สุภาพ คลี่ขจาย ถอดรหัส ‘ทีวีดิจิทัล’ ทางรอดวิกฤต-ภัยคุกคามออนไลน์

เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการทีวีดิจิทัลตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลายช่องต้องประสบปัญหาตัวเลขติดลบอย่างน่าตกใจ ขณะที่บางช่องมีผลประกอบการที่ลดลงต่อเนื่อง และมีเพียงไม่กี่ช่องเท่านั้นที่พอจะมีกำไรอยู่บ้าง

จากรายได้ที่น้อยกว่ารายจ่าย หลายค่ายเริ่มมีความเคลื่อนไหว บ้างต้องปรับโครงสร้างเปลี่ยนยุทธศาสตร์การบริหารใหม่ บ้างต้องใช้วิธีการลดต้นทุนด้วยการลดจำนวนพนักงาน เพื่อต่อลมหายใจให้กับองค์กร

ไม่เพียงแต่เรื่องรายได้เท่านั้น ยังมีการมาของการให้บริการแพร่ภาพและเสียงบนโครงข่ายอินเตอร์เน็ต (Over The Top หรือ OTT) เช่น เฟซบุ๊ก, ไลน์ทีวี, ยูทูบ ทำให้คนดูสามารถรับชมได้ทันที หรือดูย้อนหลัง เป็นวิกฤตสำคัญที่ส่งผลต่อทีวีดิจิทัลอย่างมาก

สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นภัยคุกคามทีวีดิจิทัล

Advertisement

“วันนี้ทีวีดิจิทัลกำลังเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ที่มากับเทคโนโลยี ซึ่งคือ “ทีวีออนไลน์” ที่ใครก็สามารถออนแอร์โทรทัศน์ให้ดูได้ด้วยอินเตอร์เน็ต โดยที่ไม่ต้องจ่ายใบอนุญาตให้ กสทช. ไม่ต้องจ่ายค่าโครงข่าย เหมือนกับทีวีดิจิทัล แต่ต้องมาแข่งขันกัน”

สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงวิกฤตของทีวีดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้น

“เป็นเหมือนคลื่นพายุโหมกระหน่ำที่ยากจะเดาได้ว่าจะลงเอยเช่นไร”

Advertisement

– สถานการณ์ทีวีดิจิทัลที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

มันเป็นแบบที่สุนทรภู่เขียนเป็นกลอนว่า “ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา” คือ 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ตอนแรกที่เปิดเราคิดว่าเราเจอวิกฤตแล้วแต่ก็ยังไม่มาก คือทุกช่องเขาประมูลบนพื้นฐานที่ว่าเป็นฟรีทีวีทุกบ้านดูได้ เขาถึงประมูลกันด้วยราคาแพง ทุกคนรู้แต่แรกว่า 20 กว่าช่องมันมากไปแต่ทุกคนก็คิดว่าสู้ได้ เพราะคนเปิดดูได้ทุกบ้าน โฆษณาจะมีแชร์มามากบ้างน้อยมาก แต่โดยระบบกลายเป็นทุกบ้านดูไม่ได้

ดังนั้น คนที่มาบอกว่าทีวีดิจิทัลเป็นพวกเศรษฐีหน้าโง่ ผมอยากบอกว่าเขาไม่โง่หรอก เพียงแต่เขาคาดไม่ถึงว่าเมื่อประมูลได้แล้ว คนไม่สามารถดูได้ทุกบ้าน เพราะการแจกกล่องทีวีดิจิทัลขัดข้องหลายอย่าง กสทช.แจกช้า แจกมาแล้วติดได้บ้างไม่ได้บ้าง ติดแล้วดูได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะโครงข่ายไม่สมบูรณ์ตามข้อตกลง สรุปคือเมื่อไม่สามารถดูได้ตามแผนที่ตกลงไว้ โฆษณาก็ไม่เข้า เป็นความเสียหายเหมือนเวลาที่สั่งของแล้วได้ของไม่ครบ

