ปฏิบัติการ ดึงรพ.เอกชน คืนระบบ ผู้ประกันตน

กลายเป็นข้อกังวลของผู้ประกันตนกว่า 11 ล้านคน ที่ต้องรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญาของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความเป็นห่วงกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนออกจากระบบ ด้วยเหตุผลทางการเงิน และไม่สามารถบังคับโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้ได้ เพราะเป็นระบบสมัครใจ ส่งผลให้ผู้ประกันตนส่วนหนึ่งอดห่วงไม่ได้ว่า สุดท้ายสถานพยาบาลที่จะดูแลพวกเขาเหลือกี่แห่ง รวมทั้งสำนักงานประกันสังคมจะดูแลเรื่องนี้อย่างไร

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า เรื่องนี้ไม่ค่อยชัดเจนว่าสรุปแล้ว โรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญาของสำนักงานประกันสังคมมีกี่แห่งกันแน่ที่ทยอยลาออก เนื่องจากคำสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีไม่ได้บอกว่ามีจำนวนเท่าไร และทางสำนักงานประกันสังคมก็ไม่ได้ออกมาพูดเรื่องนี้ให้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม โดยปกติโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญาจะมีสัญญาปีต่อปี เพราะจากระบบแล้วทางสำนักงานประกันสังคมจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนสามารถยื่นเปลี่ยนโรงพยาบาลในสิทธิได้ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี และหากมีการลาออกจำนวนมาก ก็จะมีการร้องเรียนเข้ามาของเพื่อนผู้ประกันตนแล้ว
แต่ขณะนี้ยังไม่พบ ปัญหาของ รพ.ลาออก จริงๆ แล้วมีทุกปี ส่วนใหญ่ก็จะมีเหตุผลในเรื่องเพิ่มวงเงิน ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เพิ่มวงเงินอีก 40 บาทต่อหัวสำหรับผู้ป่วยนอก เป็นหัวละ 1,500 บาท และยังมี
ผู้ป่วยในตามรายโรคอีก ก็ราวๆ รวมแล้วประมาณ 3,000 บาทต่อประชากร ซึ่งส่วนตัวมองว่าหากจะต้องเพิ่มวงเงินเพื่อดึงโรงพยาบาลเอกชนให้อยู่ในระบบประกันสังคมต่อไป คงไม่ได้ จึงเสนอว่า สำนักงานประกันสังคมน่าจะมีโรงพยาบาลของตนเองในการดูแลผู้ประกันตนจะดีกว่าหรือไม่ คล้ายๆ ของตำรวจ หรือโรงงานยาสูบก็มี ซึ่งกองทุนประกันสังคมยังมีเงินตรงนี้นำมาใช้ได้Ž

นายมนัส ยังมองว่า ปัญหาโรงพยาบาลเอกชนไม่อยากเป็นคู่สัญญาของประกันสังคม ต้องพิจารณาดีๆ เพราะหากเหตุผล คือ เรื่องเงิน มองว่าอาจไม่ใช่ทั้งหมด เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชน ก. รายหนึ่งรับเงินรายหัวเพื่อดูแลผู้ประกันตนจำนวน 1 แสนคน แต่ผู้ประกันตนมารับบริการจริงๆ อาจแค่หลักหมื่นคน การบริหารดีๆ ย่อมได้กำไรด้วยซ้ำไป จริงๆ แล้วในเรื่องนี้ ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงานยังมองว่า สำนักงานประกันสังคมต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะการมีโรงพยาบาลเป็นของตนเองในการดูแลผู้ประกันตนเป็นทางเลือกที่ควรนำมาพิจารณา อาจเป็นการเทกโอเวอร์โรงพยาบาลที่บริหารเองไม่ได้ โดยเข้าไปบริหารเอง ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก
เกี่ยวกับเรื่องนี้

Advertisement

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ให้ความเห็นว่า โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับทางประกันสังคม จะเป็นไปตามความสมัครใจ ซึ่งก็จะมีการทำสัญญาปีต่อปี ที่ผ่านมา การลาออกไม่ได้มีเปอร์เซ็นต์มาก เมื่อมีการลาออกไป ก็จะมีโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาเป็นคู่สัญญาใหม่ โรงพยาบาลที่ลาออกหลายแห่งออกเพราะต้องการพัฒนาตนเองเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง อย่างโรงพยาบาลความงาม โรงพยาบาลดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เป็นต้น ซึ่งในปี 2560 มีเพียง 2 แห่งที่ลาออก แต่ต้องรอสรุปตัวเลขแน่ชัดอีกครั้ง

