หรือความล่าช้าจะนำไปสู่ความไม่เป็นธรรม? : ข้อสังเกตการบริหารจัดการภัยพิบัติสกลนคร พ.ศ.2560

พายุโซนร้อนเซินกา (SONCA) ทำให้นัยสำคัญของปัญหาภัยพิบัติอุทกภัยอยู่ในความสนใจของสาธารณะอีกครั้งตั้งแต่ช่วงวันที่ 23 – 30 กรกฎาคม มีประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับพายุและผลกระทบแล้วกว่า 22 ฉบับ อิทธิพลของพายุดังกล่าวทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และส่งผลให้ปัญหาภัยพิบัติอุทกภัยก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและสร้างความรุนแรงในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางกายภาพแตกต่างกัน แต่ทว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นดูจะรับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวมากทั้งนี้ด้วยลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ภาคอีสานคือ “เป็นพื้นที่น้ำน้อย” การตระหนักรู้ถึงภัยพิบัติอุทกภัยอาจเป็นสิ่งที่ลึกๆ ภาคส่วนต่างๆ รวมถึงประชาชนในอีสานอาจมั่นใจในขีดความสามารถที่จะรับมือกับปัญหาเหล่านี้ก็เป็นได้

จังหวัดสกลนคร เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานที่เผชิญกับปัญหาภัยพิบัติอุทกภัยจากพายุลูกนี้และเกิดความเสียหายในพื้นที่เป็นวงกว้าง แต่ว่าจังหวัดนี้กลับมีทิศทางการบริหารจัดการปัญหาที่น่าสนใจตรงที่มีการบริหารจัดการปัญหาโดยที่ยัง “ไม่มี” การประกาศให้พื้นที่ในจังหวัดเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ส่งผลให้ทรัพยากรที่สำคัญอย่างงบประมาณจากเงินทดรองราชการในการยับยั้งภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉินไม่ได้ถูกใช้เพื่อทำหน้าที่เป็นทรัพยากรร่วมของจังหวัดในการระดมความร่วมมือและผลิตทรัพยากรประเภทอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างทันท่วงที ดังนั้น เราจึงไม่เห็นกลไกการสนับสนุนการขับเคลื่อนการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม

แล้วการประกาศภัยมีความสำคัญอย่างไร? การประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยภัยพิบัติมีนัยสำคัญผูกพันกับการใช้งบประมาณจากเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน 2556 ซึ่งงบประมาณตัวนี้มุ่งหวังให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชน ซึ่งงบประมาณนี้อยู่ภายใต้อำนาจของอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะอนุมัติงบประมาณเพื่อทำการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติฉุกเฉินที่จะเป็นอัตรายต่อประชาชนและรัฐ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ได้แฝงไว้ซึ่งใจความสำคัญของการบำบัดทุกข์เฉพาะหน้าให้กับประชาชนในขอบเขตพื้นที่การปกครองของตน รวมถึงการเอื้อให้จังหวัดมีกลไกในการสร้างการบูรณาการโดยเฉพาะกับหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีเครื่องมือ อุปกรณ์ ความรู้เทคนิคสำหรับการปฏิบัติการกับปัญหาอยู่ ดังนั้น ในอีกนัยหนึ่งนั้นเราอาจตีความได้ว่าการไม่ประกาศให้พื้นที่จังหวัดเป็นเขตภัยพิบัตินั้นอาจเป็นเพราะจังหวัดมีศักยภาพในการระดมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานจากกลไกรูปแบบอื่นก็เป็นได้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม หลักฐานความเสียหายและความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดสกลนครก็อาจเป็นตัวบ่งชี้อย่างหนึ่งที่พยายามสะท้อนความหมายของการประกาศภัยพิบัติกับจังหวัดว่า จังหวัดกำลังตกอยู่ในสภาวะความล่าช้าในการประกาศพื้นที่เป็นเขตประสบภัยพิบัติ และด้วยเหตุนี้เองได้สร้างความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนเพราะการดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่ยังไม่ถึงปลายทางของจังหวัดสกลนครในครั้งนี้ (ทั้งที่ความวิกฤติของปัญหาคือพายุเซินกาได้ลดระดับความรุนแรงลงแล้ว) ไม่ได้ทำให้เกิดภาพในการปกป้องประชาชนในพื้นที่ของตนอย่างสุดความสามารถและความทุ่มเททรัพยากรทุกรูปแบบปรากฎขึ้นมาอย่างชัดเจน และหากประชาชนชาวสกลนครมองไปที่จังหวัดใกล้เคียงโดยรอบอย่างกาฬสินธุ์ที่ได้ประกาศเขตประสบภัยพิบัติไปแล้ว 11 อำเภอ (ณ วันที่ 29 กรกฎาคม) อาจจะทำให้เกิดการตั้งคำถามได้ว่า “ความล่าช้า (ในการประกาศภัยฯ) จะนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมต่อประเด็นการบำบัดทุกข์ให้กับประชาชนในพื้นที่หรือไม่?

เพราะปัญหาเช่นนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมายแล้ว แต่อยู่ที่การใช้อำนาจของนักปฏิบัติว่าจะใช้ยุทธวิธีใดในการขจัดปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งความทุ่มเทด้วยกลไกทุกรูปแบบก็อาจสะท้อนถึงความเท่าทันและการบรรเทาปัญหาภัยพิบัติที่เกิดต่อประชาชนและพื้นที่ของตนได้ในทางหนึ่งนั่นเอง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image