับโรคดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ด้วยสาเหตุจากการโดนทำร้ายในวัยเด็ก

ทว่า เรื่องยังไม่จบแค่นั้น เมื่อพล่ากุ้งจิ้มคีย์บอร์ดอีกหนโดยย้ำว่า ไม่ได้โพสต์ “เอาเท่” แต่อยากสื่อสารว่า การฆ่าตัวตายเป็นบาป และใครจะทำอะไรก็ได้ แต่อย่าฆ่าตัวตายก็เท่านั้น โดยขออุทิศในกรณีของตัวเองเป็นตัวอย่างกับสังคมไทย พร้อมย้ำด้วยแฮชแท็กหลายๆ ทีว่า #เสียดายเชส #สงสารเชส และ #ผมก็ไม่ได้ฉลาดทุกเรื่อง

เชสเตอร์ เบนนิงตัน

การกระทำดังกล่าว สร้างแรงกดดันอย่างหนักอย่างที่พล่ากุ้งเองก็คงคาดไม่ถึง กระทั่งต้องออกมา “ขอโทษ” ในที่สุด พร้อมทั้งลบโพสต์ต้นเรื่องทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยยืนยันว่าจะไม่ลบ นอกจากนี้ ยังต้องตระเวนสายออกรายการโทรทัศน์ประจันหน้ากับจิตแพทย์ที่มาให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

ล่าสุด พล่ากุ้งโพสต์ข้อความอีกครั้งหลังมรสุมสังคมรุมจวก โดยระบุว่า ไม่ได้มีเจตนาทำร้ายใคร ทั้งยังเผยแพร่ภาพขณะสังฆทานที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งเจ้าตัวระบุว่า เป็นการทำบุญให้ดวงวิญญาณของเชสเตอร์ เบนนิงตัน ไปสู่สุคติ และโปรดอโหสิกรรมให้ด้วย จากนั้น ยังอัพโหลดคลิปฉบับสมบูรณ์ของการพูดคุยกับแพทย์เรื่องโรคซึมเศร้า

ปิดท้ายด้วยการขอบคุณเหตุการณ์ทั้งหมดที่ทำให้ตนเดินทางมาถึงจุดนี้

พล่ากุ้งทำบุญขออโหสิกรรมจากเชสเตอร์ เบนนิงตัน

บทเรียนจากไลฟ์โค้ช
เมื่อนักพูดไม่ใช่หมอ

อีกหนึ่งกรณีซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในช่วงก่อนหน้านี้ เมื่อ ฐาวรา สิริพิพัฒน์ หรือเจ้าของนามปากกา ดร.ป๊อป นักเขียนแนวไซไฟแฟนตาซีผู้ผันตัวไปเป็น “ไลฟ์โค้ช” หลังผ่านการอบรมเทรนเนอร์ NLP จาก NLP Academy มาเมื่อกันยายนปีที่แล้ว จากการอบรม 136 ชั่วโมง

บริการ “ปลดล็อกชีวิต” แบบวีไอพีมีค่าปลดล็อกแบบตัวต่อตัวที่ 40,000 บาท ปลดล็อกทุกปมปัญหาชีวิตใน 1 วัน! (อ้างอิงตามเฟซบุ๊ก Dr.Pop) ส่วนคอร์สรวมราคา 5,900 บาท

เหตุเกิดเมื่อมีคุณแม่ท่านหนึ่งพาลูกสาวซึ่งเป็นโรคซึมเศร้ามาร่วมคอร์สด้วย ระหว่างการอบรมมีคำพูดรุนแรงไล่ให้ไปตาย เด็กสาวรู้สึกแย่จึงขอออกนอกห้องอบรม ต่อมาดร.ป๊อปเรียกแม่ลูกไปคุยด้วย เกิดการใช้คำพูดรุนแรงและต่อว่าเด็กสาวว่า “เสแสร้ง” ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าจริง โดยแม่ของ ดร.ป๊อปเข้ามาร่วมต่อว่าเด็กสาวด้วย

เด็กสาวถูกพาตัวไปไว้ในห้องเก็บของเพื่อรอให้พ่อมารับ ส่วนคุณแม่ยืนยันจะอยู่ต่อเพื่อฟังคอร์ส NLP ต่อให้จบ

ไลฟ์โค้ชคนดังกล่าวออกมาชี้แจงว่า คุณแม่ที่มาร่วมคอร์สทราบอยู่แล้วว่าคอร์สนี้ไม่ให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าร่วมแต่ยังยืนยันจะให้ลูกสาวตัวเองมา การใช้คำพูดรุนแรงเพื่อ “ทดสอบ” ว่าเป็นโรคซึมเศร้าจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาดร.ป๊อปบอกว่าสามารถทำให้คนที่คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าหายได้ โดยใช้คำพูดรุนแรงกระตุ้นให้รู้ว่าไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าจริง

