แก้ปัญหาความเชื่องช้าของรัฐด้วยแอพพ์ กรณีศึกษาจากบราซิล : โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ในแต่ละปีชาวไทยใช้เวลาเตรียมเอกสารเพื่อจ่ายภาษีมากถึง 266 ชั่วโมง หรือประมาณสิบวันเต็ม (โดยไม่ได้หลับได้นอน) เมื่อเทียบกับประเทศเรา คิดว่า “น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า” แล้ว ก็จะพบว่าจริงๆ เวลาส่วนใหญ่อาจไม่ได้ห่างกันนัก เช่น สหรัฐอเมริกา ต้องใช้เวลา 175 ชั่วโมง แคนาดา 131 ชั่วโมง เยอรมนี 218 ชั่วโมง ฝรั่งเศส 139 ชั่วโมง ญี่ปุ่น 175 ชั่วโมง หรือหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม 540 ชั่วโมง เมียนมา 282 ชั่วโมง มาเลเซีย 164 ชั่วโมง แล้วก็อาจพบว่าประเทศไทยไม่ได้เลวร้ายนัก แต่หากเทียบกับประเทศที่ใช้เวลาน้อยจริงๆ เช่น สิงคโปร์ 66.5 ชั่วโมง เราก็อาจพบว่าเรายังมีหนทางให้พัฒนาได้อีก

แต่คุณรู้ไหมครับว่าประเทศที่ประชาชนใช้เวลาเสียภาษีเป็นอันดับต้นๆ คือประเทศอะไร มันคือประเทศเช่นโบลิเวีย เอกวาดอร์ ลิเบีย ไนจีเรีย ซึ่งก็ต่างใช้เวลามากกว่า 630 ชั่วโมงขึ้นไปด้วยกันทั้งสิ้น แต่ในประเทศที่หนักหนาสาหัสที่สุดนั้น ประชาชนต้องใช้เวลาในการเตรียมเอกสารเสียภาษีมากถึง 2,038 ชั่วโมง (หรือ 85 วันเต็มโดยไม่ได้หลับได้นอน! แทบจะหนึ่งในสี่ของปีแล้ว) ก็คือ ประเทศบราซิล (ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจาก World Bank ปี 2016)

ทำไมประชาชนบราซิลถึงใช้เวลามากมายอย่างนั้น เป็นที่รู้กันว่าประเทศบราซิลนั้นมีระบบรัฐที่ค่อนข้างวุ่นวายสับสน และเต็มไปด้วยสิ่งที่เราเรียกว่า “เทปแดง” (Bureaucratic Red Tape) นั่นคือ กว่าที่จะยื่นเรื่องติดต่อรัฐอะไรได้สักอย่าง เช่น จะเช่าอพาร์ตเมนต์ก็ต้องใช้หลักฐาน (ซึ่งส่วนมากเป็นกระดาษ) เป็นตั้งๆ ต้องไปพบเจ้าหน้าที่หลายครั้ง และจะต้องใช้ผู้ค้ำประกันก่อนทำธุรกิจหรือก่อนที่จะขอรับบริการด้วย ด้วยเหตุนี้ ทำให้บราซิลเป็นประเทศที่นอกจากจะต้องใช้เวลาสองพันชั่วโมงในการทำภาษีแล้ว มันยังเป็นประเทศที่จัดว่า “ทำธุรกิจยาก” ด้วย (นั่นคือ ในการจัดอันดับ Ease of Doing Business ของ World Bank มันอยู่ที่ 123 จาก 190 ประเทศ, ไทยอยู่ที่ 46)

ความไม่มีประสิทธิภาพนี้ทำให้ประชาชนบราซิลสูญเสียโอกาสพัฒนาไปอย่างมาก ลองคิดว่าถ้าพวกเขาสามารถเอาแค่เวลาเสียภาษีไปทำอย่างอื่นได้ ก็จะได้ผลผลิตเพิ่มไม่รู้เท่าไหร่ นี่ยังไม่นับการติดต่อกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ อีกนะครับ

Advertisement

ปัจจุบัน มีสตาร์ตอัพหลายแห่งที่ต้องการแก้ปัญหาเหล่านี้ และไม่ใช่แค่กับประเทศบราซิลเท่านั้น แต่กับปัญหาเรื่องขั้นตอนจุกจิกเมื่อติดต่อกับหน่วยงานรัฐในประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลกด้วย พวกเขาเป็นสตาร์ตอัพที่ตรงกับนิยามของคำว่า “สตาร์ตอัพ” อย่างแท้จริง (นั่นคือ ต้องเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาจุกจิกกวนใจอะไรบางอย่างด้วยเทคโนโลยี)

