เรื่องรักของนักเขียนสองคน ‘อุรุดา โควินท์’ ข้ามทศวรรษความทรงจำถึง ‘กนกพงศ์’

“ฉันไม่เศร้า บ้าไปแล้ว ถ้าคิดว่าฉันจะอยู่กับความเศร้าอย่างยาวนาน ฉันวิ่งหนีมันตั้งแต่วันแรก แต่ไม่ได้หนีไปจากพี่”

จากบทนำของนวนิยาย “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” บันทึกเรื่องราวของนักเขียนหนุ่มสาวสองคน

สิบปีที่ “กนกพงศ์ สงสมพันธุ์” นักเขียนซีไรต์ได้จากไป แต่เรื่องราวของเขายังอยู่ในใจของคนรักอย่าง “อุรุดา โควินท์” หรือชมพู นักเขียนสาวจากภาคเหนือที่ชีวิตพัดให้ไปอยู่ภาคใต้ที่หุบเขาฝนโปรยไพรกับนักเขียนหนุ่ม

และลมก็พัดอีกครั้งหลังความตายของเขา

Advertisement

อุรุดาเรียนจบคณะบัญชี เคยเป็นพนักงานธนาคารช่วงเวลาเดียวกับที่เริ่มเขียนเรื่องสั้น ก่อนลาออกและเขียนงานเรื่อยมาจนเป็นนักเขียนอาชีพเต็มตัว มีผลงานรวมเรื่องสั้น นิยาย และคอลัมน์

ทศวรรษที่ผ่านมาชีวิตของอุรุดาเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง เธอแข็งแรง ใช้ชีวิตอยู่ด้วยการเขียน ทำอาหาร วิ่ง แต่งหน้า และมีความรัก

“ตอนนั้นชีวิตเราคือแม่บ้านของกนกพงศ์เป็นหลัก ยังเลี้ยงชีพด้วยการเขียนไม่ได้ มองไม่เห็นตัวเองในวันนี้เลย คิดว่าเราน่าจะเป็นแม่บ้านที่มีความสุขคนหนึ่งที่เขียนหนังสือด้วย ไม่มีความคิดในหัวเลยว่าตัวเองจะเป็นนักเขียนที่เลี้ยงชีพด้วยการเขียนได้”

Advertisement

หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตาเป็นนิยายเล่มล่าสุดของอุรุดา บอกเล่าเรื่องราวความรักระหว่างเธอกับกนกพงศ์ นักเขียนมาดเคร่งขรึมซึ่งมีชีวิตอีกมุมเมื่ออยู่กับคนรัก เธอบอกแกมหยอกว่าเขานั้นออกจะ “น่าหมั่นไส้” มากกว่า

แน่นอนว่าการพูดถึงความสูญเสียไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อุรุดาผ่านมาแล้วและเล่าออกมาผ่านหนังสือเล่มนี้

“เหมือนเราเป็นคนใหม่ แต่มีเขาอยู่ในตัวเรา เป็นคนใหม่ที่ไม่ได้ร้องไห้กับการจากไปของเขาอีกแล้ว เพราะเรายอมรับได้จริงๆ ตายก็คือไม่มีอีกแล้ว ต้องยอม ถ้าไม่ยอมก็ต้องอยู่คนเดียวตลอดไป”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเรื่องรักนี้มีความเศร้าเคลือบแฝงอยู่ เมื่อเรารู้ว่านักเขียนคนหนึ่งจากไปแล้ว

แต่นักเขียนอีกคนยังอยู่ ถักทอเรื่องราวของเขาให้กลับมาอีกครั้ง กนกพงศ์ผู้เป็นที่รักของเพื่อนและนักอ่าน

– คิดมาก่อนนานไหมว่าจะเขียน?

คิดมานานว่าเรื่องนี้น่าเขียน แต่สองจิตสองใจ รู้ว่ามีทั้งข้อดีและไม่ดี คนจะมองว่าเราเอาเรื่องคนดังที่ตายแล้วมาเขียนยังไงก็ขายได้ ในช่วง 5 ปีแรก ตัดสินใจไม่เขียน แต่พี่กนกพงศ์ก็วูบวาบมาอยู่ในตัวละครของเราตลอด และเรามักเขียนถึงความสูญเสียโดยไม่แตะมันตรงๆ ตราบใดที่เราไม่เขียนออกมาก็จะกลายเป็นคนเขียนเรื่องความสูญเสียซ้ำๆ และมีตัวละครคล้ายเขาโผล่มาซ้ำๆ ถ้าเขียนให้เสร็จไป นอกจากได้ทำให้เขา เราก็จะแล้วใจว่าทำแล้วนะ จะได้ไปเขียนเรื่องอื่นจริงๆ ซะที

– คล้ายเป็นหน้าที่ด้วยไหม เมื่อเรามีเรื่องนี้อยู่แล้วต้องเขียน?

