คุณแม่ผ่าคลอด ไม่ได้ชิล อย่างที่คิด

หลังจากที่ รศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรม สาขาสูตินรีเวชกรรม กลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ในฐานะประธานอนุกรรมการกิจการพิเศษ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาระบุว่าอัตราการผ่าคลอดของหญิงตั้งครรภ์ทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นค่านิยมใหม่ที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากการผ่าคลอดมีอันตรายมากกว่าการคลอดทางช่องคลอด แม้ปัจจุบันจะเกิดขึ้นน้อย และเตือนว่าไม่ควรผ่าคลอดโดยไม่มีเหตุความจำเป็น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนบทความเรื่อง “จะคลอดธรรมชาติ หรือ ผ่าคลอดดีนะ?”เผยแพร่ไว้ในเวบไซต์คณะแพทยศาสตร์ศิริราช โดยมีเนื้อหา ดังนี้

คนเราคลอดได้กี่วิธี
เมื่อพูดถึงการคลอด การที่คุณแม่เบ่งคลอดเองทางช่องคลอดถือว่าเป็นการคลอดตามธรรมชาติหรือการคลอดปกติ ซึ่งส่วนมากก็มักจะลงเอยด้วยความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อยที่คลอดออกมา มีคุณแม่จำนวนไม่มากที่ยังคงคลอดทางช่องคลอดนี่แหละแต่คลอดเองไม่ได้ ต้องใช้เครื่องมือ เช่น คีม หรือเครื่องดูดสูญญากาศช่วยคลอดออกมา กรณีนี้มักจะพบในกรณีที่คุณแม่ไม่มีแรงเบ่ง เบ่งไม่เป็น หรือหัวของลูกหมุนผิดตำแหน่ง แทนที่จะก้มหัวคลอดออกมา กลับแหงนหน้าออกมาแทน เป็นต้น นอกจากสองวิธีนี้แล้ว ยังมีการคลอดอีกวิธีหนึ่งก็คือการผ่าตัดคลอดเอาลูกออกทางหน้าท้อง

การผ่าตัดคลอดเป็นวิธีที่แพทย์ส่วนมากจะสงวนเอาไว้ใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นจริงๆ เช่น ลูกคลอดทางช่องคลอดไม่ได้เพราะตัวใหญ่มาก ลูกนอนอยู่ในท่าหรือแนวที่ผิดปกติ เช่นเอาก้นลงมาอยู่ข้างล่างตอนใกล้คลอดแทนที่จะเอาหัวลงมา หรือบางกรณีก็ผ่าตัดเพราะปัญหาอื่น เช่น รกเกาะต่ำขวางที่ปากมดลูกและมีเลือดออกมาหากทิ้งไว้นานอาจเป็นอันตรายทั้งแม่และลูกในท้องได้ ในบางรายที่คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และลูกในท้องไม่ค่อยจะแข็งแรงเสี่ยงที่จะขาดออกซิเจนขณะเจ็บท้องคลอดได้ กรณีอย่างนี้คุณหมอก็อาจจะต้องผ่าตัดคลอดเพื่อความปลอดภัยของลูกเช่นกัน

Advertisement

ถึงแม้ไม่มีปัญหาก็อยากจะผ่าคลอดได้ไหม?
ในอดีตการผ่าตัดคลอดเสี่ยงอันตรายไม่น้อย แต่ในปัจจุบันการผ่าตัดคลอดจัดเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัยสูง ดังนั้นทั้งคุณหมอและคุณแม่จึงนิยมผ่าตัดคลอดกันมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ผ่าเพราะเหตุผลทางการแพทย์ก็เปลี่ยนไปเป็นเหตุผลอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ผ่าเพราะกลัวเจ็บ เพราะถ้าคลอดเองกว่าจะคลอดต้องเจ็บท้องทรมานนานทีเดียว คนเดี๋ยวนี้อดทนสู้คนสมัยก่อนไม่ค่อยได้ บางคนก็ผ่าเพราะกลัวช่องคลอดฉีกขาดมาก กลัวช่องคลอดหลวมหลังคลอดซึ่งจะทำให้มีปัญหาเพศสัมพันธ์ในภายหลัง และบางคนก็ขอร้องให้คุณหมอผ่าตัดเพราะเลือกวันเวลาที่สะดวกเนื่องจากมีปัญหาหลายประการ เช่น ปัญหาการทำงาน บ้านอยู่ไกล หรือปัญหาจราจร ที่ดูจะไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไรแต่มีทำกันไม่น้อยก็คือการผ่าคลอดโดยดูตามฤกษ์ยาม

