ถึงเวลาต้องปฏิรูป ระบบงบประมาณไทยเสียที : สมหมาย ภาษี

ขณะนี้ก็ใกล้ที่จะเห็นงบประมาณแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 วงเงินทั้งสิ้น 2.90 ล้านล้านบาท ออกมาแล้ว เครื่องมือสำคัญที่สุดในการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลก็คืองบประมาณแผ่นดิน โดยมีสำนักงบประมาณซึ่งใหญ่เหมือนศาลพระพรหมเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ที่ว่าใหญ่ก็เพราะใครๆ ก็ต้องไปขอ ไปคารวะไปผูกมิตรไมตรีด้วย ไม่ใช่เฉพาะในวงราชการและรัฐวิสาหกิจที่ต้องการใช้เงินเท่านั้น ธุรกิจเอกชนจำนวนไม่ใช่น้อยที่ต้องวิ่งเข้า-ออกอยู่เป็นอาจิณ เหตุที่สำนักงบประมาณใหญ่โตนั้น ไม่ใช่เป็นผู้จัดสรรเงินของชาติของแผ่นดินเท่านั้น แต่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณยังมีตำแหน่งเท่ากับปลัดกระทรวง และขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว
เป็นเรื่องน่าประหลาดที่ใครๆ ทั้งคนของรัฐและนักธุรกิจเอกชน ต้องไปวิ่งหา ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นต่างก็รู้ดีด้วยกันทั้งนั้นว่า เงินงบประมาณนั้นมาจากภาษีอากรของประเทศ โดยเป็นเงินที่คนไทยทุกคนที่อยู่ในประเทศนี้ ไม่ว่าจะลูกเด็กเล็กแดงต้องจ่าย อย่าคิดว่าคนฐานะด้อยรายได้น้อย หรือขอท่านไม่ต้องจ่ายภาษีเขาเหล่านั้นไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ แต่ตราบใดที่มีลมหายใจยังต้องบริโภคอาหาร น้ำ ยา หรือสุรายาเมา เขาก็มีส่วนเสียภาษีด้วยกันทั้งนั้นไม่มียกเว้น แต่คนไทยมักไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เมื่อใดที่หลีกเลี่ยงไม่เสียภาษีได้ก็ทำ เมื่อใดที่หนีภาษีได้ก็ดีใจ ซึ่งเรื่องแบบนี้ในประเทศนี้ คนรวยมักเก่งกว่าคนจน ยิ่งรวยมากยิ่งเก่งมาก ขอให้เชื่อเถอะครับ
ปัจจุบันถ้าผู้เสียภาษีเข้าใจและรู้สึกเสียดายเงินภาษีที่ตนจ่ายไปอย่างถูกต้อง ผู้เสียภาษีในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งทุกประเทศเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าคนไทยมาก เขาจะรู้ว่าเขาคือ เจ้าของแผ่นดินตัวจริง เขาก็จะสนใจการใช้จ่ายเงินภาษีอากรของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการจัดสรรจนถึงการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน บางคนอาจจะเถียงว่าไม่ต้องไปสนใจแล้ว เพราะเขาได้เลือกผู้แทนไปทำหน้าที่ดูแลในรัฐสภาแล้ว ที่จริงก็ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย เอาเป็นว่าตอนที่เรามีประชาธิปไตย ไม่ใช่ในขณะนี้
เมื่อมองถึงระบอบประชาธิปไตย การกำกับดูแลการจัดสรรงบประมาณให้ดีและมีประสิทธิผลได้ผู้แทนที่ประชาชนเลือกมาต้องดีและมีคุณภาพ และที่สำคัญที่สุด ตัวผู้กำกับดูแลสำนักงบประมาณ จะต้องเป็นผู้ที่มีสติปัญญาเหมือนบัณฑิต มีคุณธรรมพร้อมทั้งความจริง ความงาม และความดี และมีความรู้ความสามารถ ที่ถึงระดับเพียงพอ จึงจะกำกับดูแลการจัดสรรปันส่วนเงินของชาติ เพื่อความเจริญเติบโตของประเทศที่ยั่งยืนในระยะยาวได้