ก็ส่วนหนึ่ง แต่เราไม่ทำก็ได้ ระหว่างเรากับเขา แค่เราเขียนหนังสือเขาก็พอใจแล้ว ไม่ต้องเขียนถึงเขาก็ได้ แต่เราอยากให้เขากลับมาในฐานะผู้ชายที่น่ารักน่าหมั่นไส้คนหนึ่ง โดยการเขียนนี้ เขาจะเป็นกนกพงศ์อีกแบบที่นักอ่านอาจไม่ได้จินตนาการไว้จากงานของเขา (ยิ้ม) งานของเขาขึงขังโออ่า แต่ตัวจริงเป็นคนขี้เล่น ตลกกับเพื่อน มุกเยอะ

ตอนอยู่กับเขาเราเคยคิดว่าเขาเป็นทุกๆ อย่างยกเว้นแฟน (หัวเราะ) ไม่มีเดินจับมือคล้องแขน แต่เขาเป็นเพื่อนที่ดีมาก เป็นคนใจกว้าง พอเขาไม่อยู่แล้วกลับไปมองรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บอกเราว่าเขารู้สึกยังไงกับเรา เพียงแต่เรามองไม่เห็นเอง คนเราแสดงออกไม่เหมือนกัน ความรักของเขาไม่ได้แสดงออกมาจากการจับมือ อาจดูไม่เท่สำหรับเขา เขาจะมีสายตาที่มองตัวเองกลับมาตลอดเวลา ตอนเจอเขาใหม่ๆ ก็หมั่นไส้ แต่ถ้าเจอเพื่อนเขาก็จะสนุกมาก

– ตอนเริ่มเขียนยากไหม?

ยากที่สุดคือตอนเริ่ม เป็นข้อมูลที่ไม่รู้ว่าใช้อย่างไรที่เราจะสบายใจ เพราะเรื่องมันหนักสำหรับเรา ตัดสินใจว่าเขียนเป็นนิยายรักแล้วกัน เขาเป็นคนบอกว่าพูเขียนเรื่องรักดีแล้ว เรื่องรักที่ดีก็มี พูแค่เขียนให้ดี เราเขียนเรื่องรักตลอดมา เขาบอกว่าเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด

พอเป็นนิยายรักแล้วเราเลือกว่าจะใช้เสียงเป็นธรรมดาธรรมชาติ ไม่อยากให้ดูประดิษฐ์มาก แต่บทนำยากที่สุดและเศร้าที่สุด ผ่านไปได้ก็มีหลายครั้งที่เรายิ้มสนุก เพราะคิดถึงห้วงเวลานั้น มีความสุข-หมั่นไส้ อินไปกับเรื่องที่จำได้ ไม่ได้เศร้าตลอด

– เป็นการเปิดเผยชีวิตส่วนตัว มีส่วนที่ไม่อยากเปิดเผยไหม?

มีบ้าง เราก็ไม่เขียน โดยเฉพาะเรื่องที่เชื่อมโยงกับคนอื่นจะระวังมาก ถ้าจะมีต้องจำเป็นจริงๆ แต่จะไม่โกหก โดยส่วนตัวทุกเรื่องของเราที่ผ่านมาแล้วเปิดเผยได้หมดในฐานะตัวละคร ถ้ามานั่งถามเราอาจเปิดเผยไม่หมด แต่เชื่อว่าคนอ่านอ่านมันในฐานะเรื่องแต่ง และเราก็เขียนมันฐานะเรื่องแต่ง ต่อให้ตั้งใจว่าจะเขียนให้จริงทั้งหมดก็จะไม่จริงอยู่ดี ยากที่สุดคือเขียนให้จริง

– มีส่วนที่แต่งเติมเยอะไหม?

