นาข้าวเชียงราย 5,000 ไร่ จมใต้น้ำ น้ำแม่สะกึ๋นยังเพิ่มระดับทะลักท่วมไม่หยุด

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่านาข้าวจำนวนกว่า 5,000 ไร่ สวนกล้วยไร่ข้าวโพดและบ่อปลาที่ชาวบ้านในต.เวียงเหนือและต.เมืองชุม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เพาะปลูกและเลี้ยงไว้อีกเป็นจำนวนมากต้องจมอยู้ใต้น้ำลึกบางจุดสูงกว่า 2 เมตร ภายหลังน้ำจากลำห้วยแม่สะกึ๋น ซึ่งรับน้ำมาจากหนองน้ำหนองหลวงยังคงมีปริมาณน้ำสูงจนไหลทะลักเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากฝนที่ตกอย่างหนักติดต่อกันในช่วงสัปดาห์ก่อนทำให้น้ำหนองหลวงมีปริมาณมากเกินความจุด ทำให้ไหลมาตามลำห้วยอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งก่อนหน้านี้กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวได้พัดทำให้ฝายกั้นแม่น้ำแม่สะกึ๋นบริเวณบ้านดอนมูล หมู่ 10 ต.เวียงชัย อ.เวียงชัยแตก ทำให้น้ำไม่มีจุดชลอความเร็วจึงไหลบ่าตามฝายน้ำล้นและตามรูรั่วริมฝั่งทะลักท่วมพื้นที่ทางการเกษตรดังกล่าวแม้ตลอดแนวจะมีการเสริมคันดินสูงขึ้นอีกกว่า 1 เมตรก็ตาม ล่าสุดน้ำในหนองหลวงยังคงมีปริมาณมากเพราะการระบายน้ำเป็นไปด้วยความล่าช้าเพราะมีจำนวนผักตบชวาจำนวนมหาศาลปิดทางน้ำไหลอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่เร่งเคลียร์แต่ด้วยมีจำนวนมากทำให้การเอาออกต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ ทำให้เกิดน้ำสะสม ซึ่งคาดว่าจะส่งผลทำให้น้ำที่ท่วมใพื้นที่ทางการเกษตรจะยังคงท่วมต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 1สัปดาห์ ซึ่งอาจทำให้ต้นข้าวที่ชาวนาปลูกไว้เสียหายทั้งหมด

ด้านนางภัทราวดี ปัญญาบุญ นายอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนายสาคร ตั๋นคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทานตะวัน ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วมเสียหายของชาวนาตำบลทานตะวัน อ.พาน พบนาข้าวเน่าตายกว่าพันไร่ เนื่องจากน้ำได้ท่วมต้นข้าวนานนับ 10 วัน แม้ว่าพื้นที่ตำบลทานตะวันชาวนาได้เลือกปลูกข้าวพันธุ์หอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีลำต้นสูงกว่า 70 เซนติเมตร เพื่อให้พ้นน้ำซึ่งเป็นนาตม แต่ก็พบว่าระดับน้ำได้ท่วมสูงกว่า 1 เมตร ทำให้ต้นข้าวถูกน้ำท่วมจนต้นข้าวเน่าเสียหายกว่า 3 พันไร่ และยังพบว่าขณะนี้น้ำยังได้ท่วมน​าข้าวอยู่ จนพ้นฤดูกาลทำนาปี อีกทั้งชาวนาไม่มีกล้าต้นข้าวมาปลูกใหม่ จึงจำใจต้องทิ้งร้างผืนนาในฤดูทำนาปีนี้ไปก่อน โดยจะไปเริ่มปลูกใหม่ในฤดูนาปรังคือช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้แทน

นางภัทราวดี กล่าวว่า ขณะนี้ได้รวบรวมความเสียหายน้ำท่วมไร่นาบ้านเรือนของราษฎรในตำบลต่างๆในเขตพื้นที่อำเภอพาน เพื่อทางอำเภอจะได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติเสนอไปยังจังหวัดต่อไป พร้อมทั้งเร่งหาทางเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย โดยทางเกษตรอำเภอจะทำการสำรวจนาข้าวรายที่มีน้ำท่วมเกินกว่า 7 วัน จนข้าวเสียหายนำเข้าคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาไร่ละ 1,113 บาท และในส่วนประกันภัยข้าวนาปี เมื่อทางจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว จะได้อีกไร่ละ 1,260 บาท แม้ว่าเงินทั้งสองส่วนนี้จะไม่คุ้มกับต้นทุนปลูกข้าวที่เสียหายไปจากภาวะน้ำท่วมซึ่งน้ำมาเร็วและมากกว่าทุกปีจนเกิดความเสียหายเป็นพื้นที่กว้างแต่ก็จะเป็นทุนสำหรับการผลิตข้าวในฤดูกาลต่อไปได้

Advertisement
DCIM100MEDIADJI_0035.JPG
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image