ระบบและวิธีการในการจัดสรรงบประมาณประจำปีของไทยนั้น ไร้ประสิทธิภาพแค่ไหน ฟอนเฟะอย่างไร และก่อให้เกิดความสูญเสียเงินภาษีอากรของประเทศแต่ละปีขนาดไหน คำตอบในเรื่องเหล่านี้มีหลายๆ ท่านพอจะตอบได้ ทั้งข้าราชการ นักการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทรงเกียรติและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย ที่เคยนั่งทำงานพิจารณากลั่นกรองงบประมาณในฐานะเป็นกรรมาธิการงบประมาณในแต่ละปี ทั้งในช่วงที่มีประชาธิปไตยและช่วงที่ไม่มีประชาธิปไตย ผู้ที่คลุกคลีและสนใจจริงจะมองเห็นปัญหาจนสุดจะพรรณนา
คนที่อยู่ในวงการงบประมาณ ที่อายุยังไม่ถึงเกษียณในปีนี้ อาจไม่ทราบว่า ระบบงบประมาณของไทยเรานั้น ได้มีการปฏิรูปจากระบบโบราณมาแล้วครั้งหนึ่ง ในช่วงปี 2502-2503 ซึ่งมีอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคนแรก หลังจากนั้นอาจมีการปรับปรุงบ้างเล็กน้อยแต่ไม่มีสาระของการปฏิรูปอายุที่ยาวนานของสำนักงบประมาณ ยั่งยืนยาวนานก็ยิ่งเพาะบ่มปัญหาให้กับประเทศมากขึ้น
ในเรื่องภาระงบประมาณที่มีมากขึ้นตลอดเวลานั้น เช่น เงินเดือนของข้าราชการที่ต้องปรับสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ งบสวัสดิการต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเพราะต้องกู้เงินมาสนองนโยบายของรัฐบาล เงินอุดหนุนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญที่มีแต่เพิ่มไม่มีลด หรือเงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนทับทวีเพิ่มขึ้นจนคาดเดาไม่ได้ เหตุเพราะการขาดความรับผิดชอบของเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำนักงบประมาณเองไม่สามารถแก้ไขได้ นั่นไม่ว่ากัน แต่การจัดสรรงบค่าใช้จ่ายประจำที่จำเป็นด้านต่างๆ นั้น สำนักงบประมาณควรต้องทำให้มีประสิทธิผลมากกว่านี้
อยากจะบอกกล่าวให้เจ้าของประเทศผู้เสียภาษีทั้งหลายทราบว่า งบประมาณแผ่นดินของไทยทุกวันนี้ ถูกจัดสรรโดยขาดการพิจารณาดูแลอย่างเอาใจใส่ของข้าราชการ ตลอดจนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในแต่ละกระทรวง ท่านผู้เสียภาษีทั้งหลายที่ไม่ได้สัมผัสกับการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งอาจรู้เพียงว่า ยามเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลไม่มีเตียงให้นอน ต้องรอเป็นสัปดาห์ รู้เแต่เพียงว่า จะให้ลูกเต้าเข้าเรียนในระดับการศึกษาที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนแทบตาย ฯลฯ จะเชื่อหรือไม่โปรดลองพิจารณาดูหน่อย

เริ่มจากขั้นต้นในการจัดเตรียมยื่นคำของบประมาณของหน่วยงานในแต่ละกรมกอง จะถูกจัดทำโดยเจ้าหน้าที่ระดับล่าง แล้วเสนอท่านผู้อำนวยการกอง จากนั้นส่งต่อไปที่อธิบดี โดยผ่านระดับรองอธิบดีแล้วสุดท้ายไปถึงปลัดกระทรวง ทางเดินของงบประมาณในขั้นเตรียมคำของบประมาณในช่วงนี้น่าเข้าไปเรียนรู้มาก ถ้าจะถามว่าแต่ละกรมกองเขาพิจารณาจากอะไร คำตอบคือจากของเก่า งบปีที่แล้ว แล้วปีที่แล้วดูกันดีไหม เชื่อขนมกินได้ว่าไม่ดีเลย ทำไมไม่ดี เพราะมองแบบผิวเผินแล้วใส่ความต้องการเอาแต่ได้ เอาแต่ข้าอยากสบาย มีคนให้มาก มีเครื่องใช้ไม้สอยให้ใหม่และมากเข้าไว้ แต่เนื้องานจริงๆ มีอะไร ตอบไม่ได้ชัด แต่นำไปเขียนแนวยุทธศาสตร์ เป้าหมาย วิสัยทัศน์ได้สวยหรู ผลที่ออกมาคืออะไรทราบไหมครับ ก็งบประมาณที่ขอมาทั้งหมดทุกกระทรวง ทบวง กรม มันมากกว่าวงเงินงบประมาณรวมที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณกำหนดไว้ถึงกว่าเท่าตัว เป็นอย่างนี้ทุกปี นี่คือจุดบอดที่ใหญ่ที่สุดของระบบงบประมาณไทย
