แม่พิมพ์3แสนแห่ช้อปปิ้งหลักสูตร กทม.เขต2มากสุด-ตามด้วย’สพม.36′ เผยอบรมแล้ว450คอร์ส

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการการจัดทำระบบลงทะเบียนและติดตามประเมินผลครูผู้เข้ารับการพัฒนาหรือคูปองพัฒนาครู ที่เชื่อมโยงกับเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ที่กำหนดให้ครูต้องพัฒนาตัวเองอย่างน้อย 12-20 ชั่วโมงต่อปี ว่า นับแต่เปิดระบบให้ครูลงทะเบียนเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมจนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม มีครูลงทะเบียนแล้ว 307,131 คน มีการลงทะเบียนอบรมหลักสูตร 539,435 ที่นั่ง จากครูในระบบทั้งหมด 378,205 คน คิดเป็นร้อยละ 86.9 หรือ 87% ทั้งนี้เท่ากับมีการลงทะเบียนเผื่อเลือก โดยจากข้อมูลพบว่าผู้ที่ลงทะเบียนเผื่อเลือกมากที่สุดอยู่ที่ 76 หลักสูตร ขณะนี้ได้มีการอนุมัติงบประมาณดำเนินการแล้ว 1,269,718,886 บาท ยังเหลืองบที่รอการอนุมัติก่อนวันที่ 30 กันยายน อีกจำนวน 3,101,211,030 บาท

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อว่า ส่วนยอดรวมการยกเลิก มีทั้งหมด 277,107 ที่นั่ง สามารถแยกตามพฤติกรรมได้ ดังนี้ ยอดยกเลิกหลัง 15 วันของการการอบรมมีเพียงแค่ 2.74% ส่วนการยกเลิกเพราะไม่ผ่านการอนุมัติมีเพียง 3.62% เท่านั้น การยกเลิกส่วนใหญ่เกิดขึ้นก่อน 15 วันของการอบรม ส่วนหลักสูตรที่มีการลงทะเบียนอบรมมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ หลักสูตรฝึกอบรมการจัดกิจกรรมเกมการศึกษาจากสื่อธรรมชาติ 20,211 คน หลักสูตรส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อยกระดับทักษะพัฒนาการจัดการศึกษาในสื่อการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ 15,187 คน และหลักสูตรการพัฒนาครูต้นแบบ “ศาสตร์พระราชา” ด้วย Active Learning+ Professional Learning Community 12,691 คน ส่วนหลักสูตรที่มีการลงทะเบียนที่นั่งสำรองมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การบูรณาการการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning) 427 ที่นั่ง หลักสูตร S1-01 การวางแผนการออกพัฒนาสื่อ/กิจกรรมการเรียนรู้โดยประยุกต์ใช้ไอซีที 368 ที่นั่ง และหลักสูตรการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน 363 ที่นั่ง
ผู้อำนวยการ สพค. กล่าวต่อว่า ส่วนเขตพื้นที่ที่มีครูลงทะเบียนมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) กรุงเทพฯ เขต 2 จำนวน 6,711 คน สพม.เขต 36 (เชียงราย พะเยา) จำนวน 6,473 คน และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ(สศศ.) จำนวน 5,631 คน และเขตพื้นที่ที่มีครูลงทะเบียนอบรมน้อยที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)อุทัยธานี เขต 1 สพป.ยะลา เขต 3 และสพป.พัทลุง เขต 1 ส่วนหลักสูตรที่ผ่านเกณฑ์การรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนา มีทั้งหมด 1,460 หลักสูตร จากที่เสนอมาทั้งหมด 1,687 หลักสูตร จำแนกเป็น มหาวิทยาลัยรัฐ/มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ 2,212 หลักสูตร/รุ่น บริษัท 706 หลักสูตร/รุ่น มูลนิธิ/สมาคม/เครือข่าย/เอ็นจีโอ 382 หลักสูตร/รุ่น เขตพื้นที่/หน่วยงานในสังกัดศธ. 348 หลักสูตร/รุ่น และโรงเรียนสังกัดสพฐ. 85 หลักสูตร/รุ่น ทั้ง 1,460 หลักสูตรจัดหลายรุ่นและหลายที่นั่งรวมแล้วประมาณ 4 แสนกว่าที่นั่ง จึงเพียงพอกับความต้องการของครูในระบบ เพียงแต่อาจจะมีปัญหาเรื่องหลักสูตรที่จัดไม่ตรงกับสาขาวิชาเอกของครูผู้เข้ารับการอบรม ครูต้องเดินทางไปอบรมอีกจังหวัดซึ่งไกล หน่วยผู้จัดไหนที่มีชื่อเสียง ผู้แห่ลงทะเบียน แต่หน่วยไหนที่ไม่มีชื่อเสียง จะมีที่นั่งว่างจำนวนมาก

นางเกศทิพย์ กล่าวด้วยว่า เริ่มมีการอบรมไปเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมและทยอยประเมินผลแล้ว 450 หลักสูตร โดยมีเสียงสะท้อนจากครูว่าบางหลักสูตรแย่ ไม่ผ่าน จัดไม่ตรงกับรายละเอียดใน shopping list ขณะที่บางหลักสูตรดี เท่ากับมีทั้งหลักสูตรที่ดีและไม่ดี ตนมองว่าเป็นกลไกที่ดี ที่ครูจะช่วยกันคัดกรองคุณภาพของหลักสูตรให้ผู้จัดได้พัฒนาคุณภาพหลักสูตรต่อไป รวมทั้งขณะนี้สถาบันคุรุพัฒนาจะเปิดให้ทุกหน่วยที่สนใจเสนอหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือกลุ่มโรงเรียน เขตพื้นที่ฯ หรือหน่วยงานต่างๆ สามารถเสนอหลักสูตรได้ ฉะนั้นต่อไปจะมีหลักสูตรที่มีคุณภาพหลากหลายและมีอยู่ทุกที่ สะดวกต่อครูในการเดินทาง ตลอดจนจะมีการทำงานเป็นเครือข่ายที่ดี และมีความเข้มแข็งในพื้นที่ในอนาคต และที่สำคัญเมื่อครูมีการพัฒนาตนเองแล้วและมาแบ่งปันความรู้ รวมตัวกันร่วมกันพัฒนาผู้เรียน(PLC) ก็จะทำให้การพัฒนาถึงผู้เรียนแน่นอน โดยจุดเน้นของการเสนอหลักสูตร คือ ผู้จัดต้องตามครูไปถึงห้องเรียนเพื่อให้ครูได้ความรู้นำไปพัฒนาผู้เรียนได้จริง ส่วนหลักสูตรไหน หรือผู้จัดรายใดเอาเปรียบครู สพฐ.และสถาบันคุรุพัฒนาจะทบทวนไม่ให้มีการจัดอบรมในครั้งต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image