ถอดรหัสจิตรกรรมยุค ร.4 ยกเทียบภาพถ่ายเก่า เผยความคล้ายคลึงกระทั่งต้นไม้ เชื่อส่งอิทธิพลถึงกัน (คลิป)

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มีการจัดเสวนาหัวข้อ “บันทึกไว้ในงานจิตรกรรม” เนื่องในโอกาส 72 ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม อดีตหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ซึ่งเป็นที่ยอมรับและยกย่องอย่างสูงในแวดวงวิชาการ เป็นผู้ค้นคว้าและสร้างรูปแบบสันนิษฐานของเจดีย์และโบราณสถานทั่วประเทศไทย มีผลงานหนังสือนับไม่ถ้วน รวมถึงเล่มล่าสุด คือ ‘วัด-เจดีย์ : ในและนอกเกาะกรุงศรีอยุธยา’ ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน โดยระหว่างวันนี้ถึง 30 ก.ค. จะมีการบรรยายในห้วข้อต่างๆเกี่ยวกับจิตรกรรมไทย

หนึ่งในหัวข้อบรรยายที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ ‘จิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 4 ความสมจริงผ่านภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ภาพบุคคล และความสัมพันธ์กับภาพถ่าย โดย ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ซึ่งเป็นการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับผลการศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 4 อันเป็นช่วงแรกที่มีการเขียนภาพจิตรกรรมในรูปแบบของการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ คาดว่าเป็นไปตามแนวคิดแบบ ‘สมจริง’ ที่ได้รับความนิยมในขณะนั้น ตัวอย่างเช่น การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 9 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ในอุโบสถวัดมหาพฤฒาราม, ภาพกระบวนพยุหยาตราชลมารค บริเวณผนังเหนือช่องหน้าต่างและประตูพระวิหาร วัดปทุมวนาราม ซึ่งคาดว่าเล่าเหตุการณ์ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาในคราวฉลองวัดปทุมวนาราม เมื่อ พ.ศ. 2410 ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการบรรยาย ผศ.ดร.พัสวีสิริ ได้ฉายภาพจิตรกรรมเปรียบเทียบกับภาพถ่ายเก่าซึ่งมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก สร้างความฮือฮาให้ผู้เข้ารับฟังเสวนา โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมพระราชพิธี 12 เดือนที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ซึ่งประกอบด้วยภาพพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และอาคารอื่นๆ นอกจากนี้ เมื่อสังเกตรายละเอียดจะพบว่ามีการวาดภาพต้นไม้ 2 ต้นที่มีขนาดแตกต่างกันอย่างชัดเจน เมื่อนำภาพถ่ายเก่ามาเปรียบเทียบ จะพบภาพจริงของต้นไม้ทั้ง 2 ต้น ตรงกับภาพจิตรกรรม

นอกจากนี้ ยังมีภาพบุคคล อาทิ ภาพภิกษุปลงอสุภกรรมฐาน ในพระอุโบสถวัดโสมนัสวิหาร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายสมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทธสิริ) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดดังกล่าว พบว่ามีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง รวมถึงท่วงท่าในการนั่ง

Advertisement

ผศ.ดร.พัสวีสิริ ยังยกตัวอย่างการเขียนภาพผ้าม่านแบบตะวันตกและเครื่องแขวน โดยนำภาพถ่ายเก่าการประดับท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคมมาเทียบเคียงซึ่งพบว่ามีความคล้ายคลึงกัน

“เป็นที่น่าสังเกตว่าการถ่ายภาพเหมือนบุคคลหรือสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งในและนอกพระนคร ด้วยกล้องดาแกโรไทป์และแบบกระจกเปียกดูมีความเกี่ยวข้องกับงานจิตรกรรมอยู่ด้วย เนื่องจากภาพที่ได้เกิดจากการเปิดหน้ากล้องรับแสงให้ตกกระทบบนแผ่นเงินจนเกิดเป็นรูปร่างทีเป็นภาพขาวดำ จากนั้นช่างภาพจึงเอาพู่กันระบายสีน้ำผสมกาวแต้มลงในรายละเอียดของภาพอีกครั้งหนึ่ง เทคนิคนี้ต้องใช้ความชำนาญในเชิงช่างจิตรกรรมด้วย รวมทั้งภาพถ่ายแบบเหมือนจริงที่เกิดขึ้นและเริ่มแพร่หลายในยุคนั้นก็อาจส่งผลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ต่องานจิตรกรรมในพระราชประสงค์ ร.4 เพราะการเขียนภาพเหมือนจริงของสถานที่ เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์และบุคคลเริ่มแพร่หลายบ้างแล้ว โดยมีความละม้ายคล้ายกับมุมมองของภาพถ่ายในสมัยนั้นด้วย” ผศ.ดร.พัสวีสิริกล่าว

ทั้งนี้ในตอนท้ายของการบรรยาย ได้มีการยกตัวอย่างอิทธิพลของภาพถ่ายที่มีต่องานจิตรกรรม โดยยกภาพถ่ายของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ขณะออกภาคสนาม ซึ่งถูกนำมาทำเป็นภาพจิตรกรรมด้วยฝีมือของ อ.ดร.เอกสุดา สิงห์ลำพอง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ สร้างเสียงหัวเราะให้ผู้ร่วมเสวนาทั้งห้องประชุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image