เมื่อตัวเลขที่เสนอขอจากงบประมาณเป็นเช่นนี้ ต่อไปมีใครทราบไหมครับว่า สำนักงบประมาณไปทำอย่างไร หรือไปเล่นกลอะไร ตัวเลขจึงลงมาอยู่ในกรอบวงเงินงบใหญ่ของประเทศ สำนักงบประมาณซึ่งมีกำลังคนไม่เกิน 950 คน จะมีเวลาและความสามารถอย่างไรในตัดทอนงบที่ขอจากหน่วยงานลงมาเท่าตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้สะท้อนยุทธศาสตร์ที่เขียนไว้อย่างสวยหรู ให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้ฟังแล้วเกิดภาวะภาคภูมิ และคล้อยตาม ซึ่งในข้อเท็จจริงตามกระบวนการของงบประมาณ จะเป็นระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เมื่อถึงขั้นการพิจารณาในสภา รัฐสภาก็ต้องคล้อยตาม มิฉะนั้นก็ต้องล้มรัฐบาล หารัฐบาลมาใหม่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
ที่กล่าวมาถึงวิธีการทำงบประมาณตั้งแต่ระดับกอง ระดับกรม ระดับกระทรวง จนถึงคณะรัฐมนตรีแล้วไปที่รัฐสภาในขั้นสุดท้ายให้เห็นนั้น ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ผู้ทำงบประมาณของชาติจริงๆ จะอยู่ที่สองจุดเท่านั้น
จุดแรกจะเป็นข้าราชการระดับกลางและล่างของกระทรวงต่างๆ ซึ่งยังไม่มีวิสัยทัศน์ที่ดีพอ ยังไม่รู้ยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติที่ลึกซึ้งพอ ยังแยกไม่ออกว่างบไหนจะพัฒนาชาติหรืองบไหนจะเผาผลาญชาติ
และจุดที่สอง คือ ข้าราชการระดับกลางและล่างในสำนักงานงบประมาณ ที่จะเป็นผู้พิจารณาตัดทอนงบที่เสนอมาจากกระทรวงต่างๆ ถึงสองเท่าของงบที่จะจัดสรร ให้เหลือตามกรอบของงบที่จะให้ ก็ลองคิดดูว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณจะมีวิจารณญาณจากไหนมาดูว่างานใดควรให้งบเท่านั้นเท่านี้ ควรลดงานลงเท่าใด หรือว่าควรตัดออกเพราะทำไปก็ไม่เกิดผล เหล่านี้เป็นต้น
หากคนที่ไม่เคยรู้เห็นได้เข้าไปเห็นเขาทำงบประมาณกันจริงๆ สักครั้ง คนระดับเสนาบดีอาจจะรู้เสียทีว่าเหตุใดประเทศนี้จึงดูเหมือนว่า ย่ำอยู่กับที่ทุกปีๆ

เมื่อเข้าฤดูทำงบประมาณมักจะมีนักวิชาการพูดถึงแต่ว่า งบประมาณขับเคลื่อนเศรษฐกิจบ้างพูดถึงแต่ว่า งบประมาณจะผลักดันยุทธศาสตร์ชาติบ้าง เหล่านี้เป็นต้น น้อยนักที่จะได้ยินเป็นอย่างอื่น จึงใคร่ขอถือโอกาสนี้บอกกล่าวท่านผู้อ่านทั้งหลายว่า งบประมาณของไทยนั้น คือตัวขับเคลื่อนสิ่งที่ด้อยประสิทธิภาพทั้งหลายในระบบราชการไทยออกมาให้เห็นในทางปฏิบัติเป็นอย่างดี ไม่ว่าการทำโครงการที่สุดจะล่าช้า การพัฒนาที่ไม่มีลำดับความสำคัญ การส่งเสริมรากหญ้า เช่น ด้านเกษตรกรและด้านอื่นๆ ที่ยิ่งส่งเสริมยิ่งตกต่ำ การป้องกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่ป่าไม้ ต้นน้ำ ปลายน้ำ และธรรมชาติของบ้านเมืองที่สวยงามที่ยิ่งจัดงบให้มากขึ้น กลับยิ่งเสื่อมโทรมลง รวมทั้งเงินทอนของวัดที่เป็นข่าวดังอยู่ทุกวันนี้ และที่เห็นชัดเจนมากคือ ยิ่งงบประมาณแผ่นดินขยายตัวทุกปี การใช้เงินกู้ที่ไม่ต้องอยู่ในระบบงบประมาณแผ่นดิน ก็ยิ่งขยายวงเงินออกไปมากกว่า
และสุดท้าย การทุจริตคอร์รัปชั่นจากการใช้เงินของแผ่นดินก็ยิ่งมีให้เห็นเต็มบ้านเต็มเมืองมากขึ้น