ส่วนข้อกังวลเรื่องการเพิ่มวงเงินให้โรงพยาบาลเอกชนนั้น สำนักงานประกันสังคมมีเกณฑ์กำหนด คือ 1.คุณภาพเรื่องการดูแลประชาชนต้องดีขึ้น 2.เรื่องทางการเงินต้องพอดี ไม่มากเกินไป ต้องเข้าใจว่าการให้บริการของ โรงพยาบาลเอกชน ผู้ที่จ่ายเองอาจต้องจ่ายในราคาสูง แต่ในส่วนผู้ประกันตนราคาจะสูงขนาดนั้นไม่ได้ ขณะที่คุณภาพต้องไม่ด้อยไปกว่ากัน ซึ่งจะมีเกณฑ์ควบคุมคุณภาพการบริการอยู่

เมื่อถามประเด็นความเป็นไปได้ในการสร้างโรงพยาบาลของผู้ประกันตนเองนั้น นพ.สุรเดชกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณากันดีๆ และต้องหารือร่วมกันยาวๆ อย่าลืมว่าการสร้างโรงพยาบาลขึ้นมา จำเป็นต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งประเทศไทยยังมีปัญหาการกระจายตัวของแพทย์ และพยาบาลอยู่ อย่างในต่างจังหวัดแพทย์ 1 คน ต้องดูแลประชาชนเป็นหมื่นคน อย่างในเมือง แพทย์ 1 คนดูแลประชาชน 1,500 คน

Advertisement

ถามว่า หากตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมขึ้นก็ต้องมีการดูดแพทย์ พยาบาลเข้ามาอีก ย่อมต้องกระทบภาพรวมทั้งประเทศ เรื่องนี้หากจะทำจึงต้องวางแผนดีๆ และต้องดูผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในวงกว้างได้ อีกทั้งการจะให้เทกโอเวอร์โรงพยาบาลเอกชนนั้น ข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่ภารกิจหลักของสำนักงานประกันสังคมเลย และการมีโรงพยาบาลของตนเองจะขัดกับหลักการในการแยกผู้ซื้อ ผู้บริการ เพราะการบริหารที่มีประสิทธิภาพไม่ควรให้ผู้ซื้อเป็นคนเดียวกันกับผู้ให้บริการและสิ่งสำคัญ การจะดำเนินการใดๆ ต้องไม่กระทบกระเทือนภาพใหญ่ของประเทศด้วย

 

อย่างไรก็ตาม นพ.สุรเดชย้ำว่า สำหรับ โรงพยาบาลที่เปิดให้บริการผู้ประกันตนยังคงมีอยู่ ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีสถานพยาบาลดูแลรักษา ซึ่งในปี 2560 มีสถานพยาบาลที่ให้การบริการรักษาผู้ประกันตนแบ่งเป็น โรงพยาบาลภาครัฐจำนวน 159 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 80 แห่ง

โรงพยาบาลเอกชน 80 แห่ง ประกอบด้วย 1.รพ.กรุงไทย 2.รพ.กล้วยน้ำไท 3.รพ.การุญเวช ปทุมธานี เป็น รพ.ทั่วไปขนาดใหญ่ 4.รพ.ทั่วไปขนาดใหญ่การุญเวช รัตนาธิเบศร์ 5.รพ.การุญเวช สุขาภิบาล 3
6.รพ.การุญเวช อยุธยา รพ.ทั่วไปขนาดใหญ่ 7.รพ.เกษมราษฎร์ ฉะเชิงเทรา 8.รพ.เกษมราษฎร์ บางแค 9.รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น 10.รพ.เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ 11.รพ.เกษมราษฎร์ ศรีบุรินทร์ 12.รพ.เกษมราษฎร์ สระบุรี 13.รพ.ทั่วไปขนาดใหญ่จุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ 14.รพ.ทั่วไปขนาดใหญ่จุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต 15.รพ.จุฬารัตน์ 11 อินเตอร์ รพ.ทั่วไปขนาดใหญ่ 16.รพ.ทั่วไปขนาดใหญ่เชียงใหม่ใกล้หมอ 17.รพ.ซานคามิลโล 18.รพ.เซ็นทรัล ปาร์ค 19.รพ.เทพปัญญา 20.รพ.เทพากร 21.รพ.นวมินทร์ รพ.ทั่วไปขนาดใหญ่ 22.รพ.นวมินทร์ 9 รพ.ทั่วไปขนาดใหญ่ 23.รพ.บางนา 1