ส่วนที่แต่งไม่มี แต่เราจะขับเน้นบางส่วนเด่นขึ้น ให้เป็นนิยาย เช่น เราต้องการให้เขาบอกรัก แต่ความเป็นจริงตอนนั้นไม่ได้สำคัญขนาดนั้น แต่เราจะเลี้ยงสิ่งนี้ไว้ตลอดเพื่อให้ดูเป็นนิยายรัก ไม่ได้แต่งเพิ่มแต่น้ำหนักของเรื่องเปลี่ยนไปจากความรู้สึกที่เผชิญจริง บางเรื่องหนักหนามากแต่เราลดทอนไม่ให้มากเกินไป เช่น ความเครียดของเขาช่วงท้ายก่อนจะเสีย มีเยอะมากในปริมาณที่ตายได้ เขาบอกว่าถ้าเราไม่อยู่ตรงนี้เขาคงตายแล้ว การอยู่ไม่มีความหมายแล้ว ซึ่งเราตกใจมาก และช่วยอะไรไม่ได้เลย เพราะเป็นเรื่องระหว่างเขากับงาน แต่เราไม่ได้ไปแตะมัน อยากเขียนถึงเขาตอนมีชีวิตชีวามากกว่า

– ผ่านมาสิบปีแล้วยังจำเรื่องราวเป็นฉากในแต่ละคำพูดได้อยู่?

ยังจำได้ งงตัวเองเหมือนกัน แฟนคนอื่นก็จำไม่ได้ขนาดนี้ แต่เราจำเขาได้หมด จำได้กระทั่งเสียง สิ่งที่จำได้น้อยสุดคือหน้า ถ้านึกจะเห็นเป็นตา-ปาก เป็นส่วนๆ จะจำในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะจำ และบ้านหลังนั้นเราจำได้ทุกอณู เราอยู่บ้านหลังนั้นกับเขา 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 6 ปี มีที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันแค่สัก 2 วัน อาจเป็นเพราะเขาตายเราถึงจำ ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจจำ

– ตอนนั้นจมอยู่นานไหม?

สุดๆ คือปีแรก แต่ชีวิตไม่อนุญาตให้เราเศร้าขนาดนั้น ถ้าเรารวยเราจะเศร้ากว่านี้ (ยิ้ม) แต่นี่เดี๋ยวจะเอาอะไรกิน จะอยู่ที่ไหนดี ไม่มีบ้าน ไม่มีงาน ชีวิตผลักดันให้เราต้องแบ่งเวลาไปจัดการโน่นนี่ทั้งที่เศร้าอยู่ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยดึงเราออกมาทีละนิด นอนไม่หลับอยู่เป็นปี หลับปุ๊บจะเห็นเขาตอนตายแล้วสะดุ้งตื่น เราเห็นเขาหายใจครั้งสุดท้ายแล้วก็หลับไป เป็นอยู่เป็นปี จนเริ่มวิ่งก็หลับยาวขึ้น ก่อนนั้นเราไม่แตะกีฬาเลย แต่พี่หนึ่ง (วรพจน์ พันธุ์พงศ์) แนะนำว่าวิ่งสิ มันดีนะ เขาบอกว่าเขาวิ่งวันละ 4-6 กิโล โอ้โห…ถ้าพี่วิ่ง 4 กิโล เราก็วิ่งได้ เขาเป็นแรงบันดาลใจให้เราค่อยๆ วิ่ง สุดท้ายก็วิ่งได้จริงๆ

– สิ่งไหนที่ชอบในตัวเขา?

ชอบเวลาเขาทำสวนมาก เขาจะดูมีความสุขและจะโรแมนติกที่สุด อยู่ใกล้คำว่าคนรักที่สุดเวลาทำสวน (หัวเราะ) เป็นธรรมชาติเวลาใช้แรงแล้วจะผ่อนคลาย และเป็นเวลาเดียวที่ทำให้เขาหลุดออกไปจากการเขียนบ้าง เขาจะเก็บดอกไม้ให้ มันน่ารักนะ บางทีไปเจอก้อนหินสวยๆ ก้อนหินรูปหัวใจก็จะเอามาวางไว้ให้บนโต๊ะทำงาน เขาชอบซื้อเครื่องเขียนมาฝาก ดินสอ สมุดฉีกสวยๆ วันที่เราอารมณ์ไม่ดีเขาจะรู้และทำอาหารที่เราชอบให้กิน

– แล้วเรื่องที่ไม่ชอบ?

