‘ชำนาญ’ แนะ ‘รฟฟ.รางเบา’ ท้องถิ่นเชียงใหม่ทำเองได้ ถ้าหวังงบรัฐบาลต้องรอผ่อนเรือดำน้ำหมดก่อน

คลิกอ่าน สนข.รับฟังความเห็นขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ ครั้งสุดท้าย ผุด ‘รฟฟ.รางเบา’ เตรียมเสนอ ครม.

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม เวลา 9.00 น. ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) จัดการสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ในโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ โดยที่ผ่านมา สนข. ในสังกัด กระทรวงคมนาคม มอบหมาย ให้ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิศวกรรมขนส่งและเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน (ExCITE) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการสำรวจและศึกษาเพื่อพัฒนาแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ รายละเอียดเพิ่มเติมที่ (http://www.cm-pmap.com)

โดยขั้นตอนหลังจากการรับฟังความเห็นประชาชนแล้ว สนข. จะนำข้อมูลที่ได้ ส่งกระทรวงคมนาคมพิจารณา กระทรวงคมนาคมทำการพิจารณาและส่งเรื่องไปยังรัฐบาล จากนั้นรัฐบาลรับเรื่องเพื่อทำการกำหนดนโยบายและอนุมัติงบประมาณต่อไป

หลังการอภิปราย นายชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำเครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง ที่ได้เข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็น กล่าวว่า ฟังจากที่อภิปรายมาทั้งหมด ผมนึกว่าเรายังอยู่ในปี 2435 เสียอีก เพราะอะไรๆก็บอกว่า “เสนอไปกรุงเทพเพื่ออนุมัติ” “เสนอไปกรุงเทพฯเพื่อพิจารณา”ฯลฯ ทั้งๆที่เป็นประเด็นว่าคนเชียงใหม่จะเดินทางอย่างไร และ รัฐธรรมนูญมาตรา 250 วรรคท้ายก็บัญญัติชัดว่าเป็นอำนาจหน้าที่ที่ทัองถิ่นสามารถทำได้เอง นอกจากนั้นท้องถิ่นสามารถออกพันธบัตรเอง(กทม.ทำแล้ว) ขืนรอแต่งบประมาณจากรบ.กลางคงต้องรอผ่อนเรือดำน้ำหมดก่อน

Advertisement
ชำนาญ จันทร์เรือง(ขวา)

นายชำนาญกล่าวเพิ่มเติมว่า การทำประชาพิจารณ์ทำมาหลายครั้งแล้ว และเปิดให้แสดงความเห็นได้เต็มที่ คนที่ให้ข้อมูลก็พูดไม่เยิ่นเย้อ ต่างจากการทำประชาพิจารณ์ทั่วไปที่ทำลวกๆ ส่วนตัวเห็นด้วยกับแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ที่นำเสนอ โดยรถไฟฟ้ารางเบามี2แผน 1.แพลนเอ แบบบนดินและใต้ดินเมื่อเข้าเขตเมือง 2.แพลนบี บนดินทั้งหมด ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับแผนที่1

ส่วนวิธีการจัดการมี 3 วิธี 1.รัฐลงทุนเอง 2.รัฐลงทุนร่วมเอกชน 3.ท้องถิ่นทำและร่วมทุนเอกชนตั้งเป็นองค์การมหาชน มีการอภิปรายกันหลากหลาย ผมเสนอว่าถ้ารองบประมาณกลางนั้นไม่มีทางหรอก เพราะหนี้สาธารณะจะเพิ่ม ถ้าเป็นแพลนเอ ระยะเวลา 6 ปีใช้งบประมาณแสนล้านบาท ซึ่งยาก รัฐไม่ยอมหรอก ประกอบกับสถานาการณ์ปัญหาทางการเมืองที่มีต่อจังหวัดเชียงใหม่

“จริงๆแล้วผมมองว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา250 สามารถทำได้อยู่แล้ว ทางกทม.เขาก็ทำออกพันธบัตรทำรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ก็ให้ท้องถิ่นเป็นหน่วยจัดการเหมือนที่กทม.ทำ เพราะเรารองบประมาณส่วนกลางคงยาก ไม่มีทางสำเร็จ อีกทั้งมีธนาคารของจีนก็สนใจลงทุน ท้องถิ่นตั้งเป็นองค์การมหาชนออกพันธบัตรระดมทุน ซึ่งจะทำได้เร็ว ไม่ติดขัดเรื่องงบประมาณ ที่สำคัญคือไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่นดีเท่ากับคนท้องถิ่นหรอก ให้สนข.ที่อยุ่กรุงเทพฯดูก็เหมือนผังเมืองที่ออกแบบมาจากกรุงเทพฯแล้วไม่ตรงตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง แปลกที่ว่าเชียงใหม่เป็นเมืองขนาดใหญ่แต่ไม่มีขนส่งสาธารณะเลย ถึงเวลาต้องมีแล้ว” นายชำนาญกล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image