เป็นที่มาที่ทำให้เราเรียกร้องขอให้ฝ่ายรัฐบาลหรือ กสทช. ช่วยเยียวยาให้ เราไม่ใช่คนที่ทำธุรกิจแล้วงอแง เพราะการทำธุรกิจต้องมีความเสี่ยง ต้องพร้อมจะยอมรับการขาดทุน

แต่ที่ขาดทุนตอนนี้เป็นเพราะคู่สัญญาไม่ทำตามสัญญา ซึ่งเราก็เข้าใจการทำงานของ กสทช. แต่เมื่อไม่เป็นไปตามสัญญาที่สุดแล้วก็มีการเยียวยา เบื้องต้นคือ ยืดระยะเวลาการจ่ายใบอนุญาติ งวดที่ 3-6 ออกไป พอจะทำให้มีลมหายใจต่อไปในระดับหนึ่ง

– ถ้าทุกคนสามารถดูทีวีดิจิทัลได้ จะทำให้วิกฤตคลี่คลายหรือไม่?

ผมว่าได้ โดยหลักธรรมชาติถ้าคนดูมาก เรตติ้งขึ้น โฆษณาก็ตามมา ซึ่งปัจจุบันยังดูได้ไม่ครบทุกบ้าน อย่างกล่องทีวีดิจิทัล มารู้ทีหลังว่าเพื่อนหลายคนที่อยู่ในคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ติดแล้วดูไม่ได้ ซึ่งคำแนะนำของผู้ผลิตกล่องบอกว่าควรจะติดเสาสูง 6 เมตร ถามว่าเวลานี้ใครจะขวนขวายติดเสา 6 เมตรเพื่อดูทีวี แล้วในคอนโดฯใครจะไปติดเสา แล้วจะติดตรงไหน กลายเป็นว่ายุ่งยากเสียเวลา สุดท้ายก็ไม่ติดแล้วบางคนไม่เอาคูปองไปแลกกล่องด้วยซ้ำไป ตอนหลังมีความพยายามอำนวยความสะดวกใช้แค่บัตรประชาชนแลกกล่องล็อตใหม่ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าจะติดแล้วดูได้หรือไม่ อัตราเป็นอย่างไร

– ในต่างประเทศยุคเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกเป็นดิจิทัลเป็นอย่างไร?

ต่างประเทศในยุคเปลี่ยนผ่านทำกันหลายแบบ บางประเทศก็แจกกล่องแบบบ้านเราแต่กระบวนของเขามีประสิทธิภาพและทั่วถึงมากกว่า ที่สำคัญคือมีคุณภาพในการรับชมมากกว่า บางประเทศมีการเปิดให้เอาทีวีเก่ามาแลกทีวีใหม่ซึ่งเป็นระบบดิจิทัลอยู่ในตัว เพื่อให้ทุกคนสามารถดูทีวีดิจิทัลได้แน่นอน วิธีการเขามีกันหลายแบบแต่มีเป้าหมายเดียวกันคือทำให้คนสามารถดูทีวีดิจิทัลได้มากที่สุด

– การเมืองมีผลต่อทีวีดิจิทัลหรือเปล่า?

ผมว่าสิทธิเสรีภาพของสื่อดีขึ้น โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ อาจไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ถึงขนาดว่ามีอุปสรรคต่อการทำโทรทัศน์ แต่ถ้าการเมืองเป็นปกติเราก็ไม่ต้องสูญเสียเวลาไพรม์ไทม์ซึ่งเป็นเวลาที่ดีที่สุดของทีวีไป