24.รพ.บางนา 2  25.รพ.บางนา 5 26.รพ.บางปะกอก 3 พระประแดง 27.รพ.บางปะกอก 8 28.รพ.บางไผ่ 29.รพ.บางมด 30. รพ.บีแคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ 31.รพ.ป.แพทย์ 32.รพ.ปทุมเวช 33. รพ.ประชาพัฒน์ 34. รพ.ปิยะเวชช์ บ่อวิน 35. รพ.เปาโล โชคชัย 4 36. รพ.เปาโล สมุทรปราการ 37.รพ.พญาไท ศรีราชา 38.รพ.พระราม 2 39.รพ.เพชรเกษม 2 40.รพ.เพชรเวช 41.รพ.แพทย์ปัญญา 42.รพ.แพทย์รังสิต 43.รพ.ภัทร-ธนบุรี 44.รพ.มงกุฎระยอง 45.รพ.มงกุฎวัฒนะ 46.รพ.มหาชัย 2 47.รพ.มหาชัย 3 48.รพ.มเหสักข์ 49.รพ.มิชชั่น 50.รพ.มิชชั่นภูเก็ต 51.รพ.เมืองสมุทรปากน้ำ 52.รพ.เมืองสมุทรปู่เจ้าฯ 53.รพ.ยันฮี 54.รพ.ร่มฉัตร 55.รพ.รวมชัยประชารักษ์ 56.รพ.รวมแพทย์ระยอง 57.รพ.รัทรินทร์ 58.รพ.ราชธานี 59.รพ.ราชธานี โรจนะ 60.รพ.ราชเวชเชียงใหม่

61.รพ.ราชเวชอุบลราชธานี 62.รพ.ราษฎร์บูรณะ 63.รพ.ลาดพร้าว 64.รพ.ลานนา 65.รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล สมุทรสาคร 66.รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย 67.รพ.วิภาราม 68.รพ.วิภาราม-ชัยปราการ 69.รพ.วิภาราม ปากเกร็ด 70.รพ.วิภาราม สมุทรสาคร 71.รพ.วิภารามแหลมฉบัง 72.รพ.วิภาราม อมตะนคร 73.รพ.ทั่วไปขนาดใหญ่ศิครินทร์ 74.รพ.ศรีระยอง 75.รพ.สายไหม 76.รพ.สำโรงการแพทย์ 77.รพ.สุขสวัสดิ์ 78.รพ.ทั่วไปขนาดใหญ่หริภุญชัยเมโมเรียล 79.รพ.หัวเฉียว และ 80.รพ.เอกชล 2
ททั้งนี้

ทั้ง 80 แห่งยังอยู่ในระบบประกันสังคม และยังมี รพ.ภาครัฐให้บริการอีก 159 แห่ง รวมแล้วมีทั้งสิ้น 239 แห่ง และยังมีหน่วยบริการในเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชนอีก 3,746 แห่ง

ซึ่งทั้งหมดจะมีมาตรฐานในการให้บริการเป็นไปตามประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดมาตรฐานสถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน พ.ศ.2551 ซึ่งทางสำนักงานจะมีการลงตรวจสอบมาตรฐานตลอด อย่าง รพ.เอกชนที่มีมาตรฐานดี ก็จะมีการลงตรวจปีละ 1 ครั้ง ขณะที่หากมีสถานพยาบาลใดถูกร้องเรียนก็จะจัดทีมตรวจพิเศษขึ้น โดยไม่แจ้งสถานพยาบาลนั้นๆ ทราบล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม สามารถโทรสายด่วนได้ที่โทร 1506 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th
นพ.สุรเดชย้ำว่า มั่นใจได้ว่าไม่กระทบกับผู้ประกันตนอย่างแน่นอน…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image