อย่าหลงระเริงว่าเศรษฐกิจไทยมั่นคง : โดย สมหมาย ภาษี

คนไทยทุกวันนี้พูดกันถึงเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น ระดับเศรษฐีและนักธุรกิจใหญ่ๆ รวมทั้งคนในรัฐบาล คสช.ก็จะพูดกันว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นแล้ว ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพราะตัวเลขผลิตภัณฑ์ประชาชาติ หรือ GDP ขยายตัวเป็นบวกเพิ่มขึ้น จากเพิ่มร้อยละ 2.9 ในปี 2558 เป็นเพิ่มร้อยละ 3.2 ในปี 2559 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.4-.36 ในปี 2560 นี้ ยิ่งกว่านั้น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า Reserves นั้น ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 นี้ ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ดูแล Reserves ได้รายงานว่า มีจำนวนถึง 185,555 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยก็เท่ากับประมาณ 6.15 ล้านล้านบาท หรือเทียบเท่าเป็นร้อยละ 42 ของ GDP ของประเทศ ซึ่งนับว่าไทยเราเป็นประเทศที่มีทุนสำรองในระดับที่สูงประเทศหนึ่ง

แต่สำหรับเกษตรกร คนหาเช้ากินค่ำ พวกมนุษย์เงินเดือน ตลอดทั้งบรรดาร้านค้ารายย่อยทุกประเภทและนักธุรกิจ SME ขนาดกลางและเล็ก ที่ยังบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ดีขึ้นจากปีสองปีที่แล้วเลย ดูซิวันๆ คนเข้าร้านค้าเขาเท่าไหร่ มีแต่ลดน้อยลง จนผู้ประกอบการต้องเลิกกิจการไปเรื่อยๆ เพราะทนรับภาระหนี้สินไม่ไหว มนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย โดยเฉพาะข้าราชการและพนักงานประเภทต่างๆ ของรัฐ ที่มีหนี้สินกันงอมแงมก็ไม่สามารถทำมาหากินให้มีเงินมาลดหนี้ได้ แถมต้องหาที่กู้เงินเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้แม้ไม่ได้ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่ก็สามารถเห็นและสัมผัสได้ชัดเจน มีตัวเลขที่บอกได้ชัดก็คือ หนี้ครัวเรือน ยิ่ง GDP ขยายตัวสูงขึ้นหนี้ครัวเรือนก็ขยายตัวตาม หนี้ผ่อนบ้านผ่อนรถจะลดลงบ้าง เพราะกำลังซื้อของประชาชนลดน้อยลง แต่หนี้ครัวเรือนตัวอื่นยังคงเพิ่มขึ้น และที่สำคัญเชื่อว่าหนี้นอกระบบกำลังเบ่งบานมากขึ้น

ความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างคนมีอันจะกินและคนรวยทั้งหลาย กับคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เรียกว่าระดับรากหญ้า และคนหาเช้ากินค่ำเช่นนี้ เป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะเรื่องนี้ได้ฟ้องให้เห็นว่าความแตกต่างของรายได้ของคนไทยระหว่างคนรวยกับคนจน ยิ่งห่างกันออกไปอีก เรื่องที่สำคัญมากต่ออนาคตของประเทศชาตินี้ได้ถูกละเลยไม่ได้รับการใส่ใจ ทั้งๆ ที่รู้โดยรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 เป็นต้นมาร่วมยี่สิบปีแล้ว

รัฐบาลเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ทำข่าวและมีการออกนโยบายต่างๆ เสมือนเป็นความพยายามที่จะสู้กับปัญหาความแตกต่างในรายได้ของประชาชนไทย ยกตัวอย่างเช่น โครงการรับจำนำข้าว โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการกองทุนหมู่บ้าน กองทุนเกษตรกร เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ผลปรากฏออกมาให้เห็นชัดแล้วใช่ไหมว่า แท้ที่จริงไม่ได้ทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ แต่ทำเพื่อหาเสียงสร้างความนิยมในทางการเมือง

