สธ.ช่วยเหลือ ‘รพ.พังโคน’ ท่วมหนักเสียหาย 6 จุด บ้านพัก จนท.จมน้ำหมด ตั้งศูนย์พักพิงฯดูแล ปชช.

ภาพจากกองวิศวกรรมการแพทย์ สบส.

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 8 จังหวัดอุดรธานี และทีมเอ็มเสิร์ท (Medical Supportive Emergency Response Team : MSERT) จากกองวิศวกรรมการแพทย์ กองแบบแผน เข้าช่วยเหลือ ฟื้นฟู รพ.พังโคน ซึ่งประสบเหตุอุทกภัยหลายจุดโดนน้ำท่วมสูง 1-1.2 เมตร ให้กลับมาพร้อมให้บริการประชาชนได้ตามปกติ

นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า จากการประเมินความเสียหายเบื้องต้นของ รพ.พังโคน โดยทีมเอ็มเสิร์ท พบความเสียหายใน 6 จุด ดังนี้ 1.ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลถูกน้ำท่วมเสียหาย ไม่สามารถใช้การได้ 2.อาคารซักฟอก โรงครัว หน่วยจ่ายกลาง งานพับผ้า ถูกน้ำท่วมสูง ทำให้ระบบไฟฟ้าเสียหายไม่สามารถใช้การได้ 3.บ้านพักเจ้าหน้าที่จมน้ำทั้งหมด ไม่สามารถเข้าพักได้ อยู่ระหว่างการขนย้ายสิ่งของออกจากบ้านพัก 4.คลังยา ของโรงพยาบาลถูกน้ำท่วมบางส่วน เจ้าหน้าที่กำลังช่วยกันขนย้ายยา เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ขึ้นที่สูงเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย 5.โรงไฟฟ้า ต้องเสริมกระสอบทรายสูง 1 เมตร และใช้ปั๊มน้ำสูบน้ำออกตลอดเวลา แต่ระบบไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าสำรองยังใช้การได้ปกติ  6.อาคารผู้ป่วยนอกถูกน้ำท่วมขังสูง ประมาณ 30-40 เซนติเมตร การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประชาชนต้องเดินลุยน้ำเพื่อมารับบริการ และ 7.ระบบโรงสูบน้ำไม่สามารถสูบน้ำได้ เบื้องต้นขณะนี้ยังสามารถใช้น้ำที่ยังคงค้างอยู่ และคาดว่าจะใช้ได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง

“ขณะนี้ทีมเอ็มเสิร์ทอยู่ระหว่างการฟื้นฟูทุกระบบที่มีส่วนสำคัญในการบริการของโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน ทั้งไฟฟ้า ประปา ระบบสื่อสาร อาคารสถานที่ และเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลสามารถกลับมาให้บริการประชาชนได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด พร้อมจัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดเหตุฝนตกซ้ำในช่วงนี้ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสถานพยาบาลในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงได้” นพ.ประภาสกล่าว

เครดิตภาพจากกองวิศวกรรมการแพทย์ สบส.

Advertisement

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ระดมทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจในภาวะวิกฤต หรือทีมเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment  and Treatment Team : MCATT) ซึ่งมีทั้งจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกรและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ จาก รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 ร่วมกับทีมเอ็มแคทเครือข่ายในพื้นที่ของจังหวัดสกลนครและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. ซึ่งเป็นผู้ที่รู้จักพื้นที่ดีที่สุดร่วมให้การดูแลปฐมพยาบาลประคับประคองจิตใจแก่ผู้ประสบภัย โดยตั้งจุดบริการตลอด 24 ชั่วโมงใน รพ.สนามที่ตั้งภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่โรงยิมศูนย์ราชการจังหวัดสกลนคร ซึ่งให้การดูแลผู้ประสบภัยในพื้นที่ชุมชนเขต อ.เมือง ที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุด

Advertisement

“สำหรับผลการให้บริการพบว่าประชาชนเริ่มปรับตัวได้ สภาพจิตใจดีขึ้น เนื่องจากได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างรวดเร็วจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง   โดยได้ให้การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต 253 คน ทีมเอ็มแคทได้ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตจากน้ำท่วมเช่นผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจิตเวชเก่า จำนวน 68 คนที่อยู่ภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวในโรงยิมฯ พบมีความเครียด วิตกกังวลในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง 13 คน ในจำนวนนี้ 6 คนมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด ผู้ป่วยหลังผ่าตัดสมอง โดยมีอาการตกใจกับเหตุการณ์ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ไม่มีรายใดอาการรุนแรง ไม่มีอาการซึมเศร้า ไม่มีความคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเยี่ยมติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง และพบผู้ติดสุราเรื้อรัง 1 คน เกิดอาการเพ้อสับสนจากอาการถอนพิษสุรา ได้ส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลสกลนคร ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่ประสบภัยน้ำท่วม เช่น ที่สุโขทัย ขอนแก่น เป็นต้น ได้ให้ศูนย์สุขภาพจิตให้การดูแลฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัยร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจนกว่ากลับเข้าสู่สภาวะปกติ” น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าว

น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ขอให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กๆ ด้วย ซึ่งอาจได้รับผลกระทบทางจิตใจอันเนื่องจากการที่ได้เห็นและรับรู้ความทุกข์ความกังวลของผู้ใหญ่และคนในครอบครัว ซึ่งเด็กๆ อาจสูญเสียสัตว์เลี้ยง หรือของเล่นที่ตนรัก ชีวิตประจำวันตามปกติต้องสะดุดลง เช่น โรงเรียนต้องปิด ต้องอพยพย้ายที่อยู่ เป็นต้น รวมไปถึงการที่เห็นคนในครอบครัวและคนที่รู้จักบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์รุนแรงได้ ดังนั้น การป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่ดีที่สุดในภาวะเช่นนี้ คือ การเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งเด็กจะเป็นปกติสุขได้ หากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถปรับตัวจัดการกับปัญหาได้ทั้งระหว่างเกิดภัยน้ำท่วมและในภายหลัง เด็กๆ มักต้องการพึ่งพาในเรื่องข้อมูลทั่วไป คำปลอบโยนและความช่วยเหลือ

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของเด็กแต่ละวัยอาจตอบสนองต่อภาวะน้ำท่วมและผลที่ตามมาแตกต่างกันไปตามระดับอายุ พัฒนาการ และประสบการณ์ที่เคยมีมาก่อน พ่อแม่จึงควรรับรู้และสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยาที่อาจพบในเด็ก เช่น กลัว หวาดหวั่นเรื่องความปลอดภัยของตนและคนอื่นๆ รวมทั้งของสัตว์เลี้ยง กลัวการแยกจากคนในครอบครัว มีพฤติกรรมติดผู้ใหญ่ พ่อแม่ พี่น้อง มีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่งเพิ่มขึ้น สมาธิและความตั้งใจลดลง ถดถอย หลีกหนีผู้อื่น โกรธ หงุดหงิดง่าย เป็นต้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรให้เวลาเพื่อพูดคุยกับพวกเขา ทำให้พวกเขารู้ว่าเขาสามารถพูดคุยซักถามและแบ่งปันความกังวลใจที่มีได้ โดยมีผู้ใหญ่ยินดีรับฟัง ควรเปิดโอกาสให้เด็กรับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวหรือกับโรงเรียนของเขา หรือกับชุมชนที่อยู่ และอย่าลืมถามความรู้สึก ความคิดเห็นของเขาบ้าง

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image