‘บิ๊กตู่’ยันกม.ยุทธศาสตร์ชาติฯ สร้างความมั่นใจให้ชาวไทย-ชาวโลกได้เห็นอนาคต

เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 4 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวผ่านรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า พี่น้องประชาชนที่รักสำหรับเส้นทางการเดินหน้าประเทศ ตามโรดแมปของคสช.นั้น ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เรียกได้ว่ามีก้าวย่างที่สำคัญ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ได้ผ่านการลงประชามติ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฯ แก่ปวงชนชาวไทย บัดนี้ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560และพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้ว ย่อมเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชาวไทยทั้งชาติ และชาวโลกได้เห็นพัฒนาการที่ดีของเรา สิ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ก็คือ การตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปในแต่ละด้าน เพื่อเข้ามาดำเนินการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมอบหมาย ทั้งนี้ด้วยเวลาอันจำกัดเพื่อความรอบคอบ รัฐบาลและคสช.ได้มีการเตรียมการล่วงหน้า ในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ สำหรับการบรรลุผลสำเร็จ ตามที่พวกเราทุกคนคาดหวัง ที่ผ่านมาได้สนับสนุนการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง(ป.ย.ป.) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ได้ทำการศึกษา รับฟังความเห็น และทำข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศต่างๆไว้ สำหรับเป็นข้อมูลพื้นฐาน ในการทำงานต่อเนื่องของคณะกรรมการใหม่ดังกล่าว ทั้ง 2 คณะตามรัฐธรรมนูญวันนี้เราทำการปฏิรูประยะที่ 1 ไปแล้ว เป็นรายละเอียดปลีกย่อยข้างล่างที่จะต้องทำให้สมบูรณ์เสียก่อนถึงจะไปแก้ปัญหาปฏิรูปเรื่องใหญ่ๆได้

นายกฯ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ตนเห็นว่ามีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการปฏิรูปมีอยู่ 2 ประการ คือ 1.การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทุกสาขาอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศ เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด อยากจะให้ผู้อาวุโสได้ใช้ประสบการณ์และวิสัยทัศน์ ร่วมกับคนรุ่นใหม่ ให้ได้ใช้ความริเริ่ม สร้างสรรค์ ได้ร่วมกันสร้างอนาคตของประเทศ เพื่อลูกหลานไทยในอนาคตเราต้องฟังคนรุ่นใหม่ด้วย ช่องทางการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นจะต้องเปิดกว้างและทั่วถึง ทั้งกลไกปกติของภาครัฐ ช่องทางการสื่อสารต่างๆ รวมทั้งสื่อออนไลน์ เพื่อจะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม 2.การจัดทำและการบังคับใช้กฎหมาย ที่คงไม่เป็นเพียงแค่พื้นฐานของการปฏิรูปประเทศ ยังเป็นการสร้างความปรองดองของคนในชาติอีกด้วย ทุกคนมาอยู่ภายใต้กฎหมายอันเดียวกัน เคารพกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม ถ้าไม่มีการละเมิดกฎหมายก็จะไม่มีความขัดแย้ง เจ้าหน้าที่ก็ไม่เสียหาย ประชาชนก็ไม่เดือดร้อน ประเทศก็มีเสถียรภาพ และก็จะพร้อมสำหรับการพัฒนา แล้วเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปในทุกๆ เรื่องที่กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ตามการปฏิรูปที่ต้องเปลี่ยนแปลงครบวงจร จะยิ่งเกิดปัญหาอยู่กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ทำให้เดินไปได้ช้า ตนไม่อยากใช้กฎหมายบังคับให้มากจนเกินไป

“ที่ผ่านมานั้นรัฐบาลและคสช.ให้ความสำคัญกับกฎหมายและกระบวนยุติธรรม มาโดยตลอด เนื่องจากผมเห็นว่า นอกจากจะเป็นการสร้าง นิติรัฐ นิติธรรม ในสังคมไทยแล้ว ก็ยังเป็นรากฐานสำคัญของการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทุกคนต้องเคารพกฎหมายนะครับ และยึดมั่นใน ทั้ง 3 อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ที่สามารถตรวจสอบ ถ่วงดุลกัน และเป็นอิสระ ไม่ก้าวล่วงอำนาจซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่าง การผลักดันกฎหมายใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาความเดือดร้อนและลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปประเทศอีกด้วย ปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้ว เกือบ 200 ฉบับ ภายในเวลา 2 ปี เฉลี่ยแล้วเราทำต่อปีมากกว่า ช่วง 7 ปี ก่อนที่คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ถึง 7 เท่าตัว”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image