Advertisement

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แม้จะพ้นภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ กลับปรากฏว่าประชาชนระดับรากหญ้ายังอยู่ในอาการพะงาบๆ ลืมตาอ้าปากยังแทบไม่ได้อยู่ เพราะนโยบายที่ดูคล้ายออกมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้เหล่านั้น กลับสร้างแต่ปัญหาชั่วร้ายตามมาอีกมาก กลับสร้างภาระหนี้สินให้ภาครัฐมหาศาลจนแทบจะรับไม่ไหว รายได้จากภาษีอากรที่เก็บได้เพิ่มขึ้นบ้าง แทนที่จะได้นำไปใช้ในการเพิ่มมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้สูงขึ้นเหมือนประเทศอื่นเขา กลับต้องนำมาใช้ในการชำระหนี้ นำมาใช้ในการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจและกิจการของรัฐที่มีแต่ปลวกและมอดหลายแห่งที่รู้ๆ กันดี ให้คงสถานะอยู่ได้จนถึงวันนี้ นี่หรือเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของประเทศไทย ผู้บริหารประเทศที่พูดปาวๆ ว่าดีขึ้นแล้วในทุกวันนี้ ถ้าไม่ได้กินยาบ้าก็ต้องไปกินยาโด๊ปอะไรมาสักอย่าง

ภาพที่ฉายความอ่อนล้าของเศรษฐกิจไทยตอนนี้ ทำให้รัฐบาล คสช.ยิ่งใช้ความพยายามอย่างสุดฤทธิ์ในการเยียวยา ต้องชมเชยว่าคนในรัฐบาลนี้โหมงานหนักมาก สมาชิกในคณะรัฐบาลทุกท่านนับตั้งแต่ท่านนายกรัฐมนตรีลงมา ดูหน้าตาเคร่งเครียดและโทรมลงจนดูไม่มีสง่าราศีเหลืออยู่ เรื่องนี้ท่านทั้งหลายที่คิดว่าได้นั่งราชรถ แต่กลับเป็นมาขี่หลังเสือที่หิวโซและดุดันแทน ก็ต้องดูแลรักษาตัวเองให้ดีนะครับ

อย่างไรก็ตาม หากติดตามผลงานของรัฐบาลแต่ละเรื่องที่มุ่งมั่นทำกันในตอนนี้ก็ทำให้น่าเป็นห่วงในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งในเรื่องระยะยาวนี้ ฟังดูไม่ใช่ท่านไม่รู้จักเพราะวันๆ ได้ยินแต่คำว่าบูรณาการ คำว่ายั่งยืน คำว่าเศรษฐกิจดีขึ้น เป็นต้น แล้วมีอะไรที่ต้องเป็นห่วงเป็นใยกันนักหนา

Advertisement

ที่เป็นห่วงมากและต้องขอกล่าวถึง ก็เพราะผู้เขียนได้เห็นเศรษฐกิจไทยแทบล่มสลายมาอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ได้ปะทุให้ชาวโลกได้ประจักษ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้น ไม่ใช่ภาครัฐเท่านั้นที่เดือดร้อน ด้านการคลังรายได้จากภาษีอากรติดลบ งบประมาณรายจ่ายต้องถูกตัดทอน การใช้เงินงบประมาณถูก IMF กำกับการเบิกจ่ายอย่างกระชั้นชิด ที่สำคัญด้านการเงินระหว่างประเทศ เงินทุนสำรองลดลงฮวบฮาบจนติดก้นตุ่ม จำได้ว่าเมื่อหักหนี้ต่างประเทศระยะสั้นและหนี้ระยะยาวที่ถูกถือว่าเป็นหนี้ที่ต้องถูกเรียกคืนเมื่อไหร่ก็ได้ตามสัญญา หากอันดับเครดิตต่ำกว่าระดับที่จะลงทุนได้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศหรือ Reserves จะอยู่ในระดับที่ไม่ถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในช่วงพฤศจิกายน 2539 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศไทยมี Reserves อยู่ถึง 39,000 ล้านเหรียญ แต่ผ่านมา 5 เดือน ปลายเมษายน 2540 ตัว Reserves ลดลงเหลือ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