ผ่าท้องคลอดไม่มีอันตรายจริงหรือ ?
แม้จะยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการผ่าตัดคลอดในปัจจุบันมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการผ่าตัดคลอดจะไม่มีอันตรายอะไรเลย และเมื่อเปรียบเทียบกับการคลอดทางช่องคลอดแล้ว การผ่าตัดคลอดก็ยังคงมีอันตรายมากกว่าการคลอดทางช่องคลอดอยู่ดี

อันตรายจากการผ่าตัดคลอดเมื่อเปรียบเทียบกับการคลอดทางช่องคลอดที่ควรทราบมีหลายประการ ได้แก่
1. การผ่าตัดคลอดจะทำได้ คุณแม่ต้องได้รับยาระงับความรู้สึกหรือยาสลบ ซึ่งบางครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น การมีความดันโลหิตลดต่ำลงทันทีจากการบล็อกหลัง การสำลักน้ำหรืออาหารเข้าไปในหลอดลมจากการดมยาสลบ นอกจากปัญหาที่แม่แล้ว ลูกที่คลอดออกมาจากแม่ที่ได้รับยาสลบอาจเกิดการขาดออกซิเจนและตัวเขียวได้
2. การผ่าคลอดต้องใช้มีดกรีดทั้งที่หน้าท้องและมดลูกเป็นแผลขนาดใหญ่ ทุกครั้งที่กรีดมีด จะมีการเสียเลือดจำนวนไม่น้อยตามมา ในขณะที่การคลอดทางช่องคลอดมีแผลที่ช่องคลอดเพียงเล็กน้อยและเสียเลือดน้อยกว่ากันมาก ถ้าคุณแม่ที่มีปัญหาเลือดจางอยู่แล้ว ถ้าต้องรับการผ่าคลอดอาจเกิดอันตรายได้ง่าย
3. การผ่าตัดคลอดมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าการคลอดทางช่องคลอด และมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงในช่องท้อง บางรายอาจเสียชีวิตได้
4. การผ่าตัดคลอดมีโอกาสลงมีดไปโดนอวัยวะอื่น เช่น ลำไส้หรือ กระเพาะปัสสาวะได้
โดยเฉพาะในรายที่เป็นการผ่าตัดคลอดท้องหลังซึ่งการผ่าตัดครั้งแรกมีพังผืดในช่องท้องค่อนข้างมาก
5. การผ่าตัดคลอดจะทำให้คุณแม่เจ็บแผลหลังคลอดมากและนานกว่าการคลอดทางช่อง
คลอด บางคนผ่ามา 3-5 วันแล้วยังเดินไม่ค่อยไหว ให้ลูกกินนมแม่ยังไม่ได้เพราะปวดแผลก็มี แต่ถ้าคลอดทางช่องคลอดหลังคลอดวันเดียวก็เดินได้แล้ว

เคยผ่าคลอดแล้วต้องผ่าอีกหรือไม่ ?
ภายหลังการผ่าตัดคลอด มดลูกของคุณแม่จะมีแผลที่เกิดจากการผ่าตัดซึ่งจะทำให้มดลูกไม่แข็งแรง คล้ายแก้วที่เคยร้าวและใช้กาวเชื่อมติดไว้ เมื่อมีการตั้งท้องครั้งใหม่มดลูกของคุณแม่อาจแตกได้ตอนใกล้ๆคลอดหรือตอนเจ็บท้องคลอด ดังนั้นคุณหมอส่วนมากจึงมักแนะนำให้คุณแม่ที่เคยผ่าคลอดมาแล้วรับการผ่าตัดคลอดซ้ำ โดยการผ่าตัดครั้งหลังนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้คุณแม่เจ็บท้องก่อน มีคุณแม่บางรายที่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อนและคุณหมอแนะนำให้คลอดทางช่องคลอดได้ รายเช่นนี้คุณหมอต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างละเอียดว่าต้องไม่เสี่ยงต่อการแตกของมดลูก เช่น ลูกต้องตัวไม่ใหญ่มาก แม่มีแรงเบ่งดี เป็นต้น ในขณะดูแลคุณแม่ตอนเจ็บท้องคลอดก็ต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถดูแลคุณแม่อย่างดี มีอุปกรณ์ดูแลพร้อมเพรียงและถ้าจำเป็นสามารถผ่าตัดคลอดได้ทันที

สุดท้าย
การคลอดเป็นขบวนการตามธรรมชาติ จึงควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ การผ่าตัดคลอดโดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่พียงพอ อาจทำให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์เสี่ยงอันตรายโดยไม่จำเป็นได้ ขอให้คุณแม่คลอดลูกโดย “ ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย” กันทุกคนนะครับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image