แจง’คูปองครู’กมธ.ศึกษาฯสนช. ยันไม่เอื้อเอกชน-ส.คุรุพัฒนาต้องรับรอง ชี้’ตวง’ไม่ติดใจ’เงินทอน-ระบบจัดสรรงบ’

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เข้ารับคำแนะนำจากคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายตวง อันทะไชย เป็นประธาน ถึงการดำเนินโครงการการจัดทำระบบลงทะเบียนและติดตามประเมินผลครูผู้เข้ารับการพัฒนา หรือคูปองพัฒนาครู ภายหลังมีกระแสข่าวเกี่ยวกับความไม่เหมาะสม และไม่โปร่งใสในโครงการ โดยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ชี้แจงภาพรวมของโครงการตามนโยบาย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องการให้เกณฑ์วิทยฐานะใหม่เชื่อมโยงกับครูในการสอนให้มีทั้งคุณภาพ และปริมาณ ส่งผลถึงผู้เรียน และงบประมาณโครงการ ส่วนตนได้ชี้แจงรายละเอียดของการดำเนินโครงการ รวมทั้ง ขั้นตอนการทำโครงการ เริ่มตั้งแต่สาเหตุของการศึกษาในปัจจุบัน จากผลในด้านพฤติกรรมของผู้เรียน และผลเชิงประจักษ์ในการทดสอบของสำนักประเมินผล ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ พบว่า วิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทักษะการคิดที่ผ่านมา ยังไม่เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะลดลงด้วย เมื่อพิจารณาจากข้อมูลย้อนหลัง โจทย์ที่ต้องตอบยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้เด็กคิดเป็น วิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาได้ จึงต้องหาแนวทางโดยการพัฒนาครูเพื่อนักเรียน

นางเกศทิพย์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจงผลการดำเนินการก่อนที่หลักสูตร 1,460 หลักสูตร จะได้รับการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนา ซึ่งเกิดจากการเวิร์กช็อปรับฟังความคิดเห็นสภาพปัญหา และความต้องการของครู จากตัวแทนครูที่มาจากโรงเรียนที่ต่างวัตถุประสงค์ ขนาด และสถานที่ตั้ง ซึ่งอดีตการจัดอบรมโดยส่วนกลาง ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงในทุกพื้นที่ ไม่ได้มาจากความสมัครใจของครู และการอบรมไม่ทั่วถึงครูทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการชี้แจงจากนายมนตรี แย้มกสิกร ตัวแทนสถาบันคุรุพัฒนา ในเรื่องการประเมินหลักสูตรที่ผ่านมา หลังการชี้แจง กมธ.การศึกษาฯ ได้สอบถามกรณีที่มีข่าวว่าโครงการนี้เอื้อต่อบริษัทเอกชน ซึ่งตนชี้แจงว่าไม่ได้เอื้อใคร เพราะถือหลักว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องเป็นเจ้าของการศึกษาของประเทศ จึงมีสิทธิที่จะเข้ามาพัฒนาครู เพียงแต่หลักสูตร/ หน่วยจัดอบรมที่จะได้รับการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนาได้นั้น จะต้องตอบโจทย์ สพฐ.ในเรื่องเป็นเพื่อนครูถึงห้องเรียนเพื่อพัฒนาผู้เรียน โจทย์นี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ในเวลานี้เราต้องการให้ตอบโจทย์เรื่องนี้ ซึ่งหากหน่วยจัดอบรมใดตอบโจทย์นี้ของ สพฐ.ได้ ก็สนอหลักสูตรอบรมไปยังสถาบันคุรุพัฒนาได้ รวมทั้ง ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของสถาบันคุรุพัฒนาด้วย

“ได้ย้ำกับ กมธ.การศึกษาฯ ด้วยว่าการรับรองหลักสูตรครั้งนี้ หลักสูตรของมหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ได้รับการรับรองมากที่สุดถึง 2,212 หลักสูตรต่อรุ่น ซึ่ง กมธ.การศึกษาฯ แนะนำว่าน่าจะให้โรงเรียนร่วมจัดอบรมด้วย ซึ่งตนได้แจ้งว่าโครงการคูปองพัฒนาครูในครั้งนี้ มีเขตพื้นที่/ หน่วยงานในสังกัด ศธ.มาร่วมจัดอบรมด้วย 348 หลักสูตรต่อรุ่น และโรงเรียนสังกัด สพฐ.ร่วมจัดด้วย 85 หลักสูตรต่อรุ่น ฉะนั้น ขอย้ำอีกครั้งว่าหน่วยงานใดก็แล้วแต่ที่คิดว่ามีความพร้อม และสามารถจัดอบรมในส่วนของ สพฐ.โดยตอบโจทย์ในเรื่องเป็นเพื่อนครูไปถึงห้องเรียนได้ ก็สามารถยื่นเสนอหลักสูตรเพื่อรับการพิจารณาจากสถาบันคุรุพัฒนาได้ โดยจะต้องติดตามเกณฑ์จากสถาบันคุรุพัฒนาต่อไป” นางเกศทิพย์ กล่าว