และทราบว่าไม่ถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนพฤษภาคม 2540 ตอนที่มีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

ในภาคเอกชนเบื้องต้น คนไทยทุกคนได้รับผลกระทบเฉลี่ยเท่าเทียมกันหมด จากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นมาก และสินค้านำเข้าต่างๆ ก็มีราคาแพงขึ้น เพราะค่าเงินบาทตกต่ำลงทันที โดยช่วงแรกลดลงไป 30-40% และภายใน 6 เดือนแรกก็ทรุดต่ำไปจากก่อนวิกฤตถึง 70% เป็นประมาณ 45-50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อค่าเงินตกต่ำหนัก อัตราดอกเบี้ยก็ทะยานสูงขึ้นเป็นธรรมดา นักธุรกิจใหญ่น้อยที่กู้เงินในประเทศ ต้องแบกภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 18-20% ส่วนพวกที่กู้เงินจากต่างประเทศ ซึ่งช่วงนั้นเงินกู้ส่วนใหญ่เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่เฉยๆ ก็ต้องรับภาระหนี้เงินต้นที่สูงขึ้นทันที 45-50% เพิ่มเติมพิเศษเข้ามา

ผลกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างหนักในปี 2540 ก็คือ ยังไม่ทันที่ธุรกิจจะล้มระเนระนาด ในช่วงต้นต่างก็ยังตกอยู่ในอาการช็อก แต่พอเวลาผ่านไป 5-6 เดือน สถาบันการเงินประเภทบริษัทการเงินหรือบริษัทไฟแนนซ์ก็มีอาการเซแบบเข่าทรุดหมดแรงให้เห็น จนกระทรวงการคลังต้องสั่งปิดกิจการเป็นชุด ชุดแรกส่วนใหญ่คงจำได้คือการปิดบริษัทไฟแนนซ์ 56 แห่ง และไม่นานนักก็มีการทยอยปิดครั้งละ 2-3 แห่ง

ในช่วงที่มีการปิดบริษัทไฟแนนซ์นั้น ธนาคารต่างๆ ก็ออกอาการโซซัดโซเซให้เห็นมากขึ้น ในช่วงปลายปี 2540-2541 ทางการจึงเริ่มทยอยปิดกิจการของธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางหลายแห่ง สำหรับธนาคารขนาดใหญ่ของไทย แม้ไม่ถูกปิด แต่ก็ต้องประสบปัญหาทุกแห่งไม่มียกเว้น ต่างก็ต้องหาทุนมาเพิ่ม แต่ทุนในประเทศไม่มีแล้ว แม้ธนาคารอันดับ 1-4 ก็ไม่วายเอาตัวแทบไม่รอด ต้องหาผู้ถือหุ้นจากต่างประเทศมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาหุ้นที่ถูกด้วยวิธีการต่างๆ จนกระทั่งตระกูลเจ้าของเดิมผู้ก่อตั้งธนาคารมาต้องกลายเป็นผู้ถือหุ้นเล็กไปเลย