เขาเครียดกับงานเกินไป เราคิดว่ามันควรปลดล็อกได้เมื่อถอยออกมา มันไม่ดีกับตัวเขาเอง ถึงที่สุดก็ส่งผลกับทุกอย่างในชีวิต เราไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียนทุกวินาทีของชีวิต แต่เขาเป็นแบบนั้น อาจเพราะเขาเป็นแบบนั้นจึงทำงานได้ขนาดนี้ก็ได้ เขาเลือกแล้ว แต่เราคิดว่าชีวิตเขาจะง่ายกว่านี้ถ้าซีเรียสกับมันน้อยลง

– เขาเอาความจริงจังมาใช้กับเราด้วยไหม?

ไม่ แต่แสดงให้เห็นว่าการเขียนไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เขามีเรื่องสั้นที่ไม่เอาแล้วพิมพ์ดีดเข้าเล่มไว้ปึกหนึ่ง เป็นเรื่องฝึกเขียน ชอบมาตั้งให้เห็นว่าไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เขาเขียนได้อย่างนี้ เขาฝึกตั้งแต่ 17-18 เขามองภูเขาแล้วคิดว่าจะบรรยายฉากนี้ยังไง ซึ่งเราไม่เคยทำเลย ทำให้เราเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าต้องจริงจังกับมันมากขึ้น แต่เวลาไม่ได้เขียนเราก็เถิดเทิงใช้ชีวิตปกติ

– ตอนอยู่ด้วยกัน เขาก็ช่วยดูงานเขียนให้ด้วย

เขาช่วยดูแต่จะมีอยู่สองคำว่าได้หรือไม่ได้ ไม่บอกว่าแก้ตรงไหน เขาบอกว่าพูต้องหัดแก้งานตัวเอง เป็นบรรณาธิการให้ตัวเอง เพราะไม่มีใครเป็นบรรณาธิการให้เราได้ตลอดชีวิตและเต็มที่เท่ากับตัวเอง เราก็เริ่มหัดตั้งแต่ตอนนั้น ส่วนเขาจะไม่ปรึกษาเรื่องงาน มีพูดขึ้นมาบ้างถ้าติด เหมือนเป็นการระบาย เราก็ไม่ปรึกษา ไม่อยากแย่งสมาธิเขาออกจากงาน แต่เสร็จแล้วจะให้เขาอ่านบางเรื่อง บอกแค่ว่าดีหรือไม่ดี

– เวลาทำงานเขาจริงจังแค่ไหน?

บางทีก็ไม่กินเลยทั้งวัน ตอนเช้าถ้าเคาะแล้วมันรัวเลยจะถือเป็นการเริ่มต้นวันที่ดี ถือกาแฟแก้วหนึ่งแล้วขึ้นไปเลย ถ้าเขียนดีจริงๆ จะไม่พักกินข้าว อาจกินกาแฟอีกแก้ว กล้วยหนึ่งลูกแล้วเดินเล่น กินตอนเย็นมื้อเดียวบ่อย เขาเป็นคนสมาธิยาวมาก เวลาขับรถถ้าเขาไม่พูดคือเขาคิดอยู่ ถ้าเราพูดจะไปขัดความคิดเขาแล้วจะหงุดหงิด บางทีก็จอดรถแล้วจด เขาไม่ค่อยสื่อสารว่าคิดอะไรและไม่ชอบถ้าไปแตะความรู้สึกเขา เราต้องคอยสังเกตอารมณ์เขาตลอด แต่ถ้าสนุกจริงเขาจะเล่าให้เราฟังว่าคิดอะไรอยู่ เพื่อเขาจะจำได้มากขึ้น

– ฟังดูอยู่ด้วยยาก?

ใช่ ยาก เราต้องเข้าไปอยู่ในโลกของเขาอย่างกลมกลืน เป็นวิธีเดียวที่จะอยู่กับกนกพงศ์ ยกเว้นบางเรื่องที่สำคัญต่อความสัมพันธ์เราก็ต้องสู้เพื่อให้เขาเข้าใจ บางครั้งราวกับว่าเราไม่ได้อยู่ด้วย นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา เวลาที่เขาต้องการเราก็มี แต่เขาจะไม่เรียกร้องให้เราทำอะไร จะไม่บอกว่าไม่ชอบที่เราทำแบบนี้ อยากทำอะไรก็ทำ จะแปลว่าเขาไม่สนใจเราเลยก็ได้ แต่ในแง่หนึ่งก็สบายดี เขาให้อิสระ ไม่เคยติติง เวลารู้สึกแย่เขาก็จะให้กำลังใจ

ถ้าค่ำๆ กินข้าวแล้วคุยคืออารมณ์ดี ถ้าอารมณ์ไม่ดีในครัวก็เงียบๆ ไว้ แสดงว่าวันนั้นเขียนหนังสือได้ไม่ดี

– การมีคนรักเป็นนักเขียนช่วยส่งเสริมกัน?