เมื่อพูดถึงงบประมาณแผ่นดินแล้ว หากไม่แตะการทำงบประมาณปี 2561 ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาวาระสุดท้ายของรัฐสภาในปลายเดือนสิงหาคมนี้ก็ดูกระไรอยู่ ซึ่งงบประมาณปี 2561 นี้ ดูง่ายเพราะจัดทำแบบตื้นๆ มาก เห็นปั๊บก็บอกได้เลยว่า งบประมาณปีนี้ ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นได้ โดยเฉพาะรากหญ้า ชนบท และคนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีสิ่งใดเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษเลยสำหรับเขาเหล่านั้น อนิจจาประเทศไทย
ประการแรก ที่เห็นก็คือขนาดของงบประมาณปี 2561 ที่จะออกมานี้น้อยกว่าปี 2560 ที่กำลังจะผ่านไปถึงร้อยละ 0.8 หรืองบติดลบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติเสียแล้ว คือ จากปีที่แล้ว 2.923 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 2.900 ล้านล้านบาท การตั้งงบประมาณแค่นี้ ดูเหมือนทั้งรัฐบาลจะเข้าใจตรงกันว่าเศรษฐกิจระยะนี้ฟื้นตัวแล้ว แต่ถ้าคนที่ไม่เห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นจะถามว่า แล้วควรตั้งงบประมาณปี 2561 ไว้สักเท่าไหร่ จึงจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้จริงๆ ก็ขอตอบว่าต้องเพิ่มจากเดิมให้เห็นหน้าเห็นหลัง ต้องใช้นโยบายการคลังที่กล้าหาญ ไม่ใช่ยึดติดวินัยการคลังโดยไม่ดูลมฟ้าอากาศ ถ้าเก่งจริงต้องกล้าจัดงบเพิ่มขึ้นอีก 300,000 บาท เป็นอย่างน้อย หรือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของงบปีที่แล้ว ดังนั้นงบปี 2561 จะต้องเป็น 3.223 ล้านล้านบาท แล้วต้องใช้ส่วนนี้อัดเข้าไปในเรื่องเศรษฐกิจรากหญ้าให้หมด รวมทั้งต้องตัดงบอื่นมาเพิ่มให้รากหญ้า เช่น จากงบของกระทรวงเกษตรฯและจากที่ต่างๆ ที่จัดสรรไม่เป็นเรื่องเป็นราวมาเพิ่มให้มากเท่าที่จะมากได้ ไม่ใช่เอาไปใช้กับการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือใช้กับโครงการสร้างรถไฟฟ้าใน กทม.และปริมณฑล ที่มุ่งเจาะเข้าพื้นที่สีเขียวที่มีแต่พวกคนมีเงินไปซื้อที่ดินดักรอไว้
ประการที่สอง ถ้าจะถามว่าหากรัฐบาล คสช.มีความห้าวหาญบ้าบิ่น กล้าเพิ่มงบประมาณตามจำนวนที่ว่า จะเป็นอย่างไร คำตอบเรื่องนี้อาจต้องให้แพทย์มาชี้แจง ซึ่งอาจได้คำตอบว่า คนที่เซลล์บางส่วนของสมองไม่ทำงาน มีแต่ความบ้าบิ่น บ่อยครั้งจะเกิดจุดบอด เพราะความกลัวในส่วนลึกของสมองจะฉุดรั้งไว้ จะไม่กลัวได้อย่างไรในเมื่อประมาณการรายได้เต็มที่ของรัฐในปี 2561 ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารงบประมาณ มีแค่ 2.450 ล้านล้านบาทเท่านั้น หากขืนตั้งงบรายจ่าย 3.223 ล้านล้านบาท งบเงินกู้หรืองบขาดดุลงบประมาณก็จะเป็น 773,000 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 4.9 ของ GDP ไม่ใช่ 450,000 ล้านบาท ตามที่ระบุในเอกสารงบประมาณ
ประการสุดท้าย ถ้าหันไปถามข้าราชการประจำอาวุโสทั้งหลาย ที่ทุกวันนี้ออกข่าวเป็นนกแก้วว่าดีครับท่าน เศรษฐกิจยั่งยืนแล้วครับท่าน ว่าตั้งงบขาดดุลถึงร้อยละ 4.9 ของ GDP จะทำได้ไหม บรรดานกแก้วก็จะตอบพร้อมกันว่า ไม่ได้ครับท่าน ตัวเลขขาดดุลเทียบกับ GDP แล้ว หลุดกรอบครับท่าน เดี๋ยวเงินเฟ้อจะตามมาครับท่าน รัฐบาลจะคุมหนี้สาธารณะไม่ได้นะท่าน ด้านการเงินจะรับไม่ไหวครับท่าน ฯลฯ
ฟังแล้วบรรดาผู้กำหนดนโยบายก็จะขนหัวลุก นี่แหละคือเบื้องหลังการถ่ายทำการจัดสร้างงบ 2561 ตัวจริง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image