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นไม่อยากพูดถึง เพราะเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ความจริงก่อนวิกฤต ก็ได้มีการสื่อในทางที่ไม่เปิดเผยกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF แล้ว ว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น ขอให้เราลดค่าเงินบาทให้มาก หรือปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว แต่จากข่าวที่พอทราบกันอยู่ว่า ทางผู้ใหญ่ในธนาคารแห่งประเทศไทยขาดประสบการณ์และวิสัยทัศน์ไม่ยอมทำ โดยเลือกแบบซามูไร คือ ยืนสู้ค่าเงินจนตัวตายแล้วประเทศชาติแทบล้มละลาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศเราต้องล้มลงในเดือนพฤษภาคม 2540 IMF ก็ได้ยื่นมือมาช่วยเหลือในฐานะที่เราเป็นประเทศสมาชิก นอกจากเขาแล้ว IMF ก็ได้ขอให้ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และมิตรประเทศที่ร่ำรวยของเอเชีย คือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ให้เงินกู้ไทยมาทำโครงการมากอยู่แล้ว เข้ามาช่วยไทยด้วย แต่มีเงื่อนไขไทยต้องลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งก็คือ ยอมให้เงินบาทลดค่าตามสภาพที่แท้จริงนั่นเอง

ที่สำคัญในทางปฏิบัติเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเรายินดีให้เขาเข้ามาช่วย IMF จะส่งคณะผู้แทนของเขามากำกับดูแลเศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศไทย จำได้ว่าหัวหน้าคณะผู้แทนระดับสูงของ IMF ที่เข้ามากำกับดูแลไทย คนแรก คือ Mr.Stanley Fischer เป็นคนเชื้อสายยิว ซึ่งต่อมาได้เป็นถึงรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ IMF และทราบว่าขณะนี้ได้เป็นรองประธานของ Federal Reserve Bank ของประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านเป็นคนที่ใจดีแต่เคร่งครัดกับกฎเกณฑ์มากๆ ช่วงสิ้นปีงบประมาณปี 2540 กรมบัญชีกลางเกิดเผลอ ปล่อยให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลไปเกินจำนวนที่ IMF กำหนดไว้ เขาได้สั่งระงับเช็คที่ราชการสั่งจ่ายทันที โดยไม่มีข้อยกเว้น ผู้เขียนเองได้มีโอกาสทราบจากคลังจังหวัดในเช้าวันหนึ่งว่า เช็คของราชการที่สั่งจ่ายแล้ว ธนาคารไม่ผ่านให้เบิกจ่ายได้ คือเช็คราชการเด้งนั่นเอง ซึ่งเป็นครั้งแรกและไม่ควรจะมีครั้งที่สองให้เห็นอีกในอนาคต

ที่กล่าวมาค่อนข้างยืดยาวให้เห็นถึงความลำบากยากเย็นแสนเข็ญ ที่คนไทยทั้งประเทศต้องรับกรรมจากการบริหารบ้านเมืองที่เหลวแหลกของนักการเมืองเมื่อ 20 ปีที่แล้วนั้น มันเป็นความเจ็บปวดของทั้งประเทศที่ไม่ควรลืม คนไทยเราต้องจำไว้เสมอว่า ความหายนะทั้งประเทศนั้น ไม่มีทางจะเกิดขึ้นจากใครอื่นได้ นอกจากนักการเมืองเท่านั้น เศรษฐกิจล้มในปี 2540 ตามข้อเท็จจริงไม่ได้เกิดจากการกระทำของรัฐบาลที่บริหารประเทศในปีนั้นแต่ผู้เดียว แต่เป็นผลพวงของการบริหารประเทศที่หลงระเริงแต่เหลวแหลกมาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3 ปีก่อนหน้านั้น

ในช่วงปี 2537-2539 มีการปล่อยให้มีการขยายตัวของบริการทางการเงินในการกู้เงินตราต่างประเทศอย่างเสรี ที่เรียกว่า BIBF (Bangkok International Banking Facilities) และทางการได้ยอมให้ขยายออกไปถึงภูมิภาคที่เรียกว่า PIBF ด้วย ปล่อยให้สถาบันการเงินนำเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามาในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ มาปล่อยเอากำไรจากธุรกิจไทยอย่างซื่อๆ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ามาก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะพูดว่า เป็นความผิดของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของไทยอยู่ในระดับที่สูงเกินไปด้วย แต่ที่จริงมันเกิดจากความโลภและความหลง ที่ขาดทั้งสติและปัญญาเรื่องความเสี่ยงของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างหาก มีการพูดกันในระดับผู้ใหญ่ที่บริหารเศรษฐกิจ รวมทั้งนักธุรกิจและนักการเงินใหญ่ๆ ในช่วงนั้นว่า ประเทศไทยกำลังจะเป็นเสือตัวที่ห้าในเอเชีย รองจากญี่ปุ่น จีน เกาหลี และสิงคโปร์ ช่างหลงระเริงกันดีแท้