เราว่าช่วย แต่จะไม่ช่วยเรื่องเงิน ถ้ามีใครสักคนเอาเงินเข้าบ้านได้โดยไม่เกี่ยวกับการเขียนจะไม่หนักหนานัก แต่พอเขียนทั้งคู่และอยู่กับสิ่งไม่แน่นอนทั้งคู่จะมีปัญหา แต่เรื่องอื่นจะช่วยกันหมด เข้าใจกันว่าเวลาเขียนหนังสือต้องการบรรยากาศแบบไหน อ่านงานให้กัน นักเขียนต้องการอยู่กับคนที่มีบทสนทนาลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่ฉันรักเธอ แฟนนักเขียนจะมีให้เรา เป็นความสนใจเดียวกัน กับต้น (อติภพ ภัทรเดชไพศาล-คนรัก) ก็ช่วยเรามากในหลายเรื่อง เขาอ่านเยอะกว่า เราถามแล้วเขาก็จะสรุปให้

– ก่อนเขียนเรื่องนี้ได้บอกคุณอติภพไหม?

บอก ต้นเป็นคนบอกให้เริ่มได้แล้ว แต่เขาไม่รู้ว่าจะมีฉากอีโรติกนะ ช่วงแรกคุยกับเขาเยอะมาก เหมือนทำงานด้วยกันทางความรู้สึกว่าจะเขียนแบบไหน จริงๆ เราจะเขียนให้เป็นนิยายที่จำลองขึ้นมา ต้นบอกว่าพูจะใช้ชื่ออื่นเพื่ออะไร ทุกคนก็รู้ว่าเป็นใคร พูเขียนไปเลย มีอะไรอยากพูดกับเขาก็พูด เราได้ท่วงทำนองนี้มาจากคำพูดของต้น และตัดสินใจใช้ชื่อตัวละครเป็นชื่อจริงของทุกคน

แต่เขาไม่ได้อ่าน เราบอกเขาว่าจะต้องไม่มีการเปรียบเทียบกัน ไม่ยุติธรรม มันคนละเวลา เขาไม่ทำอยู่แล้ว แต่กลัวว่าเราอาจจะไม่สบายใจถ้าเขาอ่าน พอเขาบอกว่าเขียนได้แต่ไม่อ่านเราก็ซัดเต็มเหนี่ยวเลย (หัวเราะ) ถ้าเราจะเขียนถึงใครคนหนึ่งเราจะคิดถึงแต่ความทรงจำที่ดี เด็ดมาแต่สิ่งดีๆ ที่ไม่ดีก็ไม่เขียน อ่านแล้วจะรู้สึกว่าชีวิตที่นั่นดีจังเลย แล้วมาเปรียบเทียบกับชีวิตปัจจุบัน จริงๆ เราชอบตัวเองตอนนี้มากกว่า

– ชอบตัวเองตอนนี้มากกว่า เพราะอะไร?

เราเข้มแข็งขึ้นกว่าเมื่อก่อน เหมือนเดินลุยไฟมาแล้วจากความสูญเสีย ตอนนั้นพึ่งพิงคนอื่น มีความกลัวเยอะกว่าตอนนี้ กลัวเขาจะเลิกกับเรา กลัวเขียนหนังสือไม่ได้ ตอนนี้ความกลัวนั้นหายไปแล้ว ความสูญเสียทำให้เรารู้ว่ายังไงก็ตายคนเดียว ถ้าต้องอยู่คนเดียวก็ไม่เป็นไร พี่วัฒน์ (วรรลยางกูร) บอกว่า “คนเราถ้าไม่กลัวตายกับไม่กลัวอยู่คนเดียวก็ไม่มีอะไรให้กลัวแล้ว” ตอนนี้อย่างน้อยเราก็กลัวตายอย่างเดียว อยู่คนเดียวได้ ไม่กลัว แต่ไม่อยากอยู่ ถ้าย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเราอยู่ไม่ได้ ต้องอยู่กับคนที่เรารัก

– ความมีชีวิตชีวาของทุกวันนี้คืออะไร?

