บรรพชาเฉลิมพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ 10

วัดโพธิ์ บรรพชาเฉลิมพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาวันที่ 28 กรกฎาคม 2560

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ พระอารามหลวง ท่าเตียน กรุงเทพฯ โดย พระเทพวีราภรณ์ (สีนวล ปญฺญาวชิโร ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ จัดบรรพชาสามเณรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาวันที่ 28 กรกฎาคม 2560

พระเทพวีราภรณ์ เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงออกผนวชในพระพุทธศาสนา โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดให้จัดการพระราชพิธีผนวช ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2521 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ได้รับถวายพระสมณนามว่า “วชิราลงฺกรโณ” และได้ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดจนทรงลาสิกขา ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2521

พระองค์เสด็จพระราชดำเนินแทน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายผ้าพระกฐินหลวงตามวัดต่างๆ เป็นต้น

Advertisement

“วัดพระเชตุพนฯ เป็นวัดประจำราชวงศ์จักรี พระมหากษัตริย์ในทุกๆ พระองค์ที่ผ่านมา ล้วนมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวัดพระเชตุพนฯอย่างหาที่สุดมิได้ ดังนั้น ในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯจึงได้จัดบรรพชาสามเณร จำนวน 69 รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน ในวันที่ 26 กรกฎาคม ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ และในวันที่ 28 กรกฎาคม พระภิกษุสงฆ์และสามเณรภายในวัดทุกรูปจะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และมีการถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุ-สามเณรหมดทั้งวัด เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา ทางวัดก็ขอเชิญญาติ-โยมทุกๆ คน เข้าร่วมพิธีสำคัญในครั้งนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน” เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯกล่าว

การบรรพชาสามเณร นอกจากเป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและความเป็นไทยด้วยการนำศาสนาศิลปวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่ตามแบบวิถีพุทธวิถีไทยแล้ว ยังได้อานิสงส์ เพราะสามเณรถือเป็นเหล่ากอของสมณะ คือพระภิกษุซึ่งเป็นหนึ่งในพุทธบริษัท 4 ที่คอยปกปักรักษาพระพุทธศาสนา ถ้าไม่มีสามเณรก็ไม่มีพระภิกษุ

Advertisement

“การบรรพชาเป็นสามเณรมีมาแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสให้พระสารีบุตรพุทธสาวก ทรงบรรพชาให้กับสามเณร “ราหุล” ผู้เป็นพุทธบุตร นับเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา และถือเป็นประเพณีนิยมในพระพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่มารดา-บิดานำบุตรหลานที่เป็นชายอายุยังไม่ถึงเบญจเพส คือ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าไปรับการบรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งแต่โบราณกาลมานั้น การที่จะได้เล่าเรียนเขียนอ่านตำรับตำรา ต้องอาศัยวัดเป็นสถานที่เล่าเรียนให้กับกุลบุตร และจำเป็นต้องบรรพชาเป็นสามเณรก่อน จึงจะได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของพระเถระ เพื่อที่จะได้เข้าไปอยู่ในวัดตามธรรมเนียม วัดจึงเป็นทั้งบ้าน โรงเรียน และศูนย์ฝึกหัดฝีมือทุกแขนงของสามเณร” พระเทพวีราภรณ์

สำหรับความเป็นมา คือ ในระหว่างพรรษาที่ 3 ที่พระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ สักกชนบท เมื่อเสด็จไปถึงมีพุทธบิดา คือ พระเจ้าสุทโธทนะ เป็นประธานพร้อมด้วยพระญาติได้ถวายการต้อนรับ และจัดให้ประทับที่อารามของเจ้าสักยะองค์หนึ่งชื่อว่า นิโครธ จึงได้เรียกว่า นิโครธาราม

ในวันที่ 7 ได้เสด็จเข้าไปทรงรับภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ พระนางยโสธราพิมพา ซึ่งเป็นพระมารดาของราหุล พระโอรสของพระโพธิสัตว์เมื่อก่อนทรงผนวช ได้ทรงแต่งพระราหุลออกมา ให้กราบทูลพระราชบิดา ทำนองว่ากราบทูลขอพระราชสมบัติ พระราหุลเวลานั้นมีพระชนม์ 7 ขวบ ออกมากราบทูลขอมรดก พระพุทธเจ้าก็ทรงมีพุทธดำริว่า ทรัพย์ที่เป็นโลกียะนั้น เป็นของที่ไม่ยั่งยืนแต่ว่าอริยทรัพย์เป็นสิ่งยั่งยืนกว่า เพราะฉะนั้น เมื่อมากราบทูลขอมรดก จึงได้ประทานอริยทรัพย์ให้