ดร.ป๊อประหว่างการพูดในคอร์ส NLP

เหตุการณ์นี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากโดยเฉพาะหน้าที่ของ “ไลฟ์โค้ช” โดยเฉพาะการใช้ NLP ซึ่งมีการตั้งคำถามถึงการยอมรับในทางวิทยาศาสตร์ จนถึงการเป็นไลฟ์โค้ชที่ไม่ใช่ “จิตแพทย์” ยังไม่ต้องพูดไปถึงการรักษา เพราะแค่การตั้งตนวินิจฉัยโรคว่าเป็นโรคซึมเศร้าจริงหรือไม่ ก็ไม่สมควรทำแล้ว

ที่หนักหนาไปอีกคือ การใช้คำพูดรุนแรงทดสอบ ยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่

อีกประเด็นหนึ่งคือ การอยู่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนใกล้ชิดผู้ป่วยเช่นแม่ของเด็กสาวในกรณีนี้ สมควรมีความเข้าใจโรคอย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การดูแลรักษาอย่างถูกวิธี

แม้ปัจจุบันสังคมจะเริ่มเปิดกว้างให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่ยังเกิดความเข้าใจผิดอยู่มาก โดยเฉพาะการคิดว่าผู้ป่วย “แกล้งทำ” หรือ “คิดไปเอง” ฉะนั้น หากมีความไม่แน่ใจใดๆ ควรปรึกษาแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญ

‘โรคซึมเศร้า’ ต้องเข้าใจ
บำบัดผิดยิ่งส่งผลร้าย

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต บอกว่า โรคซึมเศร้าสามารถเป็นได้ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ เป็น 1 ในการเจ็บป่วยทางจิตเวชที่พบบ่อยที่สุด ใน 1 ปีมีคนไทยประมาณ 3% เป็นโรคซึมเศร้า

“ในทางวิชาการแล้วโรคนี้มีมานานแล้ว สถานการณ์ทางสังคมอาจจะทำให้อุบัติการณ์นี้เพิ่มขึ้นได้เป็นระยะ เช่นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำมากๆ คนมีความเครียดมากๆ ก็เป็นปัจจัยไปซ้ำเติมทำให้เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น ซึ่งโดยตัวมันเองเป็นโรคที่เป็นมากที่สุดของโรคทางด้านจิตใจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาเนื่องจากคนไทยมักจะมองไม่แยกระหว่างคนที่มีความรู้สึกเศร้า กับการเป็นโรคซึมเศร้าเรามักจะคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ญาติและเพื่อนฝูงก็มักจะมองว่าคิดมากไปเอง ทำให้ผู้ป่วยไม่มาพบเเพทย์ ทั้งที่จริงๆ แล้วต่างจากภาวะความรู้สึกเศร้าที่มีอยู่ทั่วไปอย่างชัดเจน ‘โรคซึมเศร้า’ ไม่ใช่แค่ความรู้สึกเศร้าที่ทุกคนมีได้หมด อย่างการสูญเสียสิ่งที่รักก็มีอาการเศร้าได้ แต่คำว่าโรคซึมเศร้ามันเป็นความแปรปรวนของสภาวะจิตใจ ที่ทำให้เรามีอารมณ์เศร้า โดยอาจจะมีเหตุ คือเกิดจากภายนอก หรือไม่มีเหตุ คือเกิดจากภายในตัวเราก็ได้ แต่ทั้ง 2 แบบทำให้เกิดสภาวะอารมณ์เศร้าต่อเนื่องยาวนานติดต่อกันอย่างน้อยที่สุดคือ 2 สัปดาห์ขึ้นไป”

อีกประเด็นที่น่าสงสัยคือ กรรมพันธุ์มีส่วนให้เป็นโรคซึมเศร้าได้หรือไม่

 

เรื่องนี้ นพ.ยงยุทธให้ความเห็นว่า มีส่วนบ้าง คนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็มีโอกาสที่คนในครอบครัวจะเป็น แต่จริงๆ แล้วมันมีสาเหตุที่สลับซับซ้อน อาจจะไม่ได้มาจากกรรมพันธุ์อย่างเดียว อาจมีเรื่องประสบการณ์วัยเด็กที่ไม่ดี การมีความเครียดเรื้อรัง หรือมีภาวะโรคร่วม ที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่าย เช่น เป็นโรคเรื้อรัง โรคความดัน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคติดสุรา โรควิตกกังวล เป็นต้น เหล่านี้จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้มาก