มีความรักใหม่ อันนี้แน่นอน ต้นเป็นอันดับแรก ก่อนหน้านี้เราก็แข็งแรงสดใส พอเริ่มเขียนนิยายเรื่องแรกได้ก็มีความมั่นใจ เป็นนักเขียนอาชีพมากขึ้น เลิกทำร้านอาหารกับน้อง จังหวะนี้เจอต้นพอดี จริงๆ ตอนนั้นก็มีชีวิตชีวามากขึ้นแต่คงไม่ถึงขนาดนี้ ความรักทำให้เราไม่ขี้เกียจ ถ้าอยู่คนเดียวอาจทอดไข่กิน แต่เราต้องลุกขึ้นมาทำกับข้าวกินด้วยกัน เพราะอยากให้คนข้างๆ ได้กินของอร่อย จะมีความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นด้วยความรัก ความสำเร็จนั้นจะต่อยอดให้กัน ทำให้เราอยากทำอะไรอีกเรื่อยๆ

เราคงไม่มีแรงลุกขึ้นมาทำอะไรขนาดนี้ถ้าไม่มีความรัก ไม่มีการวิ่ง ไม่มีการแต่งหน้า ไม่มีการแต่งตัว อยากได้เสื้อต้องทำงาน เลยต้องขยันเขียน (หัวเราะ)

– มองอนาคตตัวเองเมื่อพื้นที่นิยายในนิตยสารลดลง?

ยากมากที่จะเลี้ยงชีพด้วยหนังสือเล่ม นอกจากเราจะเป็นกิ่งฉัตรและพงศกร ซึ่งเราไม่มีทางไปถึง เพราะเราไม่มีธาตุนั้นอยู่ในตัว เป็นความเก่งกาจเชี่ยวชาญชนิดหนึ่ง

เราเขียนแน่นอน แต่จะไม่รอเงินจากมันมากินข้าว หม้อข้าวของเราต้องเป็นอีกหม้อหนึ่งซึ่งตอนนี้มาจากการขายน้ำพริกทางเฟซบุ๊กมาปีกว่าแล้ว ทำจนพอจ่ายค่ากับข้าว แต่วันหนึ่งคนอาจจะเบื่อเลิกกิน ถ้ากลับไปอยู่เชียงรายตั้งใจทำห้องสมุดเล็กๆ เพราะหนังสือเราเยอะ อาจขายข้าวแกงอาทิตย์ละ 3-4 วัน และเขียนหนังสือไปด้วยในวันที่เหลือ

– เสียกำลังใจไหมต้องหาเงินทางอื่นเพื่อเขียนหนังสือ?

ไม่ บอกกับต้นตลอดว่าไม่มีใครบอกให้เราทำ เราเลือกเพราะอะไรล่ะ เราไม่ได้เลือกเพราะเป็นนักเขียนมันเท่หรือว่าดีกับคนอื่น จริงใจที่สุดเราเลือกเพราะนิสัยเราเหมาะกับชีวิตอย่างนี้ ตื่นเช้ามากินกาแฟในชุดนอนแล้วทำงานยังไม่อาบน้ำ เราได้สิ่งนี้ที่คนอื่นไม่ได้ เขาได้เงินเดือนแต่ต้องตื่นเช้าขับรถไปทำงาน เราทนในสิ่งนั้นไม่ได้ เราเลือกเพราะชอบชีวิตแบบนี้

เราทำได้ทุกอย่างแต่ต้องทำในบ้านตัวเอง ทำน้ำพริกเหนื่อยมากแต่เราสนุก ไม่มีใครมากดดันว่าอันไหนดีไม่ดี เราเลือกเพราะสอดคล้องกับธรรมชาติของตัวเอง เราต้องยอมจ่าย เวลาทำน้ำพริกจะรู้สึกว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของงานเขียน เพราะมันมาเลี้ยงนักเขียนสองคนและเป็นงานอย่างเดียวที่เราช่วยกันทำได้

ถามว่าเราจะเลิกเขียนเพื่อทำกับข้าวขายไหม มันก็ไม่สนุก เขียนมาเกือบ 20 ปี ถ้าไม่เขียนแค่ 2 ปี นักอ่านก็ลืมแล้ว เราอยากเขียนไปเรื่อยๆ ให้เรารู้สึกภูมิใจและมีความสุข มันเป็นพลังชีวิต ถ้าไม่ได้เขียนก็ไม่รู้จะขายกับข้าวไปทำไม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image