บรรดาสมบัติใดๆ ในโลกนี้ก็ตามเมื่อครอบครองแล้วก็ยังไม่พ้นซึ่งความทุกข์ ไม่พ้นจากความเกิด ความแก่ และความตาย ยังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏสังสาร สมบัติชนิดเดียวที่พระองค์จะทรงพระราชทานให้ได้ก็คืออริยสมบัติ คือ สมบัติภายในซึ่งเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น คือ พระนิพพาน

พระพุทธเจ้าก็ทรงนำพระราหุลไปนิโครธารามด้วย และเมื่อถึงนิโครธารามแล้วทรงโปรดให้พระสารีบุตร บรรพชาพระราหุล เป็นสามเณรราหุล จึงนับเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา และก็ใช้วิธีบวชด้วยให้ถึงสรณะ 3 (คือรับไตรสรณคมน์) สืบต่อมาจนทุกวันนี้

วิธีการบวชนั้นก็คือ ให้ผู้จะบวชนั้นปลงผมและหนวด ปัจจุบันปลงคิ้วด้วยซึ่งเห็นจะมีเฉพาะในประเทศไทยซึ่งมีประวัติของการที่ต้องให้ปลงคิ้ว ผู้จะบวชสามเณร ครองผ้าจีวรเหมือนกับการอุปสมบทแล้วเข้าไปไหว้ (กราบ) ภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์ แล้วรับไตรสรณคมน์จากท่าน จากนั้นก็รับสิกขาบท คือ รับศีล 10 ข้อ คือ 1.ปาณาติปาตา เวระมะณี สิขาปะทัง สะมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท เว้นจากการฆ่าสัตว์) 2.อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (เว้นจากการลักทรัพย์) 3.อะพรัหมะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (เว้นจากการประพฤติล่วงพรหมจรรย์) 4.มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (เว้นจากการพูดเท็จ) 5.สุราเมระยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ (เว้นจากการดื่มสุรา) 6.วิกาละโภชนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (เว้นจากการบริโภคอาหารยามวิกาล) 7.นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (เว้นจากการดูการรื่นเริง) 8.มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะ มัณฑะนะวิภูสะนัฎฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (เว้นจากการตกแต่งร่างกาย ทัดทรงด้วยเครื่องประดับ และลูบไล้ด้วยของหอม) 9.อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (เว้นจากการนั่งนอนบนที่นอนสูง) และ 10.ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา เวรมณี สิกฺขาปทํ สะมาทิยามิ (เว้นจากการรับเงินทอง)

การบรรพชาหรือการบวชเป็นสามเณรนั้นถือว่าเป็นการสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ทั้งแก่ผู้บวชและผู้จัดให้มีการบวช เพราะผู้บวชได้มีโอกาสเข้ามาใช้ชีวิตแบบบรรพชิตจริงๆ ได้ศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อน้อมนำไปปฏิบัติเป็นหลักใจ ได้สนองพระคุณบิดามารดา ผู้เป็นบุพการี ส่วนบิดามารดาและวงศาคณาญาติย่อมได้โอกาสทำบุญเป็นพิเศษเท่ากับได้บวชใจไปด้วย

นอกจากนี้ การบวชยังทำให้เกิดผลดีทั้งฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักร กล่าวคือ ฝ่ายศาสนจักร หรือวัดไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ หอฉัน ย่อมมีความหมายขึ้น เพราะมีผู้นำมาใช้ประโยชน์ ฝ่ายอาณาจักรหรือฝ่ายบ้านเมืองก็ได้รับความสงบร่มเย็น ได้สงวนทรัพยากรของชาติ ได้อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามไว้ ที่สำคัญ คือ การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่เยาวชนของชาติได้อย่างแยบยล และมีผลมหาศาล

เหนืออื่นใด คือ การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อสถาบันชาติ พระพุทธศาสนา และการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image