“ส่วนการคัดกรองว่าเป็นโรคซึมเศร้าต้องมีอาการ 1 บวก 3 คือ 1 มีอาการเศร้า บวกกับผลกระทบจากความเศร้า 3 ประการ 1.มีผลต่อความคิดจิตใจของเขา เช่น รู้สึกเศร้า ตำหนิตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่มีค่า คิดฆ่าตัวตาย 2.มีผลต่อร่างกาย เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ 3.มีผลต่ออาชีพและการงาน เช่น ทำให้ไม่สามารถจะทำงานได้ตามปกติ เพราะอารมณ์เศร้าทำให้คิดอะไรไม่ออก ไม่อยากทำงาน ไม่อยากเข้าสังคมกับใคร”

หากใครมีอาการนี้แล้วสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ นพ.ยงยุทธแนะนำว่า มีวิธีคัดกรองด้วยตัวเองได้โดยการเข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต จะมีแบบคัดกรองโรคซึมเศร้าอยู่ แต่การตัดสินใจสุดท้ายว่าป่วยหรือไม่อยู่ที่จิตแพทย์

“ซึ่งการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าเพื่อการรักษาต้องเป็นไปโดยจิตแพทย์หรือแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมมาด้านนี้ เพราะมันไม่ใช่แค่วินิจฉัย แต่มันจะนำมาสู่การรักษาที่ถูกต้อง มีมาตรฐาน ซึ่งปกติแพทย์หรือจิตแพทย์จะให้การรักษา 2 อย่างร่วมกัน คือ 1.การให้ยา 2.ให้การแนะนำหรือการให้จิตบำบัด เพราะการให้ยามันช่วยไปปรับการทำงานของสมองในเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ให้ทำงานได้ดีขึ้น อารมณ์เศร้าก็จะน้อยลง แต่อย่าลืมว่าเวลาเราเศร้าแล้ว เราจะมีการจัดโปรแกรมความคิดทางลบไว้เยอะ เพราะฉะนั้นถึงแม้อารมณ์เศร้าจะดีขึ้น แต่โปรแกรมความคิดลบมันยังอยู่ ตรงนี้จะเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการทำจิตบำบัด ทั้งนี้การรักษาด้วยยาอย่างเดียวมีโอกาส 60-70% ที่จะกลับมาเป็นซ้ำ แต่ถ้ารักษาด้วยจิตบำบัดควบคู่ไปด้วย ตัวเลขจะกลับกันคือมีโอกาสเพียง 30-40% ที่จะกลับมาเป็นซ้ำ เพราะฉะนั้น การรักษาที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดควรจะทำทั้งสองอย่าง”

แต่การรักษาโรคซึมเศร้าก็ยังมีปัญหาซ่อนอยู่ นพ.ยงยุทธระบุว่า ปัจจุบันการรักษาด้วยยาเข้าถึงมากกว่า 60% จึงไม่ค่อยมีปัญหา แต่เราจะมีปัญหาเรื่องจำนวนคนไข้ที่มากแล้วบุคลากรด้านจิตบำบัดมีน้อย จึงให้บริการให้กับคนไข้ได้ไม่มากพอ เพราะฉะนั้นคนไข้จำนวนหนึ่งก็อาจจะไปพึ่งบริการอื่นๆ อย่างที่เป็นข่าวในทุกวันนี้คือการไปพึ่งการอบรมสัมมนา ซึ่งไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า แต่ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนปกติมีความรู้สึกฮึกเหิม มีกำลังใจ อาจจะมีการใช้วิธีการที่ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างยิ่ง เช่นมีการใช้ภาษาที่รุนแรง

“กรณีอย่างนี้มีโอกาสที่จะเกิดผลกระทบทางร้าย เพราะมันไม่ได้ช่วยบำบัดเขา การใช้คำพูดที่รุนแรงไปตำหนิ ใช้วิธีให้เขาคิดในมุมกลับให้ฮึกเหิม ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะจิตใจเค้าอยู่ในภาวะเปราะบาง อยู่ในภาวะซึมเศร้า อาจจะได้ผลกระทบทางลบยิ่งกว่า โดยหลักแล้วยิ่งทำให้อาการหนักขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้ก็อาจจะต้องกลับไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป แต่การมีเรื่องราวขึ้นมาก็มีข้อดีคือ ทำให้คนได้มาหันมารับรู้ข้อมูลข่าวสารในทางที่ถูกต้องมากขึ้น”

ส่วนคนที่อาจจะคิดไปเอง หรือไม่แน่ใจว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ นพ.ยงยุทธบอกว่า การที่เราสงสัยตัวเราเองไม่ได้มีข้อเสียอะไร เพราะเรื่องแบบนี้เราควรตระหนักไว้ดีกว่ามองข้ามไป เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดเรารู้สึกว่าเราไม่แน่ใจว่าเป็นหรือเปล่าก็ไปพบจิตแพทย์ได้ โดยการรักษานั้นคนไทยทุกคนอยู่ภายใต้หลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม สิทธิราชการ ซึ่งทุกสิทธิได้รับการคุ้มครองทั้งหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image