เนืองแน่น 72 ปี ‘สันติ เล็กสุขุม’ปรมาจารย์ด้านเจดีย์ ยกย่อง‘เป็นผู้ให้อย่างแท้จริง’ เจ้าตัวปาฐกถา‘คนเขียนภาพ ภาพเขียนคน’ (คลิป)

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มีการจัดเสวนาหัวข้อ “บันทึกไว้ในงานจิตรกรรม” เนื่องในโอกาส 72 ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม อดีตหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นที่ยอมรับและยกย่องอย่างสูงในแวดวงวิชาการ เป็นผู้ค้นคว้าและสร้างรูปแบบสันนิษฐานของเจดีย์และโบราณสถานทั่วประเทศไทย มีผลงานหนังสือนับไม่ถ้วน รวมถึงเล่มล่าสุด คือ ‘วัด-เจดีย์ : ในและนอกเกาะกรุงศรีอยุธยา’ ซึ่งจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมากจนล้นห้องประชุม โดยมีผู้ลงทะเบียนมากกว่า 600 ราย และยังมีผู้มาร่วมสมทบอย่างต่อเนื่อง ก่อนงานเริ่มต้น มีผู้นำดอกไม้ และพวงมาลัยมอบแด่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ รวมถึงขอลายเซ็นต์บนหนังสือ บุคคลในแวดวงวิชาการหลายสาขาทยอยมาถึงงานตั้งแต่ราว 08.00 น.

 

Advertisement

 

 

นายพีรพณ พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวว่า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เป็นอาจารย์สอนตนมาก่อน เป็นตัวอย่างที่ดี ตั้งใจสอน ทำให้ตนวาดภาพหัวโขนได้ครั้งแรกในชีวิต งานเสวนาวันนี้จะทำให้ผู้ฟังได้รับทราบความเป็นมาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะได้เป็นอย่างดี

ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ กล่าวว่า ชื่องานมาจาก สองประการ หนึ่ง คือ งานจิตรกรรมซึ่งเป็นศิลปะกรรรมสำคัญ ซึ่งสะท้อนสังคมมนุษย์แต่ละยุคสมัย สอง คือ ปีนี้อาจารย์สันติอายุครบ 72 ปี แต่จิตวิญญาณนักวิจัยยังโชติช่วงเหมือนอายุ 25 ปี แม้เกษียณแล้วแต่ยังโลดแล่นในวงการ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความผ่านเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่ทำโมเดล อีกสิ่งหนึ่งที่ประทับใจคือ เป็นผู้ให้อย่างแท้จริง ให้ทั้งความรู้และวิธีคิด คอยห่วงใยลูกศิษย์ทุกคน เจอหน้าทุกครั้งต้องถามว่า ทำงานวิจัยหรือยัง ด้วยความผูกพันยาวนาน จึงจัดเสวนานี้เป็นของขวัญ

ผศ.ดร.ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี กล่าวว่า ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะจัดงานทุกปี มีแฟนคลับเนืองแน่น งานนี้เป็นงานเชิดชูเกียรติบุคคลสำคัญของคณะโบราณคดี และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นปราชญ์คนหนึ่งของประเทศ

จากนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ ขึ้นกล่าวปาฐกถาเรื่อง ‘คนเขียนภาพ ภาพเขียนคน’ มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า การศึกษาภาพเขียน ก็คือการศึกษาคน คนเขียนภาพมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาเรียกคนเขียนภาพว่า ช่างเขียน และจิตรกร ทั้งคนและภาพ ยังทำหน้าที่เดิม คือ เมื่อคนเขียนภาพ ภาพก็เขียนคน ทั้งที่ความคิดเปลี่ยนไปแล้ว เรื่องราว รูปแบบกลายไปแล้ว ทั้งวัสดุและวิธีการ ในสมัยโบราณ ช่างเขียนเล่าเรื่องด้วยภาพนิทานจากคัมภีร์ ถ่ายทอดเป็นจิตรกรรมอุดมคติ สะท้อนตัวตนของช่าง และสังคมในยุคนั้นๆ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ ยังกล่าวถึงจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งนอกจากสะท้อนพระราชกิจส่งเสริมด้านศาสนาแล้ว ยังสะท้อนเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง มีการฉายภาพจิตรกรรมสำคัญหลายแห่ง อาทิ มโหสถชาดก ที่อุโบสถวัดสุวรรณาราม บางกอกน้อย กรุงเทพ

“ในภาพนิทานพุทธประวัติ ช่างมีการสอดแทรกความคิด อารมณ์ขัน ความคิด ธรรมเนียม นิสัยบางอย่างของคนสมัยนั้น เช่น เด็กอาจท้องเสีย ผู้ใหญ่ต้องเอาลงจากหลังช้าง นอกจากอุดมคติแล้ว ความสมจริงก็มีอยู่ มีการสอดแทรกสังคมในภาพอุดมคตินั้นความสมจริงเริ่มมีมากขึ้นเป็นระยะ ประจวบกับเมืองอิทธิพลตะวันตกซึ่งนิยมสัจนิยมเข้ามา ภาพเขียนสะท้อนความคิด รวมถึงจารีต ขนบ แนวคิด วิถีชีวิตบางอย่าง บันทึกการปรับตัวของสังคม การเปลี่ยนแปลงของจิตรกรรม ไม่ได้เกิดจากตัวจิตรกรรมเอง แต่เกิดจากคนที่คลี่คลาย ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติกล่าว รวมถึงฝากนักวิชาการรุ่นใหม่ศึกษาภาพเขียนมุสลิม ซึ่งมีลักษณะบางอย่างที่น่าจะเกี่ยวข้องกับจิตรกรรมไทย โดยเฉพาะสมัยอยุธยา หากวิจัยอย่างลึกซึ้งจะเกิดประโยชน์อย่างมาก

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น เป็นการบรรยายในหัวข้อต่างๆเกี่ยวกับจิตรกรรมไทย ซึ่งจะมีขึ้นตลอดทั้งวันไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม อาทิ จิตรกรรมไทยในฐานะสื่อการรับรู้พระพุทธศาสนา : พัฒนาการทางความคิด โดย ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ , เส้นแสงระยะลวงตาและแสงเงาในจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดย ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช, จิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 4 : ความสมจริงผ่านภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ภาพบุคคล และความสัมพันธ์กับภาพถ่าย โดย ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, จิตรกรรมภิกษุณีในพระอุโบสถวัดมกุฏกษัตริยาราม โดย รศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว, ลังกาทวีปอันศักดิ์สิทธิ์ในจิตรกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ โดย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง เป็นต้น

ทั้งนี้ บริเวณงานมีการจัดบูธจำหน่ายหนังสือของสำนักพิมพ์ต่างๆ โดยบูธสำนักพิมพ์มติชน มีผู้สนใจอย่างคับคั่ง ส่วนใหญ่สอบถามถึงหนังสือ “วัด-เจดีย์ ในและนอกเกาะกรุงศรีอยุธยา” ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ เล็กสุขุม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image