ต้องยอมรับว่าทุกช่องสูญเสียช่วงเวลาไพรม์ไทม์แต่ก็เป็นความจำเป็นที่รายการเดินหน้าประเทศไทย ทุกวันเวลา 18.00-18.20 น. และที่นายกฯออกมาพูดวันศุกร์ 45 นาที ผมก็ไม่ว่าอะไรถ้าท่านทำเพื่อความเข้าใจของคนในชาติ เพียงแต่เล่าให้ฟังว่า เวลาเกือบ 1 ช่วงโมงในช่วงเวลานั้น 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นมูลค่ามหาศาล

ซึ่งโทรทัศน์ควรได้โฆษณา ใน 1 ชั่วโมงนั้น 10 นาที สมมุติว่านาทีละ 1 แสนบาท ก็คิดเป็นเป็นเงินช่องละ 1 ล้าน ประเด็นนี้ผมไม่ได้โวยวาย แต่นี่คือสิ่งที่เราควรจะได้เเต่เราสูญเสียไป


– การควมคุมของ กสทช.มีผลต่อทีวีดิจิทัลไหม?

เขาก็มีตักเตือนรายการบ้างมีปรับบ้าง แต่ไม่ถึงกับเป็นปัญหา คืออยู่ในภาวะของความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ในส่วนการจัดการผมคิดว่าแฟร์นะ ดูบริบทของช่องที่โดนลงโทษก็อยู่ในภาวะที่เข้าใจได้ แต่บางกรณีก็หนักไปหน่อย อย่างตอนที่วอยซ์ทีวีถูกปิด ผมก็ได้นำคณะไปพบกับ กสทช. เราบอกว่าบทลงโทษของทีวีดิจิทัลควรจะทำอย่างอื่นได้ตั้งหลายอย่างนอกจากปิดสถานี ปรับให้แพงขึ้น หรือถ้าผิดกฎหมายก็ฟ้องร้องดำเนินคดีไป

การปิดช่องแบบนี้มันกระทบต่อฝ่ายอื่นทุกฝ่าย และเป็นบทลงโทษที่ถือว่ารุนแรงที่สุด เทียบกับสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร ในสมัยก่อนที่ปิดหนังสือพิมพ์ แบบเดียวกัน

– มีโอกาสที่จะมีช่องดิจิทัลปิดตัวลงอีกไหม?

อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เคยเสนอตั้งแต่ต้นควรจะมีระบบเอ็กซิต (Exit) คือใครไปไม่ไหวก็แจ้งความจำนงคืนคลื่น โดยไม่ต้องถูกกระหน่ำซ้ำเติมอย่างคนที่ประมูลมา 2-3 ช่องเขาอยากจะคืนเหลือช่องเดียวแต่ยอมจ่ายค่าใบอนุญาตไปแล้วก็ทำไม่ได้ เพราะในกฎระเบียบเขาจะต้องสูญเสียแบงก์การันตีไป พูดง่ายๆ คือไม่เปิดโอกาสให้คืน

ผมมองว่าขณะนี้ช่องทีวีดิจิทัล 22 ช่อง มันเยอะเกินไป คนดูก็ไม่รู้จะดูอะไรแล้วรายการก็มีซ้ำๆ ตื่นขึ้นมาก็มีเล่าข่าวเช้าเหมือนกันทุกช่อง มีแข่งร้องเพลงเหมือนกัน แทบไม่มีความแตกต่าง

ตอนเปิดประมูล 24 ช่อง ก็มีนักวิชาการทักทวงว่าเยอะเกินไป แล้วยังมีช่องสาธารณะ ช่องชุมชนอีกรวมทั้งหมด 48 ช่อง ดังนั้น ผมมองว่าถ้าเปิดโอกาสให้มีระบบเอ็กซิต จะทำให้จำนวนช่องลดลงมีจำนวนเหมาะสมขึ้น

– การดึงกลุ่มธุรกิจเข้ามา จะช่วยให้ทีวีดิจิทัลรอดพ้นวิกฤตได้หรือไม่?

การดึงกลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจเข้ามาเป็นการเพิ่มช่องทางให้อยู่ต่อได้ เพราะหลักการแล้วการทำสื่อโทรทัศน์ระหว่างช่วงขาดทุนกับกำไรมีสะวิงแรงมาก อย่างช่อง 3 ในอดีตเคยขาดทุนมหาศาลจนต้องเอาธนาคารกรุงเทพมาช่วย แต่พอถึงจุดพลิกผันมีกำไรมันเร็วมาก

เขาก็ประเมินกันว่าในช่วง 15 ปีถ้าสามารถทำให้คนดูได้ทั้งประเทศและมีสายป่านยาว จะสามารถพลิกตัวทำกำไรได้ ดังนั้น จึงมีการร่วมทุนอย่างบริษัทของ “เจ้าสัวเจริญ” เจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาร่วมทุนกับช่องอมรินทร์ หรือกลุ่มปราสาททองโอสถ ซื้อหุ้นช่องวัน

– เศรษฐกิจมีผลต่อโฆษณาทีวีดิจิทัลอย่างไรบ้าง?

ทีวีดิจิทัลอาภัพ คือเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน ปี 2557 แต่ก่อนหน้านั้นมีม็อบชัตดาวน์ประเทศ เศรษฐกิจหยุดชะงักไปเยอะ พอออกอากาศได้เดือนกว่าก็มีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็ย่ำแย่มาโดยตลอด คนก็ระมัดระวังการจ่ายเงินมากขึ้น งบโฆษณาไม่โตขึ้นหยุดนิ่งกับที่ ผมมองว่าจะแก้ปัญหาได้เมื่อทุกบ้านดูทีวีดิจิทัลได้

– ตอนนี้ดูเหมือนว่าทุกช่องก็มีโฆษณาเข้าตลอด?

ทีวีดิจิทัลใน 1 ชั่วโมงเขาให้ขายโฆษณาได้ 10 นาที ตอนนี้ดูเหมือนมีโฆษณาเต็ม แต่โฆษณาราคาถูกมาก บางรายการถูกพอๆ กับโฆษณาวิทยุ ทำให้เงินที่ได้ไม่คุ้มกับค่าโปรดักชั่น ค่าผลิต ค่าจ้างดารา พิธีกรต่างๆ หมายความว่าต่อให้ขายโฆษณามาเต็มก็ยังไม่คุ้ม

ตอนนี้ตลาดไม่ได้อยู่ในมือผู้ประกอบการ แต่อยู่ในมือของคนซื้อโฆษณา เขาสามารถเลือกได้ หมดยุคที่จะต้องจองเหมือนสมัยก่อนแล้ว เวลาละครที่มีดาราดังแค่เปิดตัวโฆษณาเต็มตั้งแต่ตอนแรกถึงตอนที่ 30 แต่ตอนนี้ซื้อโฆษณากันตอนต่อตอน พอเห็นท่าไม่ดี 10 กว่าตอนก็เขียนบทให้จบไป

– การที่สื่อออนไลน์เอาข้อมูลจากทีวีไปเผยแพร่ซ้ำตรงนี้มองอย่างไร?

การที่เขาเอาไปเผยแพร่ก็เป็นการประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่ง ให้คนรู้จักรายการของเราก็เป็นเรื่องดี ผมไม่ได้ติดใจอะไรเรื่องนี้ เพียงแต่ว่าถ้าติดส่วนของโฆษณารายการไปบ้าง จะได้ทำให้ผู้สนับสนุนรายการเขารู้สึกว่าอยากจะสนับสนุนรายการต่อ แบบนี้จะแฟร์มาก เพราะคุณเอารายการของผมไป คุณไม่ต้องจ่ายอะไรเลย

– แล้วคู่แข่งเดิมอย่างเคเบิลทีวีมีผลต่อทีวีดิจิทัลหรือเปล่า?

