‘รักเปื่อย’ คนชำรุดมีรักไม่ชำรุด คนไม่ชำรุดมีรักชำรุด

บังเอิญแท้ๆที่เห็นท้ายข่าวโทรทัศน์สัมภาษณ์คนกำกับหนัง , คนเขียนหนังสือ , คนเขียนภาพ คงเดช  จาตุรันต์รัศมี เรื่องหนังสือ ‘รักเปื่อย’ ของเขาซึ่งกำลังวางแผง พอพบตัวหนังสือหน้าตาน่ารักเล่มเหมาะมือ เย็บสันแข็งแรงกระดาษปอนด์หนาทนมือ จึงรีบหยิบมาละเลียดทันที

ด้วยความพยายามกับโป๊ะไฟขาวสว่าง ที่ไม่ช่วยให้แว่นสายตาไล่ตัวพิมพ์เล็กกระจิ๋วได้รวดเร็ว บางประโยคถึงกับต้องเพ่งสายตาเดาความให้ตรงคำที่เป็นไปได้ จนเมื่อไฟสำนักงานตอนกลางวันทำให้ตัวอักษรลอยชัดขึ้น จึงติดตามเรื่องราวไปรวดเดียวได้กระทั่งถึง  – ดิ เอนด์ – อวสาน

แต่คงไม่เป็นปัญหากับวัยรุ่นและสาวหนุ่มตาใสวัยฉกรรจ์พัลวันรัก

หลังจากอุทิศหนังสือเล่มนี้แก่ มังงะ มาสเตอร์ส ทุกรูปนาม ทิม  เบอร์ตัน ผู้กำกับหนังพิศดาร เวียนนา’ส  เวิร์คชอป สถาบันรวมดาว ประติมากร ศิลปิน นักออกแบบ เพื่อรังสรรค์ศิลปแขนงต่างๆและ จอร์จ  แอนดรู โรเมโร ปู่ทวดแห่งหนังซอมบี้แล้ว

Advertisement

คงเดชก็เริ่มเล่าเรื่อง โดยรูปแบบคือนิยายประกอบภาพ ซึ่งเดินเนื้อหาด้วยท่วงทีการตัดต่อภาพยนตร์ ที่ทั้งเรื่องและภาพลายเส้นเข้าใจง่าย ช่วยกันนำพาจินตนาการของผู้อ่านโลดแล่นตามไปได้

และบอกล่วงหน้าก่อนได้เช่นกัน บางจังหวะของการวางเรื่องและภาพ ผู้อ่านอาจน้ำตารื้นขึ้นหรือไหลซึมออกมาได้เลยทีเดียว

ทั้งๆเป็นนิยายรักที่เราท่านนักอ่านนักดูหนังทั้งหลายคุ้นเคยกันมานักต่อนักนี่แหละ

Advertisement

ฉันรักเธอ แต่เธอกลับไปรักเพื่อนฉัน เพื่อนฉันดันไปรักหญิงคนอื่น แล้วหญิงคนนั้นเกิดมารักฉันเข้าให้   วัฏจักรรักอมตะอันเป็นที่มาของนิยายหรือหนังซ้ำซากทำนองนี้

เพียงแต่วิธีการสร้างตัวละครของผู้เขียน ซึ่งแรกๆดูเหมือนจะคิดขึ้นง่ายๆ ให้เป็นเรื่องของคนตายกับคนเป็น   เกิดขึ้นเหมือนนิยายรักเล่มละ 10 บาทแผงท่ารถประจำทางสมัยก่อน อ่านไปอ่านมา กลับกลายเป็นแง่มุมที่ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดความคิดสื่อสารกับผู้อ่านได้อย่างเฉียบแหลม คมคาย ด้วยบทพูดหรือบทบรรยายอย่างกับหนังชั้นดี

เส้นการ์ตูน โดยเฉพาะพระเอกซอมบี้ที่ทำให้กระหวัดถึงหนังผีของทิม เบอร์ตันนั้น ส่วนอื่นๆไม่ได้ใกล้เคียงเลย เป็นเส้นสีของตัวเองที่ไม่มากเส้น แต่ส่งความหมายกระจ่างในทันที

ความรักของพระเอกซอมบี้ที่มีต่อนางเอก เอ,นางเอกหรือเปล่า คุมความคิดให้อ่านไปคาดหมายเรื่องไปต่างๆ  พร้อมๆกับนึกภาพแต่ละช่วงแต่ละตอนไปในรูปฉากหนัง(อย่างช่วยไม่ได้) หากเรื่องซึ่งดูเหมือนจะลากเราไปทางหนึ่ง กลับหวนกระตุกเรากลับมาทางเดิมที่อาจเคยเดินเคยผ่านมาแล้ว ต่างถูกนำมาใช้อย่างถูกจังหวะจะโคน

ทำให้เนื้อหาที่เป็นวัฏจักรรักอมตะซ้ำซากเรื่องนี้ มีพลังจากความคมคายของการบอกเล่าขึ้นมาได้น่าทึ่ง

สมบัติ – อรัญญา แม้แต่คนร่วมสมัยของสองพระนางมาอ่านก็แทบนึกมุขนี้ไปไม่ถึง แถมยังตบบ้องหูอัตตาแห่งรักด้วยคำจาก ‘ข้างหลังภาพ’ ให้ตระหนักซึ้งยิ่งไปอีก

จินตนาการของผู้อ่านอาจเสพรับเนื้อหาที่เล่ามาได้ง่ายดาย แต่การลำดับรายละเอียดเรื่องของผู้เขียนคงไม่ง่ายเช่นผู้เสพรับ กว่าจะให้ภาพคนซึ่งกลายเป็นผีเพราะความรัก และผุดจากหลุมขึ้นมาสะสางหัวใจที่ยุ่งเหยิง ขณะสังขารผีดิบค่อยๆเน่าเปื่อย ทันเวลาจะบอกรักหรือไม่ หรือแทนที่คนจะตกใจหนีผี กลับเป็นผีต้องวิ่งหนีคน อะไรวิ่งหนีอะไรกันแน่นั้น ต้องมีจินตนาการเพริศแพร้วทีเดียว จินตนาการที่ให้ได้ทั้งความสลดเศร้า และเสียงหัวเราะ(อย่างน้อยก็หึหึ)

ความรู้สึกเน่าเปื่อยกันได้ด้วยหรือ ช่วยไม่ได้ที่ผู้อ่านต้องถามตัวเองในที่สุด

9 ปีที่แล้วที่หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้น เมื่อกลับมาอีกครั้ง 9 ปีให้หลัง พร้อมภาคแถมพิเศษ คนเคยอ่านก็คงสิ้นกังขาที่เคยค้างคาใจ และคนที่เพิ่งอ่านก็จะไม่รู้สึกเหมือนดูหนังขาด

นอกเหนือคำตอบหลายคำที่ต้องตอบตัวเองระหว่างติดตามความรักของตัวละครไปตั้งแต่ต้นจนจบ.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image