กก.อิสระเพื่อปฏิรูปฯ ตั้งเพิ่ม 2 อนุกรรมการ ดู พ.ร.บ.การศึกษาชาติ-บทบาทภาครัฐและเอกชน

 

นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ครั้งที่ 10 ได้เชิญนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เข้าให้ข้อมูลแนวทางการปฏิรูปการศึกษากับความรับผิดชอบทางการศึกษา ซึ่งได้นำงานวิจัยของทีดีอาร์ไอเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ระบบการศึกษาไทยยังซับซ้อน และขาดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ดังนั้น แนวทางปฏิรูปการศึกษาจำเป็นต้องหาหน่วยงานที่รับผิดชอบงานชัดเจน แบ่งหน้าที่ชัดเจนระหว่างฝ่ายกำกับดูแลนโยบาย และฝ่ายปฏิบัติ กำหนดแนวทางปฏิรูปทั้งระบบการศึกษา เช่น งบประมาณ การบูรณาการหน่วยงานรัฐ การส่งเสริมทุกภาคส่วนเข้ามาขับเคลื่อนการศึกษา การกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งที่เป็นสถานศึกษาของรัฐ 30,000 แห่ง และสถานศึกษาของเอกชน 8,000 แห่ง คณะกรรมการอิสระฯ จึงต้องรับฟังประเด็นอย่างรอบด้าน และครอบคลุมการปฏิรูปการศึกษาในทุกมิติ บูรณาการร่วมกับ 11 กระทรวง และหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 53 หน่วยงาน ทำอย่างไรจึงปรับโครงสร้างการศึกษาที่เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของโลก และปฏิรูประบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพรอบด้านครอบคลุมเด็กเล็ก กำลังแรงงาน สร้างความเชื่อมโยงผู้จบการศึกษา และ มีงานทำสอดคล้องความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้ง การศึกษารองรับสังคมสูงวัย และผู้อยู่นอกระบบการศึกษาปกติ ต้องได้รับโอกาสเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน

นพ.จรัสกล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้ว ส่วนการขับเคลื่อนของคณะกรรมการอิสระฯ ได้ตั้งอนุกรรมการเพิ่มเติมอีก 2 คณะ คือ 1.คณะอนุกรรมการ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่มีนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นประธาน และ 2.อนุกรรมการพิจารณาบทบาทการศึกษาระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมี น.ส.ดารณี อุทัยรัตนกิจ เป็นประธาน เพื่อรองรับแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติ สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา ซึ่งต้องอาศัยศรัทธาพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน ตัวผู้เรียน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และผู้ค้นคว้าวิจัยในระดับเข้ามามีส่วนร่วม เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษา และสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ภายในกรอบระยะเวลา 2 ปี ในการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระฯ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำแนวทางขับเคลื่อนงานหลัก 2 ประการ คือ 1.ปรับบทบาทการศึกษาเป็นของทุกภาคส่วน 2.ปรับศูนย์กลางระบบการศึกษาใหม่ แยกการทำงานชัดเจนระหว่างหน่วยกำกับดูแล ติดตาม และประเมินผล กับฝ่ายปฏิบัติ คือสถานศึกษา จากนี้ไปต้องปรับขั้วการศึกษาใหม่ ที่มี 3 เรื่องสำคัญต้องแก้ไขปฏิรูปให้ได้ ได้แก่ 1.คุณภาพการศึกษา 2.ลดความเหลื่อมล้ำการศึกษา และ 3.ปรับระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ สร้างกำลังคนที่ตรงกับความต้องการตลาดแรงงาน ซึ่งจะชี้ทิศปฏิรูปการศึกษา และใช้กลไกการตลาดเข้ามาขับเคลื่อนระบบการศึกษา” นพ.จรัส กล่าว

Advertisement

นายสมเกียรติ กล่าวว่า งานวิจัยด้านการศึกษาของทีดีอาร์ไอชี้ ชัดเจนว่าการปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นได้จริงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร และเดินให้ถูกทาง ดังนั้น ฝ่ายการเมืองต้องนิ่ง ข้าราชการประจำต้องนิ่ง ประสบการณ์ของต่างประเทศใช้เวลา 4-5 ปี ปฏิรูปการศึกษาได้อย่างมั่นคง และเกิดความต่อเนื่อง ดังนั้น อำนาจการเมือง ความเข้าใจ และการดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาอย่างสอดคล้องกับบริบทความเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image