นางเกศทิพย์กล่าวต่อว่า กมธ.การศึกษาฯ ได้พูดถึงประเด็นใช้งบฯ มหาศาล ซึ่งนายการุณได้ชี้แจงว่าโครงการนี้ใช้งบฯ อย่างประหยัด โดยพิจารณาจากโครงการอบรมต่างๆ ในส่วนกลางที่ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน จากเดิมหน่วยงานต่างๆ ในส่วนกลางต่างคนต่างจัด จึงซ้ำซ้อน และใช้งบฯ หลายหมื่นล้านบาท แต่โครงการนี้ไม่ซ้ำซ้อน และใช้งบฯ แค่ปีละ 4 พันล้านบาท งบฯ ถึงครูอย่างทั่วถึง และผลน่าจะไปถึงผู้เรียนโดยตรง เนื่องจากมีหน่วยอบรม และผู้อำนวยการโรงเรียนติดตาม และกำกับโดย PLC นอกจากนี้ กมธ.การศึกษาฯ ได้เสนอแนะให้ข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์มาก ให้นึกถึงโรงเรียนห่างไกลที่ควรจัดอบรมให้ถึงที่ และสอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งตนมองว่าประเด็นนี้ไม่น่ากังวล สามารถดำเนินการได้ โดยประชาสัมพันธ์ให้มหาวิทยาลัยซึ่งจัดตั้งอยู่ทั่วประเทศ รวมถึง ในพื้นที่ห่างไกลด้วย เสนอหลักสูตรเพื่อพัฒนาครูโรงเรียนห่างไกลเหล่านั้น
“ส่วนประเด็นเงินทอน ทาง กมธ.การศึกษาฯ ไม่ถามถึงเลย อาจเพราะได้ชี้แจงแต่ต้นแล้วว่าการจัดสรรงบฯ โครงการนี้ไม่ได้จัดสรรเป็นก้อน มีการกระจายเงินถึงครูโดยตรง ครูนำใบเสร็จมาเบิกเงิน และแม้แต่ละคนจะได้คูปองเต็มคนละ 10,000 บาท แต่ค่าใช้จ่ายแต่ละหลักสูตรแค่ไม่กี่พันบาท เมื่อเงินน้อย จึงไม่จูงใจ และเชื่อว่าครูมีศักดิ์ศรี ฉะนั้น ระบบการจัดสรรเงินจากส่วนกลางไปถึงครู เชื่อว่าโกงยาก ยกเว้นจะมีการโกงระหว่างหน่วยจัดอบรม และครู แต่ครูที่เข้าอบรมแต่ละหลักสูตรมีเป็นร้อยคน จึงเชื่อว่าไม่สามารถซื้อใจครูได้ทุกคน ย่อมต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วย และแจ้งข้อมูลเข้ามา” นางเกศทิพย์ กล่าว

Advertisement

นางเกศทิพย์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กมธ.การศึกษาฯ พอใจ เพราะเดิมคิดว่าระบบแย่ ซึ่งได้ชี้แจงว่าระบบไม่ได้แย่ เพราะขนาดมีครูลงทะเบียนกว่า 3 แสนคน ระบบไม่เคยล่ม ส่วนที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จมีแค่ 6 หมื่นกว่าคน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนพาสเวิร์ด และส่งอีเมลผิด ทั้งนี้ กมธ.การศึกษาฯ ชื่นชมว่าสิ่งที่ สพฐ.ทำ จัดเป็นมหกรรม เพราะมีครูสนใจพัฒนาตัวเองเกือบทั้งระบบ ขณะที่บางกระทรวงพยายามจัดระบบให้ข้าราชการในสังกัดพัฒนาตัวเอง ใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จ และมีคนเข้ามาร่วมน้อยกว่านี้มาก นอกจากนี้ กมธ.การศึกษาฯ ยังระบุว่าหายห่วงเรื่องปัญหาทุจริตคอรัปชั่น แต่อยากให้ระบบการติดตามเข้มแข็ง และดูแลโรงเรียนห่างไกล โรงเรียนด้อยโอกาส ซึ่งโรงเรียนกลุ่มนี้ ศธ.มีโครงการต่างๆ ดูแลอยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image