คนที่จะดูเคเบิลทีวีได้ต้องลงทุนติดเคเบิลทีวี รวมถึงทีวีดาวเทียมที่ทุกคนจะต้องลงทุนติดจานดาวเทียม แต่ทีวีดิจิทัลเรามองว่าเป็นทีวีที่ลงทุนน้อยที่สุด ชาวบ้านไม่ต้องสมัครสมาชิก ไม่ต้องติดจานก็สามารถดูได้ แต่วันนี้คนสามารถดูทีวีอินเตอร์เน็ตที่เหมือนทีวีดิจิทัลทุกอย่าง

– ทีวีออนไลน์ส่งผลกระทบต่อทีวีดิจิทัลมากกว่า?

ครับ เป็นภัยคุกคามใหม่ซึ่งวิกฤตมากกว่าเรื่องเก่า ใครก็สามารถออนแอร์ได้โดยที่ไม่มีต้นทุนเหมือนทีวีดิจิทัล แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีใครสามารถคุ้มครองได้ เเละจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่อไปจะทำให้คนรุ่นใหม่ดูทีวีในมือถือ สุดท้ายทีวีดิจิทัล 20 กว่าช่องที่เเข่งกันอยู่เเล้ว มีคู่แข่งมากขึ้นไปอีก

คำถามคือมันยุติธรรมกับทีวีดิจิทัลไหมที่เขาจ่ายค่าใบอนุญาต จ่ายค่าโครงข่ายกันในราคาแพง แต่มีคู่แข่งที่ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย ไม่ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์กติกา ไม่ต้องเซ็นเซอร์ ไม่มีใครคุมว่ารายการไหนออกได้หรือไม่ได้ แล้วต้องมาสู้กัน

พวกผมจะนัดหารือกันว่าควรจะทำยังไงให้คนที่เกี่ยวข้องและสังคมเข้าใจว่าอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงควรจะได้รับการดูแล ช่วยกันประคับประคองไม่ใช่มองด้วยสายตาที่ซ้ำเติม

– วิธีการแก้ปัญหานี้จะทำอย่างไร?

ยังนึกไม่ออก เพียงแต่ได้ยินว่าทีวีดิจิทัลบางประเทศ ยกเลิกไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาต เพราะเขาถือว่าไม่ยุติธรรมที่ต้องจ่ายใบอนุญาตในขณะที่ทีวีอีกประเภทไม่ต้องจ่ายแต่ออนแอร์ได้เหมือนกัน แต่ในประเทศไทยยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร เพราะนี่เป็นเรื่องใหญ่มากที่ใครก็มองเห็น กสทช. หรือทีดีอาร์ไอ ที่ร่วมกันออกแบบแลเขียนกติกามาตั้งแต่ต้นก็มองเห็นปัญหานี้

ย้อนไปเมื่อ 5-6 ปีก่อน ถ้ารู้ว่าวันหนึ่งจะมีเทคโนโลยีแบบนี้ คงไม่มีใครประมูลทีวีดิจิทัลในราคานี้ หรือถ้า กสทช.รู้ก็คงไม่ทำแผนแม่บททีวีดิจิทัลเป็นแบบนี้ แต่ตอนนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าเทคโนโลยีใหม่มันจะนำอะไรมาบ้าง

– ถ้ายังไม่มีการจัดการปัญหาต่อไปจะเป็นอย่างไร?

ผมว่าช่องที่รอดจะเหลือน้อย ซึ่งไม่แฟร์กับช่องที่สายป่านสั้น

– มองว่ารัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยยังไง

ผมอยากให้เป็นแผนที่มีความชัดเจนตั้งแต่ กสทช. ทีดีอาร์ไอ ร่วมกันคิดว่ากฎระเบียบที่มีมาถึงวันหนึ่งมีเรื่องใหม่เข้ามา ของเดิมมันก็ล้าสมัยแล้วจะทำอย่างไร

อยากให้การเสนอทางออกไม่ใช่เริ่มต้นเรียกร้องโดยผู้ประกอบการ แต่เริ่มต้นโดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองเห็นปัญหาแล้วก็ช่วยกัน

เพราะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมันมาเร็ว แต่สิ่งที่มันมาเร็วมันกระทบต่อเงื่อนไขพันธสัญญาเดิมที่ทำกันไว้จะทำอย่างไร แล้วในพันธสัญญาที่ทำกันไว้มีผู้เสียประโยชน์ คือผู้ประกอบการดิจิทัล ตรงนี้จะทำอย่างไร


‘เรตติ้ง’ ปมสำคัญ ‘ทีวีไทย’ ไม่พัฒนา

ก่อนหน้าจะมีช่องดิจิทัลทั้ง 24 ช่อง หลายคนคาดหวังว่าการมีช่องทีวีมากขึ้นสิ่งที่ซ้ำซากจะลดลงแล้วมีของใหม่เข้ามา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือแทบทุกช่องมีรายการที่มีเนื้อหาแทบไม่ต่างกัน

สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) มองว่า สาเหตุสำคัญของการพัฒนาเนื้อหาของแต่ละช่องอยู่ที่ระบบการวัด “เรตติ้ง”

“ในอดีตเขาติดกล่องสำรวจเพื่อประเมินว่าช่วงเวลานี้ใครดูช่องไหนอย่างไร ผมมองว่าระบบนี้มันบูดเบี้ยว เพราะกล่องที่เขาวัดผลส่วนใหญ่ กลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มคนในหมู่บ้าน เป็นชุมชน ผลวัดออกมาทีไรรายการที่เรตติ้งดีจะเป็นละคร มวย รายการตลก เป็นส่วนใหญ่ ส่วนรายการที่ผลิตออกมาโดยเทคโนโลยีดี เนื้อหาดีกลับไม่มีเรตติ้ง”

“พอไม่มีเรตติ้งก็ไม่มีโฆษณาเพราะโฆษณาจ่ายเงินตามพื้นฐานของเรตติ้ง ดังนั้นเขาเลยต้องประคองสถานการณ์คือ ผลิตรายการให้พอใช้ได้ ไม่ทุ่มเต็มร้อยเพราะถ้าโฆษณาไม่เข้าก็เหมือนศูนย์เปล่า ดังนั้นระบบวัดผลจึงมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาในวงการโทรทัศน์มาก”

สุภาพบอกอีกว่า อยากให้ระบบวัดผลมีความเที่ยงแท้มีการวัดตัวอย่างจากกลุ่มคนที่หลากหลาย ครอบคลุมมากกว่านี้ และควรจำแนกบุคคลชัดเจน เช่นกลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้ชาย กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน หรือกลุ่มเด็ก ดูรายการอะไร รวมถึงการดูผ่านมือถือ จะต้องวัดผลออกมาให้ได้

“ถ้าระบบมีประสิทธิภาพจะทำให้รายการดีที่เขาลงทุนทำมีกลุ่มคนส่วนหนึ่งดู แล้วโฆษณาเขาจะได้ประเมินว่าหากกลุ่มคนที่ดูรายการนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้า หรือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ถึงเรตติ้งจะไม่สูงมากแต่เขาก็ยินดีซื้อโฆษณา”

นอกจากเรื่องเรตติ้งอย่างมีอีกประเด็นหนึ่ง ที่สุภาพให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ คือ ตัว “บุคลากร”

“บุคลากรทางโทรทัศน์ดูเหมือนเยอะ แต่การพัฒนาบุคลากรให้มีความเป็นสากล ตรงนี้เรายังสู้ไม่ค่อยได้ ถ้าสังเกตจะเห็นว่ารายการดังๆ ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ เราไปซื้อลิขสิทธิ์เขามาทั้งนั้น แล้วมาปรับปรุงดัดแปลงให้เข้ากับสังคมไทย”

เป็นมุมของนายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ที่ตอบข้อสงสัยทำไมเนื้อหารายการไทยจึงไม่ค่อยพัฒนา


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image