อยากจะชี้ให้เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจทุกๆ ด้าน และเครดิตของประเทศเรานั้น จะถูกองค์กรและสถาบันต่างๆ ในต่างประเทศนับไม่ถ้วน คอยติดตามอยู่อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เป็นธรรมดาที่ประเทศเจ้าหนี้ต้องสนับสนุนองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำงานด้านติดตามวัดผลผู้เป็นลูกหนี้ เมื่อแตะระดับไฟเหลืองเมื่อใด ไม่ต้องรอให้เห็นไฟแดง เขาก็จะพากันขายหุ้นทิ้ง ถอนการลงทุนเอาเงินออก งดให้กู้แล้วเรียกหนี้คืน

สัญญาเงินกู้ระยะยาวก็ไม่เว้นเพราะมีข้อสัญญาข้อหนึ่งกำหนดไว้ว่า เมื่ออันดับเครดิตของประเทศเราตกลงมาต่ำกว่าระดับหนึ่งที่เรียกว่า Investment grade หนี้ระยะยาวนั้นก็จะต้องถูกเปลี่ยนเป็นหนี้ระยะสั้นโดยอัตโนมัติ

การจะถือนโยบายว่า เราก็เป็นประเทศเอกราช จะทำอะไรเป็นเรื่องของฉัน ฉันจะกู้เงินบาทจากในประเทศเราเองมากๆ มาใส่ในโครงการของรัฐวิสาหกิจที่แทบจะไม่มีผลตอบแทนทางการเงินในตอนนี้ เป็นเรื่องสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเรา ใครจะทำไม ประเทศเอ็งทำได้ตอนนี้ประเทศข้าก็ทำได้ ความคิดเช่นนี้ควรจะหยุดได้แล้ว เพราะเป็นอันตรายทั้งต่อการคลังและการเงินของประเทศในอนาคต

ปกติวิกฤตจะเกิดจากการกระทำก่อนหน้าเป็นสำคัญ ถ้าในช่วง 3 ปีทำกรรมไว้มากก็เกิดขึ้นได้ หากเร็วไปยังไม่มีอะไรเกิด ยิ่งก่อกรรมต่อไปอีกสักปีสองปี เค้าลางของวิกฤตก็จะออกอาการมาให้เห็น ซึ่งเป็นไปได้มาก ทั้งนี้เพราะประเทศไทยเรานั้น ความเป็นประเทศยังขาดรุ่งริ่งอยู่มาก ลองทบทวนดูให้ดี การคอร์รัปชั่นยังอยู่ในอันดับที่สูงมาก ความง่ายในการทำธุรกิจยังตามหลังประเทศระดับเดียวกัน ความสามารถในการแข่งขันยังต่ำ ธรรมาภิบาลในภาคเอกชนก็ไม่ได้สูง การหลบเลี่ยงภาษีในทุกระดับสูงเกินกว่าที่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ธรรมาภิบาลในภาครัฐยังไม่มีสถาบันไหนให้การยอมรับว่าพอจะเข้ามาตรฐานสากล และสุดท้าย การปกครองโดย คสช.ที่ใครๆ ที่เจริญแล้วทั่วโลกเขาไม่อยากเห็นยังมีอยู่

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้แหละที่ส่งผลโดยตรงให้เศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบางอยู่

สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image