น้ำท่วมกาฬสินธุ์ยังวิกฤติ เขื่อนลำปาวเร่งระบายน้ำ จนท.เร่งอพยพชาวบ้าน

ผลกระทบจากเขื่อนลำปาว เพิ่มระบายน้ำ 30 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ยังส่งผลให้น้ำท่วมซ้ำพื้นที่ท้ายน้ำ 5 อำเภอ ทั้งพื้นที่การเกษตร การประมง สถานที่ราชการ ที่พักอาศัย ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงเรียน สั่งปิดแล้วหลายแห่ง ด้านผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ได้สั่งการให้อำเภอที่จะได้รับผลกระทบทั้งหมด เตรียมรับมือและวางแผนการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ขณะที่อบจ.กาฬสินธุ์เร่งซ่อมสะพานขาดช่วยชาวบ้าน

เมื่อวันที่วันที่ 2 สิงหาคม 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ หลังจากได้รับอิทธิจากพายุเซินกา ซึ่งจากประมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาวเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างจำนวนมากในรอบ 15 ปี และขณะนี้ปริมาณน้ำทางทิศเหนือจาก จ.อุดรธานี ได้ไหลเข้ามาสมทบ ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวล่าสุดสูงถึง 1,681 ล้าน ลบ.ม.จากระดับกักเก็บ 1,980 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 85 % ซึ่งเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องระบายลงสู่ลำน้ำปาววันละ30 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรองรับน้ำใหม่ และรักษาสภาพของเขื่อน ซึ่งส่งผลกระทบให้ระดับน้ำลำปาวและลำชีเอ่อขึ้นสูง และท่วมพื้นที่การเกษตร ประมง ที่พักอาศัย สถานที่ราชการ ใน 5 อำเภอ คือ อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย อ.ร่องคำ และ อ.ฆ้องชัย ได้รับความเสียหายกว่า 30,000 ไร่ รวมทั้งหมู่บ้าน วัด โรงเรียน อีกหลายแห่ง

โดยเฉพาะพื้นที่ บ้านดอนยานาง บ้านเชียงสา บ้านดงยาง ต.บัวบาน อ.ยางตลาด และ บ้านท่าสินธุ์ ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งวิกฤติหนักสุด เนื่องจากอยู่ติดตลิ่งลำน้ำปาว ทั้งนี้สถานการณ์ล่าสุด ปริมาณน้ำได้เอ่อเข้าท่วมโรงเรียนเชียงสาศิลปสถาน วัดป่าดอนยานาง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนดอนยานางศึกษา และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอนสมบูรณ์ ต้องปิดทำการ เนื่องจากระดับน้ำเอ่อขึ้นสูง ถึง 70 ซม.- 1 เมตร จึงต้องขนย้ายอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ เข้าไปในที่ปลอดภัย โดยใช้บริเวณวัดดอนยานาง เป็นศูนย์รับความช่วยเหลือและพักพิง พร้อมตั้งหน่วยบริการชั่วคราวให้กับชาวบ้านผู้เจ็บป่วยที่มาใช้บริการ

นายบรรจบ ภูมิ่งเดือน นายก อบต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ รุนแรงสุดในรอบ 15 ปี ทั้งนี้หลังจากทราบประกาศเขื่อนลำปาวเพิ่มปริมาณระบายน้ำ ได้ประกาศเตือนชาวบ้านเตรียมการรับมือ โดยขนย้ายสิ่งของขึ้นบนที่สูง ในส่วนที่อยู่ติดกับตลิ่งให้ทำการอพยพก่อนที่น้ำจะท่วมสูงเกิดขึ้นจึงสามารถรับมือได้ระดับหนึ่ง แต่ส่วนที่ได้รับผลกระทบคือที่พักอาศัย ที่กระแสน้ำได้เอ่อท่วม จึงได้อพยพชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบหนักมาที่ศูนย์พักพิงวัดดอนยานาง

Advertisement

ทั้งนี้ นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ได้สั่งการให้อำเภอที่จะได้รับผลกระทบทั้งหมด เตรียมรับมือและวางแผนการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องการเตรียมศูนย์พักพิง ให้เตรียมเรือ ตลอดจนเรื่องการดูแลอาหาร อย่างไรก็ตาม หน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนราชการ เหล่ากาชาด มูลนิธิต่างๆ ยังคงลงพื้นที่เข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ไม่ให้ตื่นตระหนก และติดตามข่าวสารของทางราชการ เพื่อให้รู้ตัวการเคลื่อนตัวของมวลน้ำ ตลอดจนการลงพื้นที่เยี่ยมเยือนของภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และก้าวพ้นวิกฤติน้ำท่วมในครั้งนี้

ขณะที่นายยงยุทธ หล่อตระกูล นายกอบจ.กาฬสินธุ์ ได้มอบหมายให้นายอนันต์ จิตพันธ์ สมาชิกอบจ.อำเภอนามน นายไชยศิริ โรจนกิจ ผอ.กองช่าง อบจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองช่างและผู้นำชุมชนลงพื้นที่เข้าซ่อมแซมสะพานคอนกรีตข้ามลำห้วยหลัวบริเวณบ้านสงเปือย ม.9 ต.สงเปือย อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นถนนเชื่อมระหว่าง ต.สงเปือย อ.นามนไปยัง ต.หนองอีบุตร อ.ห้วยผึ้ง หลังจากเกิดฝนตกลงมาในพื้นที่จากพายุเซินกาและถูกกระแสน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาภูพานพัดและกัดเซาะจนทำให้คอสะพานขาดเป็นหลุมลึกกว่า 3 เมตร และยาวกว่า 10 เมตร ทำให้ชาวบ้านสัญจรไปมายากลำบาก ซึ่งชาวบ้านได้นำแผ่นไม้มาวางเพื่อข้ามสะพานชั่วคราว แต่ก็ทำได้เพียงรถจักรยานยนต์ผ่านได้เท่านั้น ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ 2 อำเภอ และเกษตรกรไม่สามารถนำผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่ายได้ และเกรงว่าผลผลิตจะเน่าเสีย โดยเจ้าหน้าที่ได้นำแผ่นปูนมาวางทับหลุม เพื่อให้รถสัญจรผ่านไปมาได้ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในเบื้องต้น เนื่องจากกระแสน้ำบริเวณดังกล่าวยังคงไหลเชี่ยวอยู่ จึงยังไม่สามารถซ่อมให้สมบูรณ์ได้ ซึ่งหากระดับน้ำและกระแสน้ำลดลงนายอนันต์ จิตพันธ์ สมาชิกอบจ.อำเภอนามน และเจ้าหน้าที่ อบจ.กาฬสินธุ์จะได้เข้าทำการซ่อมแซมให้สะพานกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมโดยเร็วที่สุด

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image