หนึ่งในสตาร์ตอัพนั้นเกิดขึ้นในปี 2013 เป็นแอพพ์ ชื่อว่า Quainto Andar (แปลว่า “ชั้นที่ห้า” – Fifth Floor) มันเป็นแอพพ์ที่ช่วยให้การเช่าห้องพักในบราซิลสะดวกง่ายดายขึ้น ในแบบที่เราอาจเรียกว่าเป็น “single window” หรือหน้าต่างเดียว มันทำให้ทุกขั้นตอนตั้งแต่การนัดวันไปดูห้อง ไปจนถึงการเสนอราคาจบได้ภายในแอพพ์ แถม “ราคาเช่า” ที่แสดงในแอพพ์ก็ยังเป็นราคาที่รวมค่าประกันและค่าธรรมเนียมทุกอย่างแล้วอีกต่างหาก (เดิมผู้ให้เช่าจะเขียนราคาต่ำไว้ แต่พอเช่าจริงก็จะมีค่าอะไรเพิ่มมาไม่รู้เต็มไปหมด) มีการประเมินว่า แอพพ์นี้ช่วยให้กระบวนการเช่าห้องนั้นสั้นลงถึงสิบเท่า นั่นคือ จากเดิมที่ต้องใช้เวลาหนึ่งเดือน เมื่อใช้แอพพ์นี้ก็สามารถจบได้ในสามวัน

อีกแอพพ์หนึ่งมีลักษณะคล้ายกับ TaskRabbit หรือแอพพ์อื่นๆ ที่อยู่ใน “เศรษฐกิจการจ้างชั่วคราว” (Gig Economy) มันชื่อว่าแอพพ์ GetNinjas ทำงานโดยเชื่อมโยง “ผู้หางาน” เข้ากับ “ผู้จ้างงาน” เข้าด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้ทำเพียงเท่านั้น มันยังช่วยสอนแรงงานให้รู้จักการร่างสัญญา ออกใบเสร็จ เสียภาษี และแข่งขันในตลาดแรงงานออนไลน์ได้ด้วย (โดยที่ไม่ต้องตั้งบริษัทจริงๆ เพราะการตั้งบริษัทในบราซิลนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงและต้องเสียเวลามาก) งานในแอพพ์นี้มีตั้งแต่งานนั่งโต๊ะ ไปจนถึงงานช่างไฟ หรือเลี้ยงเด็ก

Advertisement

ในปัจจุบัน แอพพ์เหล่านี้ได้รับความนิยมจากชาวบราซิลมาก เพราะพวกเขารู้สึกว่ายิ่งยุ่งเกี่ยวกับ
หน่วยงานรัฐให้น้อยเท่าไหร่ได้ ยิ่งปวดหัวน้อยลงเท่านั้น ราฟาเอล รีเบรโร ผู้อำนวยการสมาคมสตาร์ตอัพของบราซิลบอกว่า “ถ้าคุณสร้างอะไรที่แก้ปัญหา ซึ่งที่นี่ก็มีปัญหาให้แก้อยู่มากมาย คุณก็จะได้ลูกค้าที่จงรักภักดี”

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เรารู้ว่าถึงแม้เราจะไม่ได้เป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องความยุ่งยากกับหน่วยงานรัฐอันดับต้นๆ ในโลก แต่เราก็รู้อยู่ในอกลึกๆ ว่า ทุกครั้งที่เราต้องติดต่อกับหน่วยงานรัฐ เราก็มักจะรู้สึกปวดหัวในการเตรียมเอกสารหรือการไปพบหลายต่อหลายครั้งอยู่เรื่อยไป (อย่างที่เห็นว่ามีคนมาบ่นบ่อยๆ ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือกระทั่งบ่นในวงเพื่อนกันเองก็ตาม) ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีความพยายามแก้ไขในหลายหน่วยงานให้ประชาชนสามารถติดต่อหรือทำธุระได้อย่าง
สะดวกง่ายดายขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีช่องทางให้ปรับปรุงอีกมาก และหลายครั้ง วิธีการที่หน่วยงานรัฐพยายามปรับปรุงตนเอง ก็ยังยึดอยู่กับแนวทางเดิมๆ อยู่ หรืออาจออกแนว “ยิ่งมากยิ่งดี” ทำให้ผลลัพธ์ออกมานั้นเละเทะมากกว่าจะสะอาดและดูง่าย (ยกตัวอย่างเช่น แอพพ์ของหลายๆ หน่วยงานที่ดูยากจนไม่รู้ว่าจะมีทำไม)

การเปิดให้เอกชนรวมถึงสตาร์ตอัพหน้าใหม่ต่างๆ เข้าถึงข้อมูลของรัฐ และเปิด API ให้พวกเขาสามารถเชื่อมต่อกับรัฐได้ (โดยมีการควบคุมอย่างเหมาะสม) อาจจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการที่หน่วยงานต่างๆ ต้องผลิตแอพพ์หรือเว็บออกมาเอง

ถ้าหน่วยงานรัฐลดความเป็น “เจ้าข้าวเจ้าของ” ข้อมูล (ที่จริงๆ เป็นสมบัติสาธารณะ) ลง เราก็จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลและการเชื่อมต่อได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น เพราะอำนาจและวิสัยทัศน์ไม่กองอยู่ที่คนกลุ่มเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image