“เลขาฯศาลรธน.” ชี้เป็นดุลพินิจศาลฎีกา จะส่งคำร้อง “ยิ่งลักษณ์”ให้ศาลรธน. หรือไม่

“พิมล” ชี้เป็นดุลพินิจศาลฎีกา จะส่งคำร้อง “ยิ่งลักษณ์”ให้ศาลรธน. หรือไม่ – เผย องค์คณะเตรียมลงมติคำร้อง กกต. 2 ส.ค.

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่วัดเสมียนนารี นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงการพิจารณาคำร้องของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุม เพื่อพิจารณาลงมติว่าจะรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัยหรือไม่ ในวันพุธที่ 2 สิงหาคมนี้ เวลา 13.30 น. ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งนี้จะเร่งดำเนินการ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจและเป็นช่วงที่ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ ส่วนคำร้องในเรื่องอื่นๆ ที่ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ขณะนี้มีจำนวน 10 เรื่อง ซึ่งทางศาลรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณา

เมื่อถามถึงกรณีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างกำลังพิจารณาจะมีปัญหาต่อ การพิจารณาคดีของศาลหรือไม่ นายพิมล กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มีปัญหา เพราะกระบวนการพิจารณาของศาล จะเป็นไปตาม ข้อกำหนดเดิม ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ก็จะยึดตามเงื่อนไขที่กำหนดใว้ในกฎหมายใหม่

เมื่อถามถึงกรณีที น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 5 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 235 หรือไม่ นายพิมล กล่าวว่า ศาลฎีกาจะส่งคำร้องดังกล่าวหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล แต่ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าคำร้องดังกล่าวจะเข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 หรือไม่ ในอดีตที่ผ่านมา ศาลฎีกาเองก็ไม่เคยส่งคำร้องเข้ามายังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าคำร้องดังกล่าวไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

Advertisement

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณีดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มอบให้ทนายความไปยื่นคำร้องใหม่ต่อศาลฎีกาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ขอให้ส่งข้อโต้แย้งดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยอ้างว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 บัญญัติให้เป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่จะวินิจฉัยข้อโต้แย้งดังกล่าวของคู่ความ และข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้ขยายความถึงวิธีปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 212 ไว้ในทำนองว่าศาลฎีกาจะต้องส่งข้อคำโต้แย้งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเท่านั้น

นายพิมล ยังเปิดเผยถึงการรักษาความปลอดภัยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 สิงหาคม ที่จะมีการพิจารณาคำร้องของ กกต. ว่า เบื้องต้นจะมีการประเมินสถานการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในช่วงที่จะมีการพิจารณาคดีของศาลในทุกครั้ง ที่เราจะเตรียมความพร้อม แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการสั่งเพิ่มกำลังดูแลความปลอดภัยเป็นพิเศษ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image